การถ่ายพยาธิเป็นวิธีกำจัดพยาธิที่อาศัยอยู่ภายในร่างกาย เพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อพยาธิเหล่านั้น แต่สำหรับคนที่มีสุขภาพดี การถ่ายพยาธิมีความจำเป็นหรือไม่ และควรถ่ายพยาธิอย่างไร มาร่วมหาคำตอบและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการถ่ายพยาธิเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ
พยาธิคืออะไร ?
พยาธิคือปรสิตชนิดหนึ่งที่สามารถอาศัยอยู่ภายในร่างกายของคนเรา โดยเข้าสู่ร่างกายได้ตั้งแต่ยังเป็นไข่พยาธิ ผ่านการปนเปื้อนในอาหาร น้ำ อากาศ สิ่งปฏิกูล สัตว์ รวมทั้งสิ่งของที่เสี่ยงมีไข่พยาธิติดอยู่ เช่น ที่รองนั่งชักโครก ลูกบิดประตู เป็นต้น เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ไข่พยาธิจะฟักตัวและเพิ่มจำนวนขึ้น พบได้มากในระบบทางเดินอาหาร พยาธิเหล่านี้จะแย่งสารอาหารที่รับประทานเข้าไป จนทำให้ผู้ติดเชื้อได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ บางชนิดอาจเข้าสู่อวัยวะอื่น ๆ และส่งผลเสียต่อร่างกายได้ พยาธิแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่
พยาธิตัวกลม พยาธิที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ พยาธิเข็มหมุด พยาธิทริคิเนลลา สไปราลิส พยาธิปากขอ และพยาธิสตรองจิลอยด์ พยาธิเหล่านี้อาศัยและวางไข่ในลำไส้ของคน เข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนไข่พยาธิ รวมถึงการสัมผัสกับไข่พยาธิและไม่ได้ล้างมือ แล้วใช้มือนั้นหยิบจับอาหาร พยาธิตัวกลมที่พบบ่อย ได้แก่
- พยาธิเข็มหมุด หรือที่รู้จักกันในชื่อพยาธิเส้นด้าย อาศัยอยู่ภายในลำไส้ของคนเป็นหลัก เข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ทั้งทางทวารหนัก จมูก และปาก เนื่องจากไข่ของพยาธิชนิดนี้อาศัยอยู่ในฝุ่นละอองได้ ผู้ที่ติดเชื้อพยาธิเข็มหมุดอาจมีอาการคันที่ทวารหนัก เพราะพยาธิจะออกมาวางไข่ที่บริเวณดังกล่าว และหากพยาธิชนิดนี้เข้าสู่บริเวณช่องคลอดอาจทำให้เกิดภาวะช่องคลอดอักเสบจนมีอาการคันหรือมีของเหลวไหลออกมาจากช่องคลอดผิดปกติ
- พยาธิทริคิเนลลา สไปราลิส (Trichinella Spiralis) อาศัยอยู่ในลำไส้ของคนและเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงอย่างโรคทริคิโนซิส (Trichinosis) พยาธิชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายผ่านการปนเปื้อนของไข่พยาธิในเนื้อสัตว์กึ่งดิบกึ่งสุก เมื่อเข้าสู่ลำไส้ของคน ไข่พยาธิจะฟักตัวและแพร่กระจายผ่านทางระบบไหลเวียนเลือดและระบบน้ำเหลืองไปสู่อวัยวะอื่น โดยเฉพาะกล้ามเนื้อ รวมถึงอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด สมอง เป็นต้น
พยาธิตัวแบน คือพยาธิที่มีลักษณะลำตัวแบน มักพบได้ในสัตว์และสามารถเข้าสู่ร่างกายของคนโดยการชอนไชผ่านผิวหนังหรือปนเปื้อนในอาหารที่รับประทาน พยาธิตัวแบนที่พบบ่อย ได้แก่
- พยาธิตัวตืด มักพบในเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก โดยเฉพาะเนื้อวัวและเนื้อหมู เข้าสู่ร่างกายทางปากและอาศัยอยู่ในลำไส้ของมนุษย์
