ทารกท้องผูก คุณแม่ควรทำอย่างไร

ทารกท้องผูก เป็นปัญหาสุขภาพของทารกที่คุณแม่ควรใส่ใจและสังเกตเป็นพิเศษ เพราะไม่เหมือนกับอาการทั่วไปที่ทารกจะแสดงพฤติกรรมเพื่อส่งสัญญาณให้รู้อย่างชัดเจน ที่สำคัญพ่อแม่ควรเรียนรู้วิธีดูแลรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อช่วยให้ลูกน้อยหายท้องผูกและกลับมาถ่ายได้ตามปกติ

โดยทั่วไปแล้ว ทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 3 เดือน อาจถ่ายวันละประมาณ 2–3 ครั้ง หรือสัปดาห์ละ 5–40 ครั้ง เมื่ออายุ 3–6 เดือน จะถ่ายวันละ 2–4 ครั้ง ส่วนทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป อาจถ่ายวันละประมาณ 1–2 ครั้ง หรือสัปดาห์ละ 5–28 ครั้ง ทั้งนี้ ทารกอาจไม่ได้ถ่ายทุกวัน ซึ่งการที่ทารกไม่ถ่ายนั้นไม่ได้บ่งบอกว่ามีอาการท้องผูกเสมอไป หากสงสัยว่าลูกท้องผูก ควรสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมกับลักษณะอุจจาระว่าแข็งหรือมีเลือดปนออกมาด้วยหรือไม่

Constipation in Baby

ทารกท้องผูกมีอาการอย่างไร ?

โดยทั่วไปแล้ว ทารกแต่ละคนมีความถี่ในการขับถ่ายแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเด็กดื่มนมแม่ หรือนมชง หัดกินอาหารได้หรือยัง และกินอาหารอะไรไปบ้าง พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตอาการหรือความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่าย อาการที่อาจแสดงว่าทารกท้องผูก มีดังนี้

1. ไม่ค่อยถ่าย ความถี่ในการขับถ่ายแต่ละวันของทารกนั้นไม่แน่นอน โดยเฉพาะในช่วงที่เพิ่งเริ่มหัดกินอาหารใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม หากสังเกตว่าทารกไม่ได้ขับถ่ายติดต่อกันนานกว่า 2-3 วัน อาจเป็นสัญญาณของอาการท้องผูกได้

2. ต้องออกแรงเบ่งอุจจาระ พ่อแม่ควรสังเกตว่าเด็กต้องออกแรงเบ่งอุจจาระมากกว่าปกติ หรือรู้สึกหงุดหงิดและร้องไห้เวลาขับถ่ายหรือไม่ หากมีอาการเหล่านี้ เด็กอาจประสบภาวะท้องผูกอยู่

3. มีเลือดปนอุจจาระ ทารกที่ท้องผูกอาจมีเลือดปนมากับอุจจาระได้ เนื่องจากผนังทวารหนักฉีกขาดจากการออกแรงเบ่งอุจจาระ

4. ไม่กินอาหาร ทารกจะไม่กินอาหารและมักรู้สึกอิ่มเร็ว เนื่องจากอึดอัดและไม่สบายท้องจากการไม่ได้ขับถ่ายของเสีย

5. ท้องแข็ง ลักษณะท้องของทารกจะตึง แน่น หรือแข็ง ซึ่งเป็นอาการท้องอืดที่เกิดขึ้นร่วมกับการมีท้องผูก

ทารกท้องผูกเกิดจากอะไรบ้าง

ปัญหาทารกท้องผูกเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ โดยแบ่งตามช่วงอายุของทารกออกเป็น 2 ช่วงวัย ดังนี้

สาเหตุอาการท้องผูกของทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน

ทารกที่อายุน้อยกว่า 6 เดือนอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการท้องผูกจากปัจจัยต่อไปนี้

