ทรานิลไซโปรมีน

ทรานิลไซโปรมีน

Tranylcypromine (ทรานิลไซโปรมีน) เป็นยาต้านเศร้าในกลุ่มเอ็มเอโอไอ (MAOI) ใช้รักษาอาการของโรคซึมเศร้าในผู้ใหญ่ ออกฤทธิ์โดยปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุล ปกติแล้วแพทย์จะใช้ยาชนิดนี้กับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาชนิดอื่น หรืออาจใช้เพื่อรักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย

2022 Tranylcypromine rs

เกี่ยวกับยา Tranylcypromine

กลุ่มยา ยาต้านเศร้ากลุ่มเอ็มเอโอไอ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาอาการของโรคซึมเศร้า
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ ยังไม่มีการจัดหมวดหมู่ของยาชนิดนี้จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริก หรือ FDA ซึ่งยาอาจส่งผลกระทบต่อมารดาหรือทารกในครรภ์ได้

คำเตือนในการใช้ยา Tranylcypromine

  • ยาต้านเศร้าอาจทำให้ผู้ป่วยที่อายุน้อยบางคนคิดฆ่าตัวตายได้เมื่อรับประทานยาครั้งแรก ดังนั้น ผู้ปกครองและผู้ดูแลควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยมีความผิดปกติ หรือมีความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากแพ้ยาชนิดนี้ ยาชนิดอื่น หรือแพ้สารใด ๆ เพราะยาอาจมีส่วนผสมของสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากเคยมีอาการหรือเคยเป็นโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคตับ โรคไบโพลาร์ โรคเบาหวาน มีอาการปวดหัว อาการชัก ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ มีปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต มีปัญหาเกี่ยวกับเส้นเลือดสมอง หรือมีความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์ รวมถึงผู้ป่วยที่มีเนื้องอกที่ต่อมหมวกไตก็ไม่ควรใช้ยาชนิดนี้เช่นกัน
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาชนิดอื่นที่ใช้อยู่ รวมถึงยาที่เคยใช้และกำลังจะเริ่มใช้ เพราะยาบางชนิดอาจทำให้เกิดความผิดปกติได้หากใช้ร่วมกับยาชนิดนี้ เช่น ยาในกลุ่ม MAOI ตัวอื่น ๆ ยาต้านเศร้าชนิดอื่นอย่างคาร์บามาซีปีน ยารักษาอาการทางจิต ยารักษาโรคสมาธิสั้น โรคพาร์กินสัน อาการปวดหัวไมเกรน อาการไข้ ไอ อาการแพ้ อาการติดเชื้อรุนแรง ยาที่ส่งผลกระทบต่อระดับสารเซโรโทนินในร่างกาย ยาลดความอ้วน ยากระตุ้น หรือสมุนไพรต่าง ๆ เป็นต้น
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าใช้ยาชนิดนี้อยู่ก่อนเข้ารับการผ่าตัดหรือก่อนการทำหัตถการบางชนิด เพราะผู้ป่วยอาจต้องหยุดรับประทานยาระยะหนึ่งก่อนเข้ารับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ในระหว่างที่รับประทานยาชนิดนี้ เพราะอาจทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นได้
  • การรับประทานอาหารที่มีสารไทรามีนปริมาณมากในระหว่างที่ใช้ยานี้ เช่น เนื้อสัตว์ตากแห้ง ชีส ซอสถั่วเหลือง หรือซุปมิโสะ เป็นต้น อาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นอันตรายได้
  • ยานี้อาจใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์กว่าจะออกฤทธิ์อย่างเต็มประสิทธิภาพ
  • ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามใช้ยานี้
  • ผลข้างเคียงจากยาชนิดนี้อาจรุนแรงขึ้นในผู้สูงอายุ
  • สตรีมีครรภ์หรือกำลังวางแผนจะมีบุตรไม่ควรใช้ยานี้ เพราะยาอาจส่งผลถึงทารกในครรภ์ได้ รวมถึงผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรก็ไม่ควรใช้ยานี้เช่นกัน เพราะยาอาจถูกส่งผ่านทางน้ำนมไปสู่เด็กได้

ปริมาณการใช้ยา Tranylcypromine

โรคซึมเศร้า
ตัวอย่างการใช้ยา Tranylcypromine เพื่อรักษาผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 10 มิลลิกรัมในช่วงเช้าและเย็น หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ อาจรับประทานยาเพิ่มอีก 10 มิลลิกรัมในช่วงกลางวัน หรือเพิ่มปริมาณยาในช่วงบ่ายขึ้นเป็น 20 มิลลิกรัม ปริมาณยาสูงสุดไม่เกินวันละ 60 มิลลิกรัม เมื่อร่างกายตอบสนองต่อยาแล้ว ให้ค่อย ๆ ลดปริมาณลงจนเหลือวันละ 10 มิลลิกรัม

การใช้ยา Tranylcypromine

  • รับประทานยาตามคำแนะนำบนเอกสารกำกับยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
  • หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการรับประทานยา ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรให้เข้าใจก่อนใช้ยาเสมอ
  • รับประทานยาตามปริมาณที่แพทย์หรือเภสัชกรกำหนด และไม่ควรหยุดใช้ยาอย่างกะทันหัน เพราะอาจทำให้เกิดอาการถอนยาได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากรับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแย่ลง
  • หากลืมใช้ยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลารับประทานยารอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาทดแทน
  • หากรับประทานยาเกินปริมาณให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติขึ้นได้
  • เก็บยาในอุณหภูมิห้อง โดยหลีกเลี่ยงแสงและความชื้น

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Tranylcypromine

ยาชนิดนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงแบบไม่รุนแรง เช่น เวียนหัว ปวดหัว ปากแห้ง ท้องผูก มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนอาจพบผลข้างเคียงที่รุนแรงได้หลังใช้ยา เช่น

  • เกิดความผิดปกติที่อาจบ่งบอกถึงอาการแพ้ เช่น หน้าบวม ปากบวม คอบวม มีผื่นขึ้น หรือหายใจลำบาก เป็นต้น
  • ระดับสารเซโรโทนินในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น จนอาจทำให้มีเหงื่อออก เห็นภาพหลอน ตัวสั่น กระสับกระส่าย กล้ามเนื้อเกร็งหรือกระตุก การทำงานของอวัยวะในร่างกายไม่สัมพันธ์กัน ท้องเสีย หรืออาเจียน
  • มีสภาวะอารมณ์ไม่ปกติ เช่น กระสับกระส่าย มีพละกำลังเพิ่มขึ้น มีพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย พูดมากกว่าปกติ คิดมากหลายเรื่อง นอนไม่หลับ เป็นต้น
  • มีปัญหาเกี่ยวกับตับ จนอาจทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น เบื่ออาหาร ปวดท้องด้านขวาบน ปัสสาวะมีสีเข้ม หรือมีอาการดีซ่าน เป็นต้น
  • ปวดคอ คอแข็ง ปวดหัวรุนแรงอย่างกะทันหัน
  • มีปัญหาด้านการพูดและการมองเห็น รูม่านตาขยาย เห็นภาพเบลอหรือภาพซ้อน
  • รู้สึกมึนงงหรืออ่อนแรง
  • หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นแรง
  • มีไข้ เหงื่อออก คลื่นไส้
  • รู้สึกคล้ายจะเป็นลม
  • มีอาการชัก

นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้ยาชนิดนี้อาจเกิดความผิดปกติอื่น ๆ ได้ ดังนั้น หากพบอาการเจ็บป่วยหรืออาการผิดปกติใด ๆ ก็ตามในระหว่างที่ใช้ยา ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม