ทานตะวัน พืชดอกสีเหลืองที่ไม่ได้มีดีแค่ความสวยงาม แต่เมล็ดทานตะวันและน้ำมันทานตะวันยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหาร และเชื่อกันว่าอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ช่วยลดระดับไขมันคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต บรรเทาการติดเชื้อแบคทีเรีย รักษาการติดเชื้อราที่เท้า เป็นต้น
ส่วนเมล็ดทานตะวันนั้น ประกอบไปด้วยวิตามินและสารอาหารที่มีคุณค่าหลายชนิด เช่น มีทองแดง แมงกานีส และซีลีเนียมในปริมาณมาก มีวิตามินอี วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 กรดโฟลิก ธาตุเหล็ก ใยอาหาร และโปรตีน เป็นต้น
นอกจากนี้ เมล็ดทานตะวันยังมีไขมันสูงด้วย แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่าการรับประทานไขมันชนิดนี้ในปริมาณที่พอดี และรับประทานทดแทนอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวหรือไขมันทรานส์สูง อาจมีส่วนช่วยในการบำรุงหัวใจ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ ลดความดันโลหิต ตลอดจนลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลได้
ประโยชน์ต่อสุขภาพจากทานตะวัน
ลดคอเลสเตอรอล
เมล็ดและน้ำมันทานตะวันอุดมไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งไขมันชนิดนี้มีหน้าที่กำจัดไขมันคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีซึ่งสะสมอยู่ตามหลอดเลือด การบริโภคผลิตภัณฑ์จากทานตะวันจึงอาจช่วยลดคอเลสเตอรอล และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองได้
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่สนับสนุนประโยชน์ของทานตะวันในด้านนี้ โดยการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ทดลองในกลุ่มชายอายุ 35-55 ปี จำนวน 14 คน และหญิงวัยหมดประจำเดือนอายุ 50-60 ปี จำนวน 14 คน พบว่าหลังรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำมันทานตะวันที่อุดมไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวเป็นเวลา 1 เดือน ผู้ทดลองมีระดับไขมันชนิดที่ดีเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจลดลงตามไปด้วย สอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ชี้ว่า กลุ่มชายหญิงที่รับประทานอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวจากน้ำมันทานตะวันนั้น มีระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีและระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ลดลงมากกว่าการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง
นอกจากนี้ มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวนผู้ทดลองมากขึ้น และทดลองกับผู้ป่วยไขมันในเลือดสูงโดยตรงจำนวน 96 คน โดยแบ่งกลุ่มให้ผู้ป่วยรับประทานน้ำมันทานตะวันหรือน้ำมันคาโนล่าเป็นเวลา 6 เดือน ผลปรากฏว่าทั้ง 2 กลุ่มต่างมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีและไขมันไตรกลีเซอไรด์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีไขมันชนิดที่ดีเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันดีอย่างทานตะวันแทนอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์นั้น เป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพและอาจช่วยลดไขมันชนิดที่ไม่ดีได้
ลดความดันโลหิต
นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า ไขมันไม่อิ่มตัวอาจมีคุณสมบัติช่วยลดความดันโลหิตได้ ซึ่งเมล็ดทานตะวันและน้ำมันทานตะวันก็เป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันชนิดนี้ จึงมีการทดลองเปรียบเทียบคุณสมบัติของไขมันไม่อิ่มตัวจากทานตะวันกับน้ำมันที่มีไขมันไม่อิ่มตัวชนิดอื่น ๆ ตามมา
โดยมีงานวิจัยหนึ่งแบ่งกลุ่มให้ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจำนวน 530 คนที่ใช้ยาลดความดันโลหิตอย่างนิเฟดิปีน รับประทานน้ำมันที่มีไขมันชนิดไม่อิ่มตัวอย่างน้ำมันงา น้ำมันทานตะวัน น้ำมันถั่วลิสง หรือไม่รับประทานน้ำมันชนิดใด ๆ ผลลัพธ์พบว่าทุกกลุ่มมีระดับความดันโลหิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อเทียบกับน้ำมันอีก 2 ชนิด กลุ่มน้ำมันงาจะเห็นผลชัดที่สุด โดยผู้ป่วยกลุ่มน้ำมันงาและน้ำมันทานตะวันมีระดับไขมันคอเลสเตอรอลโดยรวมและไขมันไตรกลีเซอไรด์ลดลง ในขณะเดียวกันก็มีระดับไขมันดีเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ล่าสุดมีงานวิจัยที่ให้อาสาสมัครวัย 30-60 ปี จำนวน 60 คน ที่เป็นโรคอ้วนลงพุงแบ่งกลุ่มและให้ได้รับน้ำมันเมล็ดแฟลกซ์หรือน้ำมันเมล็ดทานตะวันเป็นระยะเวลา 7 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มน้ำมันเมล็ดแฟลกซ์มีความดันโลหิตลดลงมากกว่าเล็กน้อย ในขณะที่กลุ่มน้ำมันเมล็ดทานตะวันมีไขมันโดยรวมและคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีลดลงมากกว่า
