คุณแม่ที่รักสวยรักงามอาจเกิดความสงสัยว่า การทาเล็บขณะตั้งครรภ์นั้นจะปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน เพราะในน้ำยาทาเล็บประกอบไปด้วยสารเคมีต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพคนท้องและทารกในครรภ์ ซึ่งการศึกษาข้อมูลต่อไปนี้จะช่วยไขข้อข้องใจของคุณแม่ และช่วยให้คุณแม่เรียนรู้วิธีป้องกันสารเคมีเข้าสู่ร่างกายจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ด้วย
คุณแม่ตั้งครรภ์ทาเล็บได้หรือไม่ ?
การใช้ยาทาเล็บและน้ำยาล้างเล็บขณะตั้งครรภ์นั้นสามารถทำได้ แต่ควรใช้ด้วยความระมัดระวังอยู่เสมอ เพราะการสัมผัสหรือสูดดมสารเคมีจากน้ำยาทาเล็บบ่อย ๆ อาจเป็นอันตรายได้
โดยสารเคมีที่มักใช้เป็นส่วนประกอบในยาทาเล็บ มีดังนี้
- โทลูอีน (Toluene) เป็นสารเคมีที่ช่วยให้น้ำยาทาเล็บมีผิวเรียบเมื่อทาลงบนเล็บ และเพิ่มความแข็งแรงให้แก่เล็บ ขณะเดียวกันก็ยังใช้เป็นส่วนประกอบในน้ำยาล้างเล็บด้วย ซึ่งการสูดดมหรือได้รับสารโทลูอีนเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้ดวงตา ลำคอ และปอดเกิดการระคายเคืองได้ แต่หากสูดดมหรือสัมผัสโดนสารนี้ในปริมาณมาก อาจทำให้ระบบประสาทเสียหายและทารกในครรภ์พิการได้
- ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) เป็นสารเคมีที่ช่วยให้น้ำยาทาเล็บแข็งตัวขึ้น ซึ่งการสูดดมสารฟอร์มาลดีไฮด์เข้าไปนั้น อาจทำให้ดวงตา จมูก ลำคอ และปอดเกิดการระคายเคืองได้ อีกทั้งการสัมผัสหรือสูดดมสารนี้เข้าไปในปริมาณมากและต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งได้ อย่างไรก็ตาม สารเคมีชนิดนี้อาจไม่ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ เพราะจะสลายไปอย่างรวดเร็วภายในร่างกายของคุณแม่
- ไดบูทิลพาธาเลต (Dibutyl Phthalate) เป็นสารที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นกับความอ่อนนุ่ม และลดความเปราะของเล็บ จัดเป็นสารเคมีอันตรายหากร่างกายได้รับติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้อวัยวะในร่างกายผิดปกติ ระบบสืบพันธุ์ผิดปกติโดยเฉพาะในเพศชาย และอาจขัดขวางการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อด้วย
ข้อควรระวังในการใช้ยาทาเล็บขณะตั้งครรภ์
คุณแม่ที่ต้องการทำเล็บอาจลดการสัมผัสสารเคมีจากยาทาเล็บด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- เลือกใช้ยาทาเล็บที่ไม่มีส่วนผสมของโทลูอีน ฟอร์มาลดีไฮด์ และไดบูทิลพาทาเลต หากจำเป็นต้องทาเล็บ ควรเลือกใช้ยาทาเล็บที่มีส่วนผสมของโทลูอีนและฟอร์มาลดีไฮด์ แต่ไม่ควรใช้เกิน 1 ครั้งต่อสัปดาห์
- เปิดหน้าต่างและประตูก่อนใช้ยาทาเล็บ เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
- ไม่ควรใช้ปากเป่ายาทาเล็บให้แห้ง เพราะอาจสูดดมสารเคมีในยาทาเล็บเข้าสู่ร่างกายได้ แต่อาจสะบัดข้อมือออกจากลำตัว เพื่อช่วยให้ยาทาเล็บแห้งเร็วขึ้นแทน
- เลือกใช้น้ำยาล้างเล็บที่ไม่มีส่วนผสมของอะซิโตน (Acetone) เพราะการสัมผัสสารดังกล่าวในปริมาณมากหรือติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ และอาจทำให้เด็กมีความผิดปกติแต่กำเนิดได้
- หลังล้างยาทาเล็บออก ควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่เสมอ เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างบนผิวหนัง
การตกแต่งเล็บแบบอื่น ๆ ปลอดภัยหรือไม่ ?
นอกจากการสัมผัสสารเคมีในน้ำยาทาเล็บอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว การตัดหรือตกแต่งเล็บมือและเล็บเท้าก็อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่ผิวหนังและเล็บได้ โดยเฉพาะคนที่ใช้บริการจากร้านทำเล็บที่ไม่สะอาด หรือใช้เครื่องมือที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ ซึ่งอาการอาจปรากฏทันทีหลังทำเล็บเสร็จ หรืออาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือนกว่าอาการจะปรากฏ
โดยอาการติดเชื้อที่พบบ่อย ได้แก่
- การติดเชื้อรา เช่น น้ำกัดเท้า เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เล็บเหลือง และเล็บอาจถูกดันขึ้นมาพ้นขอบผิวหนัง โดยอาจรักษาได้ด้วยการรับประทานยาหรือใช้ยาทาบริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อ
- การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เล็บขบ เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้มีอาการบวม แดง และรู้สึกร้อนบริเวณเล็บมือหรือเล็บเท้าที่มีการตกแต่ง และอาจต้องรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะหรือผ่าตัดเอาหนองบริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อออก
- การติดเชื้อไวรัส อาจทำให้เกิดหูดที่ฝ่าเท้าได้ โดยผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อจะมีลักษณะหนาและอาจมีตุ่มขึ้น ซึ่งอาจรักษาได้ด้วยการใช้ยาทาหรือการผ่าตัด
วิธีป้องกันการติดเชื้อจากการทำเล็บ
คุณแม่ที่ชื่นชอบการตกแต่งเล็บมือหรือเล็บเท้าในร้านทำเล็บ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าสถานประกอบการนั้นสะอาด มีอากาศถ่ายเทสะดวก อุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำเล็บผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว รวมทั้งควรบอกช่างทำเล็บไม่ให้ตัดหนังบริเวณเล็บออก เพราะอาจเสี่ยงทำให้เชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย จนส่งผลให้เกิดการติดเชื้อตามมาได้