- พยาธิใบไม้ อาศัยอยู่ได้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายคน เช่น ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ ทวารหนัก ตับ ม้าม ปอด หรือแม้แต่ในหลอดเลือดดำ แต่พยาธิชนิดนี้จะฟักตัวและเจริญเติบโตในตัวของสัตว์น้ำ เช่น หอยทากน้ำจืด ปลาน้ำจืด ก่อนจะลงไปปนเปื้อนในแหล่งน้ำ จากนั้นจะเข้าสู่ร่างกายคนด้วยการชอนไชผ่านผิวหนัง นอกจากนี้ การรับประทานสัตว์น้ำกึ่งสุกกึ่งดิบ โดยเฉพาะสัตว์น้ำจืด อาจเสี่ยงได้รับพยาธิใบไม้เข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน และอาจเกิดการแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นต่อไป หากผู้ที่ติดพยาธิใบไม้ปัสสาวะหรืออุจจาระลงในแหล่งน้ำ
พยาธิหัวหนาม เป็นพยาธิที่มีลักษณะกึ่งกลมกึ่งแบน บริเวณหัวมีหนามเรียงโดยรอบ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเจริญเติบโตภายในลำไส้ของคน การติดเชื้อพยาธิชนิดนี้ส่งผลให้เกิดโรคพยาธิหัวหนาม แต่พบได้น้อย
ทำไมต้องถ่ายพยาธิ ?
การถ่ายพยาธิเมื่อมีอาการหรือสงสัยว่าตนเองอาจติดเชื้อพยาธิถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการมีพยาธิอาจส่งผลอันตรายต่อผู้ติดเชื้อได้ พยาธิบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย หรือในบางกรณีอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะการติดเชื้อพยาธิในสตรีมีครรภ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อทั้งแม่และเด็ก โดยอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง ภาวะขาดสารอาหาร และอาจทำให้ความเสี่ยงในการเสียชีวิตของแม่และเด็กเพิ่มขึ้นอีกด้วย รวมถึงการติดเชื้อพยาธิในเด็กที่อาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและก่อให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยพบการระบาดของพยาธิน้อยมาก ดังนั้น แพทย์จึงอาจแนะนำให้ผู้ใหญ่และเด็กที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อพยาธิรับประทานยาถ่ายพยาธิในกรณีที่สงสัยว่าอาจติดพยาธิเท่านั้น
นอกจากนี้ ผู้ที่อาศัยอยู่ภายในบ้านหลังเดียวกับผู้ติดเชื้อพยาธิจำเป็นต้องถ่ายพยาธิด้วยเช่นกัน เนื่องจากการติดพยาธิมักไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็น จึงอาจทำให้คนในครอบครัวไม่รู้ว่าตัวเองติดพยาธิไปด้วยและอาจแพร่กระจายไข่พยาธิไปยังผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว จนกลายเป็นการติดเชื้อซ้ำซ้อนได้ในที่สุด
ควรถ่ายพยาธิเมื่อใด ?
เนื่องจากประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่ไม่พบความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของพยาธิ จึงไม่ต้องรับประทานยาถ่ายพยาธิบ่อย ๆ แต่หากมีอาการผิดปกติบางอย่างที่อาจบ่งบอกว่าติดเชื้อพยาธิก็สามารถรับประทานได้ อาการของการติดเชื้อพยาธิที่สังเกตได้ มีดังนี้
- หิวบ่อย
- ปวดท้อง
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีอาการอ่อนเพลีย
- คันบริเวณทวารหนัก
- เกิดรอยแดงบนผิวหนังที่มีลักษณะเป็นทาง
ถ่ายพยาธิ ทำอย่างไร?
การถ่ายพยาธิทำได้ด้วยการรับประทานยาถ่ายพยาธิ ตัวยามีฤทธิ์เป็นพิษกับพยาธิภายในร่างกายและทำให้พยาธิตายโดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ ยาถ่ายพยาธิที่นิยมใช้ ได้แก่
- อัลเบนดาโซล นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย เนื่องจากกำจัดพยาธิได้ทั้งชนิดตัวกลมและตัวตืด แต่ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์หรือกำลังวางแผนตั้งครรภ์ รวมทั้งคุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะตัวยาอาจเป็นอันตรายต่อทารก
- มีเบนดาโซล
- พราซิควอนเทล เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อพยาธิใบไม้ต่าง ๆ เช่น พยาธิใบไม้ตับ พยาธิใบไม้ในเลือด เป็นต้น ใช้กับสตรีมีครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรได้ แต่ห้ามใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี นอกจากนี้ การรับประทานยาดังกล่าวอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการคิดและการตอบสนองของร่างกายลดลง ระหว่างใช้ยาจึงควรระมัดระวังในการทำกิจกรรมใด ๆ ที่ต้องใช้ความตื่นตัว
- ไอเวอร์เมคติน ใช้รักษาพยาธิสตรองจิลอยด์ สเตอร์โคราลิส (Strongyloides Stercoralis) ใช้ได้กับคนทุกวัย ยกเว้นสตรีมีครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะอาจส่งผลอันตรายต่อทารกได้
ทั้งนี้ แม้ยาจะฆ่าตัวพยาธิได้ แต่อาจกำจัดไข่พยาธิได้ไม่หมด เพื่อความมั่นใจ ผู้ป่วยจึงควรรับประทานยาถ่ายพยาธิซ้ำในอีก 6 สัปดาห์ หลังจากรับประทานครั้งแรก และควรให้สมาชิกคนอื่น ๆ ในบ้านรับประทานยาถ่ายพยาธิด้วย เพื่อเป็นการป้องกันการติดพยาธิที่อาจเกิดจากคนใดคนหนึ่ง นอกจากนี้ ควรรักษาความสะอาดของสิ่งของเครื่องใช้และดูแลสุขอนามัยของตัวเองให้ดีอยู่เสมอ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- หมั่นล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะหลังใช้ห้องน้ำ ก่อนเตรียมอาหาร และก่อนรับประทานอาหาร สำหรับเด็ก ผู้ปกครองควรสร้างนิสัยในการล้างมือทุกครั้งหลังออกไปเล่นข้างนอกและเล่นกับสัตว์ รวมทั้งก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
- ซักชุดนอนและเครื่องนอนด้วยน้ำร้อนเป็นประจำเพื่อกำจัดไข่พยาธิ
- หมั่นทำความสะอาดบ้านเพื่อกำจัดฝุ่นที่อาจเป็นแหล่งสะสมของไข่พยาธิ
- หลีกเลี่ยงการเกาบริเวณทวารหนัก เพราะอาจทำให้ไข่พยาธิจากบริเวณดังกล่าวติดตามซอกเล็บและเผลอนำเข้าปากจนทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำหรือแพร่กระจายสู่ผู้อื่น
- ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการกัดเล็บ
- ไม่เดินด้วยเท้าเปล่าและสอนให้เด็กใส่รองเท้าเสมอโดยเฉพาะเมื่ออยู่ภายนอกบ้านและภายในสถานดูแลเด็กหรือโรงเรียน เพื่อป้องกันพยาธิชอนไชเข้าสู่ร่างกาย
- อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทุกวัน
- ทำความสะอาดห้องน้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น
- หากเก็บแปรงสีฟันไว้ในห้องน้ำ ควรเก็บให้มิดชิดและล้างทำความสะอาดทุกครั้งก่อนใช้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่ได้ล้างทำความสะอาดหรือปรุงไม่สุก เช่น เนื้อสัตว์กึ่งสุกกึ่งดิบ ผักผลไม้ที่ไม่แน่ใจว่าผ่านการล้างหรือไม่
- ดื่มน้ำที่ผ่านการกรองหรือต้มสุกเท่านั้น และควรสอนให้เด็กไม่ใช้ขวดน้ำหรือแก้วน้ำร่วมกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ว่ายน้ำในสระว่ายน้ำที่มีมาตรฐานในด้านความสะอาดเท่านั้น