จากผลการทดลองต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าน้ำมันจากทานตะวันอาจมีผลต่อการลดระดับความดันโลหิตเล็กน้อยเมื่อเทียบกับน้ำมันจากพืชชนิดอื่น ๆ ดังนั้น ทานตะวันจึงอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดในการช่วยลดความดันโลหิต ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจึงควรรับการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอ และปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานอาหารเสริมหรือสมุนไพรใด ๆ ก็ตาม
รักษาการติดเชื้อราที่เท้า
น้ำมันจากดอกทานตะวันอาจช่วยยับยั้งเชื้อราได้ โดยมีงานวิจัยหนึ่งพบว่าผู้ป่วยโรคเชื้อราที่เท้าจำนวน 100 คนที่ได้รับการรักษาด้วยน้ำมันทานตะวัน 2 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 6 สัปดาห์ มีอาการดีขึ้นเทียบเท่ากับผู้ป่วยอีกกลุ่มที่ใช้ยารักษาการติดเชื้อราอย่างคีโตโคนาโซลที่ความเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย
ทารกแรกเกิดนั้นเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งมักจะมีเกราะป้องกันผิวไม่แข็งแรงเท่าที่ควร การทาน้ำมันเมล็ดทานตะวันลงบนผิวของทารกจึงอาจเป็นวิธีทางธรรมชาติที่ประหยัดและปลอดภัยในการป้องกันเชื้อโรคให้ลูกน้อย
ผลงานวิจัยจำนวนหนึ่งสนับสนุนประโยชน์ในด้านนี้ โดยมีการทดลองพบว่าทารกที่คลอดก่อนกำหนดขณะมีอายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์ จำนวน 51 คน ที่ถูกทาน้ำมันเมล็ดทานตะวันตามผิวหนังวันละ 3 ครั้ง มีอัตราการติดเชื้อขณะอยู่ในโรงพยาบาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับทารกอีก 52 คนที่ไม่ได้ทาน้ำมันชนิดนี้ และยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่าทารกคลอดก่อนกำหนดที่ทาน้ำมันเมล็ดทานตะวันในช่วง 10 วันแรกหลังคลอดนั้นมีสภาพผิวที่แข็งแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางการแพทย์ในปัจจุบันก็ยังมีไม่มากและไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะสรุปสรรพคุณด้านนี้ของทานตะวันได้ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป ก่อนจะนำทานตะวันมาประยุกต์ใช้เพื่อต้านเชื้อโรคอย่างแบคทีเรียได้จริง
บริโภคหรือใช้ผลิตภัณฑ์ทานตะวันอย่างไร ให้ได้ประโยชน์และปลอดภัยต่อสุขภาพ ?
เมล็ดทานตะวันเป็นอาหารที่รับประทานง่ายและประยุกต์กับอาหารได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะกินเล่นเป็นของว่าง ผสมกับสลัดผักผลไม้ สลัดไก่ สลัดทูน่า สมูทตี้ โยเกิร์ต หรือไอศกรีม โดยเมล็ดทานตะวันมีแคลอรี่ในระดับปานกลางไปจนถึงสูงปานกลาง และสามารถเลือกรับประทานไขมันชนิดที่ดีได้จากเมล็ดทานตะวันหรืออาหารชนิดอื่น ๆ แทนอาหารที่มีแคลอรี่และไขมันอิ่มตัวสูง
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด ปลอดภัย และส่งผลดีต่อสุขภาพ ผู้บริโภคควรจำกัดปริมาณการรับประทานให้เหมาะสม เพราะแม้ทานตะวันจะมีไขมันชนิดที่ดี แต่หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจทำให้มีน้ำหนักตัวและรอบเอวเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ ก่อนรับประทานเมล็ดทานตะวันที่ผ่านการแปรรูป ควรดูปริมาณเกลือหรือโซเดียมบนฉลากด้วย เพราะการได้รับโซเดียมจากอาหารมากเกินไปอาจส่งผลต่อสุขภาพหัวใจและไต รวมทั้งอาจทำให้เกิดภาวะบวมน้ำจนนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูงได้
ส่วนการรับประทานน้ำมันเมล็ดทานตะวันหรือการทาลงบนผิวหนังนั้น ก็อาจปลอดภัยหากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม แต่บุคคลต่อไปนี้ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ และปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอหากต้องการใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการรักษาหรือป้องกันโรค
- หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าน้ำมันทานตะวันมีความปลอดภัยต่อคุณแม่ตั้งครรภ์และทารก
- ผู้ที่เคยมีอาการแพ้หรือสงสัยว่าแพ้น้ำมันเมล็ดทานตะวัน
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะการรับประทานอาหารที่มีน้ำมันทานตะวันในปริมาณสูงอาจส่งผลให้ระดับอินซูลินและน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งอาจทำให้มีไขมันในเลือดหลังมื้ออาหารเพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ป่วยโรคนี้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงตีบแข็งได้