ทางเลือกในการรักษาข้อเข่าเสื่อมโดยไม่ต้องผ่าตัด

ข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) เป็นอาการที่กระดูกอ่อน (Cartilage) ในข้อต่อกระดูกข้อเข่าเสื่อมสภาพ ทำให้ไม่สามารถลดแรงกระแทกระหว่างกระดูกได้เท่าเดิม จึงก่อให้เกิดอาการปวดข้อเข่า ข้อเข่าบวม ได้ยินเสียงข้อเข่าเสียดสีกัน ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และหากอาการรุนแรงอาจไม่สามารถขยับข้อเข่าได้

ข้อเข่าเสื่อมเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบบ่อยในผู้สูงอายุ เมื่อเกิดการเสื่อมสภาพของข้อต่อแล้วจะไม่สามารถฟื้นสภาพให้กลับเป็นปกติได้ และยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมจึงเน้นไปที่การชะลอความเสื่อมของข้อ ซึ่งมีอยู่หลายวิธีขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค โดยบทความนี้จะเน้นที่วิธีการปรับพฤติกรรมและการใช้ยาเพื่อลดอาการปวดและอักเสบภายในข้อ

ทางเลือกในการรักษาข้อเข่าเสื่อมโดยไม่ต้องผ่าตัด

การใช้ยาและสารต่าง ๆ ในการรักษาข้อเข่าเสื่อม

ยาและสารที่นำมาใช้ในการรักษาและบรรเทาอาการจากข้อเข่าเสื่อมมีอยู่หลายชนิด เช่น 

ยาแก้ปวด

ยาแก้ปวดจะช่วยบรรเทาอาการปวดข้อในผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ตัวอย่างยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เอง ได้แก่ ยาพาราเซตามอล ยากลุ่มซาลิไซเลต (Salicylates) รวมถึงยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) และยาเซเลคอกซิบ (Celecoxib) ซึ่งยาแก้ปวดบางชนิดมีทั้งรูปแบบยารับประทานและยาทา

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดมากเกินปริมาณที่กำหนดหรือต่อเนื่องกันเป็นเวลานานเนื่องจากยาอาจทำให้ระคายเคืองหรือเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และยาทาแก้ปวดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงในผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคไตและโรคหลอดเลือดหัวใจ 

นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ระหว่างการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดและผู้ที่มีประวัติแพ้ยา ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยา 

กลูโคซามีน (Glucosamine)

กลูโคซามีนเป็นสารที่พบในร่างกายของเรา โดยพบมากที่กระดูกอ่อน ซึ่งสารชนิดนี้มีบทบาทในการสร้างสารที่เป็นส่วนประกอบในเนื้อเยื่อเกือบทุกชนิดของร่างกาย ทำให้กระดูกอ่อนมีความยืดหยุ่น ช่วยในการทำงานของข้อต่อ และลดการอักเสบของข้อ

กลูโคซามีนมีหลายชนิด มีทั้งรูปแบบอาหารเสริมและยาอันตรายที่แพทย์และเภสัชกรเป็นผู้จ่าย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติให้กลูโคซามีนซัลเฟต (Glucosamine Sulfate) ชนิดเดียวขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตราย ใช้สำหรับรักษาโรคข้อเสื่อม และจำหน่ายได้ถูกต้องตามกฎหมาย 

ส่วนประสิทธิภาพของการใช้กลูโคซามีนในรูปแบบอาหารเสริมต่อการรักษาข้อเข่าเสื่อมเป็นเพียงการศึกษาขนาดเล็ก จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อยืนยันประสิทธิภาพต่อไป โดยทั่วไป ให้รับประทานกลูโคซามีนครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หรือตามที่แพทย์แนะนำ

ทั้งนี้ กลูโคซามีนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัวหรือได้รับยาชนิดอื่นอยู่ จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทาน

Cetylated Fatty Acids (CFAs)

Cetylated Fatty Acids (CFAs) เป็นกลุ่มของกรดไขมันตามธรรมชาติที่นิยมนำมาสกัดเป็นอาหารเสริมและครีมทาผิวหนังเพื่อบรรเทาอาการปวดเข่าจากโรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) และโรคข้ออักเสบ (Arthritis) โดยมีผลการศึกษาบางส่วนพบว่ายาที่มีส่วนประกอบของ CFAs อาจช่วยบรรเทาอาการจากโรคข้อเสื่อมได้

ผลการวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาประสิทธิภาพของการใช้ครีมที่มีส่วนผสมของสารกลุ่ม CFA เป็นระยะสั้น ๆ ในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมระยะต้นและระยะรุนแรง จำนวน 113 คน พบว่าการใช้ครีมที่มีส่วนผสมของสารกลุ่ม CFA วันละ 2 ครั้งต่อเนื่องกันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ช่วยบรรเทาอาการปวด ตึง หรือข้อต่อติดแข็งจากโรคข้อเข่าเสื่อมได้ 

สอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นที่พบว่า Cetyl Myristoleate ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดหนึ่งในกลุ่ม CFA มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวด และช่วยให้การเคลื่อนไหวของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมชนิดไม่รุนแรงดีขึ้น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเหล่านี้เป็นการศึกษาช่วงสั้น ๆ ในประชากรจำนวนไม่มาก และขาดข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของ CFA ต่อโรคข้อเสื่อมในอนาคต

Cetylated Fatty Acids ที่นำมาใช้กับผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม มีทั้งชนิดรับประทานในรูปแบบเม็ดและแคปซูล และชนิดครีมทาผิวเฉพาะจุดที่มีอาการ โดยปริมาณการใช้ที่แนะนำจากข้อมูลงานวิจัย ได้แก่

  • ชนิดรับประทาน รับประทานขนาด 1,050 มิลลิกรัม ร่วมกับเลซิตินจากถั่วเหลือง (Soy Lecithin) 150 มิลลิกรัม และน้ำมันปลา 225 มิลลิกรัม วันละ 6 ครั้ง
  • ครีมทาผิว ให้ทาบริเวณผิวหนังที่มีอาการข้อเสื่อมวันละ 2 ครั้ง โดยนวดเบา ๆ จนกว่าครีมจะซีมลงผิวหนัง

เนื่องจากผลการวิจัยในปัจจุบันยังไม่มีรายงานผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ Cetylated Fatty Acids เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดจากข้อเข่าเสื่อม จึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่นำมาใช้ในการบรรเทาอาการข้อเข้าเสื่อมเช่นกัน

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์รุนแรงขึ้น ฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) กายภาพบำบัด หรือรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ภายใต้การดูแลของแพทย์ 

การปรับพฤติกรรมและการบำบัดสำหรับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม

นอกจากการใช้ยาหรือสารต่าง ๆ บรรเทาอาการแล้ว ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมควรดูแลตัวเองด้วยการควบคุมน้ำหนักตัว และออกกำลังกายสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ เช่น เดินเร็ว ขี่จักรยาน และว่ายน้ำ เพื่อเสริมความแข็งแรงของข้อเข่า 

รวมทั้งควรปรับพฤติกรรมการใช้งานข้อเข่าควบคู่ไปด้วย โดยหลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได การยกของหนัก และนั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ หรือคุกเข่าโดยไม่จำเป็น

วิธีอื่น ๆ ที่ช่วยในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม เช่น การประคบร้อนและประคบเย็นที่ช่วยลดอาการปวดและอักเสบ การฝังเข็ม การกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น  

การได้รับการรักษาที่เหมาะสมแต่เนิ่น ๆ จะช่วยชะลอความเสื่อมของข้อเข่าก่อนที่จะเกิดอาการรุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเดินและทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หากมีอาการเจ็บปวด ข้อเข่าติด และขยับข้อเข่าลำบาก หรือดูแลตัวเองและใช้ยาด้วยวิธีข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาอื่นที่เหมาะสม

เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัพเดทล่าสุด 11 เมษายน พ.ศ. 2565
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. ณัฏฐ์พัชร์ ฐิติปุญญา

เอกสารอ้างอิง 

  • Ariani, et al. (2018). Short-Term Effect of Topical Cetylated Fatty Acid on Early and Advanced Knee Osteoarthritis: A Multi-Center Study. Archives of rheumatology, 33(4), 438–442.
  • Mayo Clinic (2021). Osteoarthritis.
  • บุษบา จินดาวิจักษณ์. ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (2010). ยาแก้ปวดข้อ ใช้รักษาข้อเสื่อม ใช้อย่างไร?.
  • ธนรัตน์ สรวลเสน่ห์. ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับกลูโคซามีน (glucosamine) ในโรคข้อเสื่อม.
  • วิโรจน์ กวินวงศ์โกวิท. ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. โรคข้อเข่าเสื่อม.
  • Brusie, C. Healthline (2020). Treatments for Osteoarthritis of the Knee: What Works?.
  • MIMS. Cetilar.
  • WebMD (2021). Osteoarthritis of the Knee (Degenerative Arthritis of the Knee).
  • Wong, C. Verywell Health (2021). What Is Cetyl Myristoleate (CMO)?.
  • Griffin, R.M. WebMD (2020). Is Glucosamine Good for Joint Pain?.
  • WebMD. Cetylated Fatty Acids (Cfas) - Uses, Side Effects, and More.