ทารกเป็นหวัด คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไร ?

หากทารกเป็นหวัดคงทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกไม่สบายใจ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่อาจสงสัยว่าควรดูแลลูกน้อยอย่างไรดี หรือให้ลูกรับประทานยาได้หรือไม่ ทว่าปัญหานี้สามารถรับมือได้ โดยควรศึกษาข้อมูลเพื่อช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจอาการหวัดในทารก และเตรียมพร้อมดูแลเจ้าตัวเล็กให้อาการดีขึ้นจนหายเป็นปกติ

1629 ทารกเป็นหวัด Resized

ทารกเป็นหวัด สังเกตอย่างไร ?

เมื่อเป็นหวัดลูกน้อยอาจมีอาการไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ซึ่งน้ำมูกอาจหนาขึ้นจนเป็นสีเทา สีเหลือง หรือเป็นสีเขียวหากเป็นหวัดนานกว่า 1 สัปดาห์ และบางรายอาจมีไข้ต่ำร่วมด้วย โดยคุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตพฤติกรรมของลูกอย่างสม่ำเสมอ เพราะแม้เป็นหวัด ทารกก็จะยังสามารถเล่นและรับประทานอาหารได้ตามปกติ แต่หากทารกดูเซื่องซึม ร้องไห้อย่างอ่อนแรง ไม่ยอมรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ แสดงว่าเด็กอาจมีปัญหาสุขภาพที่รุนแรงกว่าอาการหวัด ซึ่งภาวะเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับทารกนอกเหนือจากการเป็นหวัดธรรมดา มีดังนี้

  • ไข้ โดยอาการจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและทำให้ทารกมีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ซึ่งอุณหภูมิปกติจะอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส
  • โรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น ติดเชื้อไวรัสในทางเดินอาหาร ซึ่งอาจทำให้ทารกท้องเสียและอาเจียน เป็นต้น
  • โรคภูมิแพ้ โดยทารกจะมีอาการคัน จาม น้ำตาและน้ำมูกไหล ซึ่งน้ำมูกที่ไหลออกมานั้นมักจะมีลักษณะเป็นของเหลวใส

ทั้งนี้ หากลูกน้อยมีอายุต่ำกว่า 3 เดือน และมีอาการหวัดหรือมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคหรือภาวะรุนแรงอื่น ๆ ได้

วิธีการรับมือเมื่อทารกเป็นหวัด

การดูแลเจ้าตัวเล็กด้วยวิธีต่อไปนี้ อาจช่วยบรรเทาอาการหวัดให้ดีขึ้นได้

  • บรรเทาอาการด้วยยา กรณีที่เด็กมีอายุมากกว่า 4 เดือนขึ้นไป อาจใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการไข้จากหวัดได้ แต่ไม่ควรซื้อยาตามร้านขายยาทั่วไปมาใช้เอง คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาและขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยากับเจ้าตัวเล็กเสมอ รวมทั้งควรอ่านฉลากยาอย่างละเอียด เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าปริมาณของยาที่ใช้นั้นเหมาะสมต่อลูกน้อย  
  • สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าดูแลและสังเกตอาการป่วยของลูกอย่างสม่ำเสมอ หากทารกเป็นหวัดนานกว่า 3 วัน และมีอาการที่รุนแรงขึ้น เช่น ไออย่างต่อเนื่อง หายใจลำบาก หายใจหอบเหนื่อย เป็นต้น อาจเป็นอาการบ่งชี้ของโรคปอดบวมได้ จึงควรพาเด็กไปพบแพทย์หากเด็กมีอาการดังกล่าว
  • ระบายเสมหะ กล้ามเนื้อของทารกนั้นยังไม่แข็งแรงพอที่จะไอเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมในระบบทางเดินหายใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงอาจมีเสมหะตกค้างอยู่ในลำคอ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจต้องช่วยระบายเสมหะเหล่านั้นออกไปเพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกอึดอัด โดยอาจอุ้มลูกไปห้องน้ำแล้วเปิดน้ำอุ่นทิ้งไว้เป็นเวลา 15 นาที เพราะอากาศที่ร้อนและไอน้ำในห้องน้ำจะช่วยระบายน้ำมูกและเสมหะที่อยู่ในลำคอของเจ้าตัวเล็กออกมา ซึ่งควรทำวิธีดังกล่าวก่อนนอน เนื่องจากขณะที่นอนอยู่นั้นเสมหะจะไหลลงสู่ลำคอและปอดของเด็กได้ นอกจากนี้ อาจติดตั้งเครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศบริเวณห้องนอน แต่ควรติดตั้งให้พ้นจากตัวเด็กและควรเปลี่ยนน้ำในเครื่องให้สะอาดทุกวัน
  • ล้างจมููก ในช่วง 6 เดือนแรกหลังลืมตาดูโลก ทารกจะหายใจทางจมูกเท่านั้น ซึ่งอาการหวัดอาจทำให้ทารกคัดจมูกและหายใจติดขัดได้ พ่อแม่อาจล้างจมูกให้ลูกโดยใช้ลูกยางดูดน้ำมูกออกไป แต่หากลูกยางนั้นมีขนาดใหญ่เกินไปสำหรับรูจมูกของลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่อาจใช้กระบอกฉีดยาสำหรับล้างหูที่มีขนาดเล็กล้างจมูกของลูกน้อยแทน โดยขณะที่สอดกระบอกฉีดยาเข้ารูจมูกของเด็ก ควรเอียงหัวกระบอกฉีดยาลงเล็กน้อยเพื่อให้ตั้งฉากกับใบหน้า จากนั้นจึงค่อย ๆ ฉีดน้ำให้ไหลผ่านโพรงจมูก นอกจากนี้ อาจใช้สเปรย์พ่นจมูกหรือน้ำเกลือหยอดล้างเพื่อทำความสะอาดจมูกของลูกน้อย ซึ่งสามารถหาอุปกรณ์เหล่านี้ได้ตามร้านขายยาทั่วไป หรืออาจผสมน้ำเกลือด้วยตนเองโดยใช้เกลือ 1 ใน 4 ส่วนของช้อนชาผสมกับน้ำสะอาด 8 ออนซ์ แล้วเอาไปต้มเป็นเวลา 10 นาที จากนั้นทิิ้งไว้ให้เย็นที่อุณหภูมิห้องก่อนนำมาใช้แบบวันต่อวัน
  • กระตุ้นให้ลูกดูดนม เมื่อเป็นหวัด เจ้าตัวเล็กอาจเบื่ออาหาร คุณพ่อคุณแม่จึงควรกระตุ้นให้ลูกดูดนมอยู่เสมอ หากลูกไม่ยอมดูดนมเลยควรไปปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำได้ นอกจากนี้ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้สารละลายอิเล็กโตรไลต์อย่างผงเกลือแร่สำหรับเด็กว่าปลอดภัยต่อลูกน้อยหรือไม่ และควรจับให้ลูกนั่งตรง ๆ ขณะป้อนนม เพื่อป้องกันมูกไหลลงไปที่คอ
  • ดูแลให้เด็กนอนพักผ่อน น้ำมูก เสมหะ และการไอ อาจส่งผลกระทบต่อการนอนของลูกน้อยได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจช่วยให้ลูกได้นอนหลับพักผ่อนมากขึ้นด้วยการปรับหรือหนุนหัวเตียงเด็กขึ้นเล็กน้อย หากลูกมีปัญหาในการนอนหลับ คุณพ่อคุณแม่อาจอาบน้ำอุ่นให้ลูกหรือเปิดเพลงให้เด็กฟัง เพื่อช่วยให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น