  • ปัญหาสุขภาพ
    หากทารกอายุน้อยกว่า 1 เดือนที่มีอาการท้องผูกควรได้รับการดูแลจากกุมารแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจเป็นอาการของภาวะลำไส้ใหญ่โป่งพองแต่กำเนิด (Hirschsprung’s Disease: HD) มีโอกาสเกิดขึ้นประมาณ 1 ใน 5,000 คน และจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
  • น้ำนม
    ส่วนใหญ่ทารกที่ดื่มนมแม่มักไม่เกิดปัญหาท้องผูก เนื่องจากน้ำนมแม่มีแบคทีเรียชนิดดี รวมถึงไขมันและโปรตีนที่ช่วยให้อุจจาระไม่แข็งตัว ส่งผลให้ขับถ่ายง่าย อย่างไรก็ตาม เด็กอาจถ่ายไม่ออก เนื่องจากแพ้โปรตีนในน้ำนมหรืออาหารบางอย่างที่คุณแม่รับประทานเข้าไปและไหลผ่านน้ำนมไปสู่ลูก
  • ลอดก่อนกำหนด
    ทารกคลอดก่อนกำหนดที่ท้องผูกจะมีอาการแย่กว่าเด็กทั่วไป เนื่องจากระบบย่อยอาหารยังเจริญไม่เต็มที่ ส่งผลให้อาหารที่รับประทานเข้าไปเคลื่อนผ่านทางเดินอาหารช้าและย่อยได้ไม่สมบูรณ์ อุจจาระจึงมีลักษณะแห้งและแข็ง

สาเหตุอาการท้องผูกของทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป

เมื่อทารกอายุมากกว่า 6 เดือน สภาพร่างกายและอาหารการกินอาจมีการเปลี่ยนแปลง หรือพบปัญหาสุขภาพที่ทำให้เกิดอาการท้องผูกได้

  • นมชง
    เด็กที่ดื่มนมชงเพียงอย่างเดียวเสี่ยงเกิดท้องผูกได้มาก เนื่องจากนมชงมีส่วนผสมที่อาจทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานมากขึ้น ส่งผลให้อุจจาระเป็นก้อน นอกจากนี้ หากทารกแพ้โปรตีนในน้ำนมก็อาจเกิดอาการท้องผูกได้
  • อาหารต่าง ๆ
    ทารกอาจท้องผูกหลังเปลี่ยนจากการดื่มนมแม่มาเป็นการรับประทานอาหารอื่น ๆ เนื่องจากร่างกายไม่ได้รับของเหลวในปริมาณเท่าเดิม อีกทั้งอาหารบางอย่างมีเส้นใยต่ำ ทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ง่าย
  • ภาวะขาดน้ำ
    ในบางกรณี หากทารกประสบภาวะขาดน้ำหรือได้รับน้ำไม่เพียงพอ ร่างกายจะดูดซึมน้ำจากอาหารที่กินเข้าไป รวมถึงน้ำจากกากของเสียในร่างกาย ส่งผลให้อุจจาระแห้งและแข็งจนขับถ่ายลำบาก
  • อาการป่วยและยา
    อาการท้องผูกในทารกอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น
    ไฮโปไทรอยด์ โบทูลิซึม (Botulism) อาการแพ้อาหารบางชนิด โรคเกี่ยวกับระบบการเผาผลาญอาหาร เป็นต้น รวมถึงอาการป่วยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้เด็กกินอาหารหรือดื่มน้ำน้อยลง ทำให้ระบบการทำงานของร่างกายผิดปกติและนำไปสู่ปัญหาท้องผูก นอกจากนี้ การใช้ยาระงับปวดชนิดเสพติดหรือธาตุเหล็กในปริมาณสูงก็ทำให้เกิดท้องผูกได้

ทารกท้องผูกต้องดูแลอย่างไร ?

