ทารกคัดจมูกเป็นปัญหาสุขภาพของลูกน้อยที่คุณพ่อคุณแม่คิดไม่ตก เพราะอาการคัดจมูกมักรุนแรงขึ้นในยามค่ำคืนจนทำให้ทารกร้องไห้งอแง นอนหลับยาก และนอนไม่พอได้ อีกทั้งทารกอาจมีอาการอื่น อย่างน้ำมูกไหลหรือเป็นไข้ร่วมด้วย
อาการคัดจมูกในเด็กทารกเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคหวัด คุณภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม โรคภูมิแพ้ อากาศแห้ง หรือแม้แต่อุบัติเหตุก็ทำให้ทารกคัดจมูกได้เช่นกัน บางสาเหตุที่ทำให้ทารกคัดจมูกอาจเป็นสัญญาณอันตราย โดยเฉพาะเมื่อพบในทารกแรกเกิด บทความนี้จึงได้รวบรวมวิธีสังเกตอาการเบื้องต้น สัญญาณรุนแรง และวิธีเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้เมื่อทารกคัดจมูก
สาเหตุและวิธีสังเกตอาการเมื่อทารกคัดจมูก
อาการคัดจมูกเป็นผลมาจากการอักเสบและบวมของเยื่อบุโพรงจมูกด้านใน ทำให้รู้สึกอึดอัดและหายใจลำบาก หากน้ำมูกข้นเหนียวหรือมีปริมาณมากอาจทำให้โพรงจมูกอุดตันและคัดจมูกได้ ซึ่งอาการคัดจมูกในทารกอาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
การติดเชื้อ
ทารกคัดจมูกอาจเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โดยการติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็กมักมาจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัด คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตอาการเบื้องต้นได้ เมื่อทารกมีไข้ ไอ และน้ำมูกไหล โดยเริ่มจากน้ำมูกเหลวใสเปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองหรือเขียวและข้นขึ้น นอกจากนี้ทารกอาจงอแงมากกว่าปกติ ไม่กินนม เบื่ออาหาร นอนหลับยาก ปวดหู หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ
อย่างไรก็ตาม หากทารกมีอาการในข้างต้น มีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่หรือการติดเชื้อที่รุนแรงขึ้น อย่างไข้สูง หนาวสั่น ซึม อาเจียน ท้องเสีย ควรพาทารกไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะการติดเชื้อชนิดรุนแรงอาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้
คุณภาพอากาศที่ไม่ดี
อากาศที่ไม่ดีและปนเปื้อนสารเคมีก็อาจทำให้เยื่อบุโพรงจมูกระคายเคืองและทำให้ทารกคัดจมูกได้ เช่น ฝุ่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ควันจากท่อไอเสีย ควันบุหรี่ น้ำหอม สเปรย์ปรับอากาศ และสารเคมีอื่น ๆ
โรคภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้อาจทำให้เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบและบวมจนทำให้ทารกคัดจมูก ร่วมกับมีน้ำมูกใส น้ำตาไหล ไอ จาม หรือเกิดผื่นแดง โดยปัจจัยที่กระตุ้นให้ทารกคัดจมูกจากโรคภูมิแพ้อาจมาจากไรฝุ่นและเชื้อราภายในบ้าน โดยเฉพาะบริเวณเฟอร์นิเจอร์ ฟูกนอน และผ้าม่าน
หากครอบครัวไหนมีสัตว์เลี้ยง ขนและรังแคจากสัตว์เลี้ยงก็อาจกระตุ้นอาการภูมิแพ้และทำให้ทารกคัดจมูกได้ หากพบอาการแพ้รุนแรง อย่างอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก รอบดวงตา ทารกหายใจติดขัด มีเสียงหอบหรือหวีดแหลมขณะหายใจ ควรพาไปพบแพทย์ทันที
สิ่งแปลกปลอมอุดตันในโพรงจมูก
อาการคัดจมูกในทารก ร่วมกับเสียงหายใจหวีดแหบอาจเกิดจากการมีสิ่งของอุดตันภายในโพรงจมูก เนื่องจากทารกอาจหยิบจับของเล่น สิ่งของ และอาหารใส่เข้าไปในจมูกโดยไม่ตั้งใจ หรือเกิดจากการสูดดมผงและเศษของสิ่งของขนาดเล็กก็ได้เช่นกัน ซึ่งมีความเสี่ยงที่สิ่งของจะหลุดเข้าไปอุดตันหลอดลมและทำให้เกิดอันตราย
นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ก็อาจกระตุ้นให้ทารกคัดจมูกได้ เช่น อากาศแห้งที่เกิดในช่วงหน้าหนาวหรือการอาศัยในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศ หรือทารกบางคนอาจมีอาการคัดจมูกแต่กำเนิดเนื่องจากโพรงจมูกผิดรูป
วิธีรับมือเมื่อทารกคัดจมูก
ในระหว่างสังเกตอาการ คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีต่อไปนี้เพื่อบรรเทาอาการคัดจมูกจากการบวมภายในโพรงจมูกและน้ำมูกคั่ง
1. พยายามให้ทารกดื่มน้ำหรือดื่มนมให้มากขึ้น เพราะของปริมาณของเหลวที่เพิ่มขึ้นจะลดความข้นเหนียวของน้ำมูก ซึ่งช่วยให้ขับออกมาง่ายขึ้น
2. อาบน้ำอุ่นให้ลูก เพราะไอน้ำอาจช่วยลดความข้นเหนียวของน้ำมูก และอาจช่วยบรรเทาอาการโพรงจมูกระคายเคืองเนื่องจากอากาศแห้งได้
3. ใช้ลูกยางดูดน้ำมูกออก คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้ลูกยางที่มีขนาดเหมาะสมสอดเข้าไปในจมูกของทารกเล็กน้อยและดูดเอาน้ำมูกออกมา ซึ่งจะช่วยลดการคั่งของน้ำมูกในโพรงจมูกและบรรเทาอาการคัดจมูกในทารกได้
4. ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ วิธีนี้จะช่วยทำความสะอาดโพรงจมูกด้านใน โดยการใช้ลูกยางหรือไซรินจ์ดูดน้ำเกลือทางการแพทย์และฉีดเข้าไปเบา ๆ ทางจมูกของทารก เพื่อชะล้างน้ำมูก เชื้อโรค และสารก่อภูมิแพ้ภายในโพรงจมูก
เพื่อความปลอดภัย คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาวิธีที่ถูกต้องหรือปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนการล้างจมูกให้ทารก สำหรับอุปกรณ์อย่างลูกยางและไซรินจ์ที่ใช้สำหรับดูดน้ำมูกและล้างจมูก คุณพ่อคุณแม่ควรทำความสะอาดด้วยสบู่ ผึ่งลมให้แห้งทุกครั้งหลังใช้ และเก็บในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรค
5. ทำความสะอาดบ้านเป็นประจำเพื่อลดปริมาณฝุ่น สารก่อภูมิแพ้ และสารเคมี รวมทั้งเก็บกวาดสิ่งของชิ้นเล็กที่ทารกหยิบใส่ปากหรือจมูกได้
6. เพิ่มคุณภาพอากาศภายในบ้านด้วยใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อระบบทางเดินหายใจของทารก หรือจำกัดบริเวณที่ทารกพักอาศัยกับส่วนอื่น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ในบริเวณบ้าน เพราะอนุภาคของควันบุหรี่สามารถเกาะติดตามพื้นผิวต่าง ๆ รวมถึงเสื้อผ้า นอกจากนี้สามารถเลือกใช้เครื่องฟอกอากาศเพื่อลดการปนเปื้อนภายในอากาศ
7. ใช้เครื่องทำความชื้น แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ค่อยประสบกับปัญหาอากาศแห้ง แต่การพักอาศัยในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศก็อาจทำให้โพรงจมูกแห้งระคายเคืองและบวมขึ้น ดังนั้น การเลือกใช้เครื่องทำความชื้นก็อาจช่วยลดปัญหาทารกคัดจมูกจากอาการโพรงจมูกแห้งได้
ทารกเป็นช่วงวัยที่ร่างกายยังพัฒนาไม่สมบูรณ์จึงอาจเสี่ยงไวต่อสิ่งแปลกปลอมอย่างมาก ทั้งเชื้อโรค ฝุ่นควัน สารเคมี หรือแม้แต่อุณหภูมิภายนอกที่เปลี่ยนแปลง คุณพ่อคุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมและอาการของลูกน้อยอยู่เสมอ
เมื่อทารกไม่สบาย คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้ยาด้วยตนเอง เพราะอาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ การพาทารกไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างเหมาะสมจึงเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด หากแพทย์สั่งจ่ายยา คุณพ่อคุณแม่ควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย
แม้ว่าทารกจะมีอาการคัดจมูกที่ดูไม่รุนแรง แต่หากทารกคัดจมูกติดต่อกันเป็นเวลานาน หรืออาการคัดจมูกรบกวนการพักผ่อนของทารก ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม
ในกรณีที่ทารกมีอาการรุนแรง อย่างไม่กินนม เบื่ออาหาร งอแง ซึม ไอจนอาเจียน มีเสมหะปนเลือด ริมฝีปากม่วง หายใจไม่ออก หรือพบว่ามีสิ่งของอุดตันให้โพรงจมูก ควรตั้งสติและพาเด็กไปโรงพยาบาลทันที และไม่ควรพยายามนำสิ่งของออกด้วยตนเองเพราะอาจให้สิ่งของหลุดเข้าไปลึกขึ้น
สุดท้ายนี้ เพื่อป้องกันทารกคัดจมูก คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจเรื่องความสะอาด ทั้งจากเชื้อโรค สารก่อภูมิแพ้ สารก่อการระคายเคือง และสารเคมีต่าง ๆ รวมทั้งดูแลทารกอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน การดื่มน้ำอย่างเพียงพอ และการนอนหลับที่เหมาะสม