เมื่อไรควรพาเด็กไปพบแพทย์ ?

หากดูแลลูกน้อยด้วยวิธีข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ควรพาเด็กไปพบแพทย์ทันที

  • หายใจลำบาก
  • ไม่ยอมดูดนม หรือดูดนมน้อยกว่าเดิมมาก
  • มีไข้สูง
  • ไออย่างรุนแรง ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคไอกรนได้
  • มีสัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น ไม่ปัสสาวะเลยในช่วง 6 ชั่วโมง เป็นต้น

ทารกเป็นหวัด ป้องกันอย่างไร ?

การป้องกันทารกติดไข้หวัดนั้นอาจเป็นเรื่องยาก แต่คุณพ่อคุณแม่ก็อาจลดโอกาสที่เชื้อหวัดจะเข้าสู่ร่างกายของลูกน้อยได้ ดังนี้

  • อยู่ห่างจากผู้ที่ติดเชื้อหวัด และควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เจ้าตัวเล็กที่เป็นหวัดอยู่ใกล้ผู้ที่ป่วยหวัดจนกว่าอาการจะหายดีเป็นปกติ
  • ป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ โดยพยายามให้เจ้าตัวเล็กดูดนมบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นนมขวดหรือนมแม่ และอาจให้น้ำเมื่อทารกมีอายุมากกว่า 6 เดือน หากทารกปัสสาวะน้อยกว่า 5 ครั้ง/วัน อาจเข้าข่ายภาวะขาดน้ำได้
  • ล้างมือให้สะอาด เพราะกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของโรคติดต่อทั้งหมดนั้นสามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัส ดังนั้น ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าสมาชิกทุกคนในบ้านหรือบุคคลรอบข้างล้างมือทุกครั้งก่อนสัมผัสเจ้าตัวเล็ก และควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหารและหลังเปลี่ยนผ้าอ้อม นอกจากนี้ ควรเช็ดหรือล้างมือของลูกให้สะอาดอยู่เสมอด้วย
  • ให้นมลูกนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ สมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำว่าอาจให้นมลูกเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้เจ้าตัวเล็กได้รับประโยชน์สูงสุดจากการดื่มนมแม่ นอกจากนี้ งานวิจัยหนึ่งยังระบุด้วยว่าทารกที่ดื่มนมแม่ป่วยเป็นโรคหวัดน้อยกว่าทารกที่ดื่มนมผง เนื่องจากภูมิคุ้มกันในน้ำนมแม่นั้นสามารถป้องกันเชื้อโรคได้หลายชนิด  
  • หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ เพราะควันบุหรี่อาจส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบนของลูกน้อย ซึ่งทารกที่อาศัยอยู่กับผู้ที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเป็นหวัดได้ง่าย และจะหายเป็นปกติช้ากว่าทารกทั่วไป