พ่อแม่ที่เป็นกังวลหรือสงสัยว่าลูกน้อยอาจมีอาการท้องผูก ควรดูแลทารกด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเป็นหลัก และอาจกระตุ้นให้ขับถ่ายด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้

ปรับการกินอาหารของทารก

โดยทั่วไปแล้ว ทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือนมักจะดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียว ทำให้ไม่ค่อยมีอาการท้องผูก เพราะจริง ๆ แล้ว น้ำนมแม่มีส่วนประกอบของโพรไบโอติก (Probiotics) หรือแบคทีเรียในลำไส้ชนิดที่ดีมีประโยชน์ และพรีไบโอติก (Prebiotics) หรืออาหารที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตและเสริมความแข็งแรงให้กับแบคทีเรียชนิดดังกล่าว 

โดยโพรไบโอติกนั้นมีส่วนช่วยในกระบวนการย่อยอาหารและปรับสมดุลของลำไส้ ส่งผลให้ปัญหาทารกท้องผูกเกิดขึ้นได้น้อยครั้ง การให้ทารกกินนมแม่ตั้งแต่แรกคลอดไปจนครบ 6 เดือนหรือนานกว่านั้น จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของระบบย่อยอาหารที่แข็งแรงนั่นเอง อย่างไรก็ตาม อาการท้องผูกของทารกอาจเกิดจากการแพ้อาหารที่แม่รับประทานเข้าไปได้เช่นกัน คุณแม่ที่ให้นมบุตรจึงควรเลี่ยงอาหารที่ส่งผลต่อการขับถ่ายของลูก

สำหรับทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป ทารกวัยนี้เริ่มหัดกินอาหารอื่นร่วมกับนมแม่หรือนมชงได้แล้ว พ่อแม่จึงควรปรับการกินอาหารของทารกเพื่อป้องกันปัญหาท้องผูก ดังนี้

  • เปลี่ยนการให้นม ทารกที่ดื่มนมชงอาจแพ้ส่วนผสมบางอย่างของนมผง จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนยี่ห้อนม รวมทั้งสังเกตว่าเด็กแพ้ส่วนผสมใดในนมผง
  • เติมน้ำผลไม้ในนม น้ำผลไม้อาจบรรเทาอาการท้องผูกได้หากบริโภคในปริมาณเล็กน้อย โดยควรผสมน้ำแอปเปิ้ล น้ำลูกแพร์ หรือน้ำลูกพรุนลงไปในนมชงหรือน้ำนมแม่วันละประมาณ 30-60 มิลลิลิตร
  • เสริมใยอาหาร ทารกที่เพิ่งเริ่มกินอาหารอื่นควรเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงทำให้ท้องผูก โดยควรลดข้าว กล้วย และแครอทสุก หรือเลี่ยงไม่ให้เด็กกินข้าวกับกล้วย เนื่องจากข้าวและกล้วยจับตัวเหนียวเป็นก้อนได้ง่าย ทำให้ร่างกายย่อยยาก อีกทั้งควรให้เด็กกินอาหารที่มีเส้นใยมากขึ้น เช่น บร็อคโคลี่ ลูกพรุน ลูกแพร์ ลูกพีช แอปเปิ้ลแบบปอกเปลือก ธัญพืชที่ผ่านการปรุงสุก ขนมปังธัญพืชไม่ขัดสี เป็นต้น ทั้งนี้ หากทารกยังไม่ได้เปลี่ยนมากินอาหารอื่น อาจนำผักผลไม้มาบดละเอียดและให้เด็กกินแทนได้
  • ให้ดื่มน้ำเยอะขึ้น พ่อแม่ควรให้เด็กดื่มน้ำอย่างเพียงพอ เพราะน้ำเปล่าและนมจะช่วยให้ร่างกายของเด็กชุ่มชื้นและขับถ่ายอย่างสม่ำเสมอ และอาจให้เด็กดื่มน้ำลูกพรุนหรือน้ำลูกแพร์เพื่อกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ โดยควรผสมน้ำเปล่าเพื่อเจือจางความเข้มข้นของน้ำผลไม้ไม่ให้หวานจนเกินไป

