ถามแพทย์

  • รู้สึกเศร้า หดหู่แบบไม่มีเหตุผล รู้สึกไม่อยากคุยกับใคร เป็นอาการอะไร

  •  Jiraporn Songmueng
    สมาชิก
    สวัสดีค่ะหนูมีอาการอยู่ดีๆก็อยากร้องไห้รู้สึกเศร้ารู้สึกหดหู่แต่ไม่รู้ว่าเรื่องอะไรทั้งๆที่ไม่มีเรื่องให้เครียด เรื่องครอบครัวก็ไม่ใช่ เรื่องงานก็ไม่ใช่ เรื่องความรักก็ไม่ใช่ รู้แค่ว่าเครียด เศร้า อยากร้องไห้ บางวันทำงานไปร้องไห้ไป เป็นแบบนี้บ่อยครั้งและหลายครั้งแล้ว แต่พอได้ร้องแล้วรู้สึกดีขึ้นค่ะ สักพักก็จะเป็นปกติก็ไม่เข้าใจว่าตัวเองเป็นอะไร ร้องมากร้องน้อยแล้วแต่ว่าวันนั้นจะเศร้ามากหรือเศร้าน้อยค่ะ ถ้าวันไหนรู้สึกเศร้าๆจะไม่อยากคุยกับใครค่ะแล้วก็ไม่อยากให้ใครมาคุยด้วยแม้แต่คนในบ้านบางทีก็คิดว่าไม่อยากอยู่แต่ก็รู้ตัวค่ะว่าตัวเองไม่ทำร้ายตัวเองไม่ฆ่าตัวตายแน่นอนค่ะ มีอยู่ครั้งนึงที่บ้านไปกินข้าวบ้านน้าที่อยู่บ้านติดกันแต่วันนั้นรู้สึกไม่อยากคุยกับใครไม่อยากเจอใครที่บ้านก็พูดปกติค่ะว่าไปกินข้าวเพราะทำกับข้าวเสร็จแล้ว หนูกลับร้องไห้ออกมาเพราะไม่อยากไปไม่อยากเจอใครไม่อยากคุยไม่อยากให้ใครมาถามอะไร แต่ปกติหนูก็ไปกินบ้านน้าตลอด เลยอยากรู้ว่าเป็นเพราะอะไรคะ หรือว่าหนูโรคส่วนตัวสูง
    Jiraporn Songmueng  พญ.นรมน
    แพทย์

     สวัสดีค่ะคุณ Jiraporn Songmueng

    อาการดังกล่าวมา อาจจะเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า โรคซึมเศร้า หรือความผิดปกติทางอารมณ์ หรือโรคซึมเศร้านั้นจะเกิดได้ค่อนข้างง่ายกับคนที่มีโลกส่วนตัวสูงอยู่เดิม

    ภาวะซึมเศร้าคือการที่มีความรู้สึกเศร้า เครียดจากเรื่องต่างๆในชีวิตไม่ว่าจะเป็นจากเรื่องส่วนตัว เรื่องในครอบครัว หรือการทำงาน ทำให้มีความรู้สึกไม่อยากจะทำอะไร ไม่อยากเข้าสังคม  คิดมาก ร้องไห้คนเดียว รู้สึกเบื่อต่อสภาพความเป็นอยู่ ซึ่งภาวะซึมเศร้าจริงๆแล้วเป็นภาวะที่เกิดได้กับคนทั่วไปในสภาวะที่ต้องเผชิญกับความเครียด ความกดดัน แต่ในคนทั่วไปจะค่อยๆดีขึ้นเองเมื่อเวลาผ่านไป จะไม่เป็นเรื้อรัง จนรบกวนชีวิตและการเรียน การทำงาน

    การวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้านั้น ก็คือมีภาวะซึมเศร้าติดต่อกันอย่างน้อย 2 อาทิตย์ขึ้นไป โดยไม่มีช่วงที่ดีขึ้นเลย มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย อาจมีอาการเบื่ออาหาร หรือในบางรายก็จะไปรับประทานทานอาหารมากขึ้น น้ำหนักเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอนน้อยหรือนอนมากกว่าปกติ และเก็บตัวมากจนไม่ออกไปทำงาน ไม่ออกไปเข้าสังคม อันนี้จึงจะจัดว่าเป็นโรคซึมเศร้า

    แนะนำพบจิตแพทย์เพื่อประเมินสภาพจิตและความรุนแรงเบื้องต้น หากพบว่าเป็นโรคจริง ควรทำการรักษาต่อเนื่องค่ะ

    การดูแลตัวเองเบื้องต้น พยายามหากิจกรรมที่ชอบทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากเรื่องเศร้า พูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวที่เราไว้ใจได้เพื่อระบายความทุกข์ ไม่เก็บตัวอยู่คนเดียวนานจนเกินไปเพราะจะทำให้ฟุ้งซ่านมากขึ้น