การดูแลและกระตุ้นให้ทารกขับถ่าย

นอกจากอาหารแล้ว อาจใช้การกระตุ้นด้วยวิธีอื่นเพื่อให้ทารกขับถ่ายได้ง่ายขึ้น เช่น

  • ช่วยขยับร่างกาย การเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยเร่งการย่อยอาหาร ส่งผลให้ร่างกายลำเลียงของเสียออกไปได้เร็ว โดยพ่อแม่อาจฝึกทารกที่ยังเดินไม่ได้ให้ถีบจักรยานกลางอากาศ หรือหากทารกยังคลานไม่ได้ อาจช่วยนวดกระตุ้นขา
  • นวดท้องเด็ก วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นลำไส้ ส่งผลให้ขับถ่ายได้ง่าย พ่อแม่อาจลองนวดท้องส่วนล่างด้านซ้ายของเด็กซึ่งอยู่ใต้สะดือประมาณ 3 นิ้วมือ โดยใช้ปลายนิ้วกดลงไปเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอประมาณ 3 นาที และควรหมั่นนวดวันละหลายครั้งจนกว่าเด็กจะถ่ายได้ปกติ
  • ทาว่านหางจระเข้ หากเด็กถ่ายลำบากจนมีเลือดออกหรือผิวหนังบริเวณทวารหนักฉีกขาด ควรพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและรับการรักษาเป็นอันดับแรก แต่ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับการรักษาอาจใช้ครีมที่มีส่วนผสมของว่านหางจระเข้ทาบริเวณดังกล่าวเพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวด
  • ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษา พ่อแม่ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาหรือวิธีรักษาอาการท้องผูกของเด็ก โดยแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาที่ช่วยให้อุจจาระไม่แข็งตัวเพื่อให้เด็กถ่ายง่ายขึ้นหรือใช้ยากลีเซอรีนเหน็บก้น อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้ยาเหน็บก้นเป็นประจำ เนื่องจากจะทำให้เด็กเคยชินและไม่ถ่ายเองตามปกติ รวมทั้งเลี่ยงไม่ให้เด็กรับประทานยาระบาย หากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน

ทารกท้องผูก รักษาอย่างไร ?

ปัญหาทารกท้องผูกดูแลได้ด้วยการใส่ใจพฤติกรรมการกินและการเคลื่อนไหวของเด็ก แต่หากวิธีดังกล่าวใช้ไม่ได้ผล พ่อแม่อาจใช้ยารักษาอาการท้องผูกสำหรับเด็กได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการใช้ที่ถูกต้องและปลอดภัยต่อทารกเสียก่อน โดยวิธีรักษาอาการท้องผูกของทารกด้วยการใช้ยาที่ทำได้เองที่บ้าน ได้แก่

  • เหน็บก้นด้วยกลีเซอรีน คือการเหน็บก้นด้วยยากระตุ้นการขับถ่ายชนิดหนึ่ง เหมาะกับทารกที่มีเลือดปนมากับอุจจาระ ยานี้หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยต้องปฏิบัติตามวิธีการใช้ที่ระบุในเอกสารกำกับยาหรือตามคำแนะนำของแพทย์
  • ใช้ยาระบาย เป็นยาถ่ายสำหรับเด็ก ตัวยามีส่วนผสมที่ช่วยให้อุจจาระไม่แข็งตัว ช่วยให้เด็กถ่ายได้ง่ายขึ้น แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาเสมอ

อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาทารกท้องผูกและขอคำแนะนำในการรักษาอาการดังกล่าว เนื่องจากแพทย์จะช่วยวินิจฉัยสาเหตุที่อาจเกิดจากปัญหาสุขภาพบางประการและให้การรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์อย่างเหมาะสม