ทำความรู้จักกับคอร์ติซอล ฮอร์โมนสำคัญของร่างกาย

เมื่อพูดถึงฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อร่างกาย หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมหมวกไตกันมาบ้างแล้ว ฮอร์โมนชนิดนี้ไม่เพียงทำหน้าที่เป็นฮอร์โมนความเครียด แต่ยังส่งผลต่อการทำงานของร่างกายส่วนอื่น ๆ อีกทั้งฮอร์โมนคอร์ติซอลสังเคราะห์ยังสามารถนำมาใช้รักษาโรคบางชนิดได้ด้วยเช่นกัน

หลังจากคอร์ติซอลถูกผลิตขึ้นที่ต่อมหมวกไตแล้ว ฮอร์โมนดังกล่าวจะเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง และปกติแล้วระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลจะขึ้นและลงอยู่ตลอดทั้งวัน ซึ่งช่วงเวลาที่คอร์ติซอลอยู่ในระดับต่ำที่สุดคือช่วงกลางดึก ส่วนเวลาที่คอร์ติซอลอยู่ในระดับสูงสุดคือช่วงเช้า อย่างไรก็ตาม ระดับฮอร์โมนที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปอาจก่อให้เกิดอาการผิดปกติบางอย่างต่อร่างกายได้

ทำความรู้จักกับคอร์ติซอล ฮอร์โมนสำคัญของร่างกาย

คอร์ติซอลสำคัญอย่างไรต่อร่างกาย

คอร์ติซอลเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อระบบเผาผลาญในร่างกาย เนื่องจากคอร์ติซอลจะช่วยกระตุ้นให้ตับผลิตน้ำตาลในเลือดมากขึ้น ช่วยให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงไขมัน โปรตีนและคาร์โบไฮเดรตมาเป็นพลังงาน ควบคุมวงจรการนอนและตื่น บรรเทาอาการอักเสบในร่างกาย ปรับสมดุลให้ระดับความดันโลหิต รวมทั้งยังช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกายเพื่อให้สามารถรับมือกับความเครียดและคืนสมดุลให้กับร่างกายในภายหลังได้เป็นอย่างดี

ส่วนคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ที่เป็นคอร์ติซอลสังเคราะห์หรือยาที่มีกลไกคล้ายคอร์ติซอล (Cortisol-like Medications) นั้นอาจนำมาใช้เพื่อรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคหืด โรคผิวหนังอักเสบ โรคสะเก็ดเงิน โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคลำไส้อักเสบ โรคแอดดิสัน (Addison's Disease) โรคมะเร็งบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน และบรรเทาอาการที่เกิดหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยยาชนิดนี้มีหลายรูปแบบ ทั้งแบบยาเม็ดสำหรับรับประทาน ยาทา ยาฉีด และยาพ่น

อาการที่เกิดขึ้นเมื่อระดับคอร์ติซอลผิดปกติ

เมื่อระดับคอร์ติซอลในร่างกายเกิดความผันผวนหรือผิดปกติ อาจก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้

ระดับคอร์ติซอลต่ำเกินไป

หากร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลในระดับที่ต่ำเกินไป อาจส่งผลให้เกิดโรคแอดดิสันได้ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการดังนี้

  • อ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ผิวเปลี่ยนสี เช่น ผิวบริเวณหน้า คอ หลังมือ ผิวบริเวณที่เป็นแผลเป็นหรือเป็นรอยพับ
  • ความดันโลหิตต่ำ

ระดับคอร์ติซอลสูงเกินไป

หากร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลมากเกินไป อาจก่อให้เกิดอาการหรือโรคต่าง ๆ ได้ เช่น ไม่มีแรง เกิดปัญหาด้านการนอนหลับ ระบบภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่อง เกิดภาวะสมองล้า (Brain Fog) ผิวช้ำง่าย น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

รวมทั้งอาจก่อให้เกิดโรคเรื้อรังอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) รวมถึงกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing Syndrome) ที่จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ขนดก น้ำตาลในเลือดสูง และน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

วิธีรักษาระดับคอร์ติซอลในร่างกายอย่างเหมาะสม

การรักษาสมดุลของระดับคอร์ติซอลในร่างกายสามารถทำได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยลดความเครียดและเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง แต่ไม่ควรหักโหมจนเกินไป เพราะการออกกำลังกายอย่างหนักอาจทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มสูงขึ้นชั่วคราวได้
  • ฝึกหายใจ เพื่อสร้างความผ่อนคลายและลดความเครียด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ โดยอาจจัดบรรยากาศภายในห้องนอนให้เหมาะสม ลดการสัมผัสแสงสีฟ้าจากหน้าจอก่อนนอน สร้างกิจวัตรประจำวันก่อนนอนและทำอย่างสม่ำเสมอ เข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดียวกันทุกวัน ซึ่งวิธีเหล่านี้จะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
  • ลดความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ พูดคุยเรื่องสนุกสนานกับผู้อื่น ดื่มเครื่องดื่มสมุนไพรที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เช่น คาโมมายล์ (Chamomile) โรดิโอลา (Rhodiola) หรือโสมอินเดีย (Ashwagandha)

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีระดับคอร์ติซอลต่ำกว่าปกติหรือป่วยด้วยโรคแอดดิสัน ควรรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจร่างกายเป็นประจำ โดยแพทย์อาจจ่ายยาเพิ่มเติมหากพบว่าผู้ป่วยมีความเครียด ซึ่งผู้ป่วยควรพกยาติดตัวไว้เสมอ เพราะหากลืมรับประทานยาอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ป่วยได้

นอกจากนี้ ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุดหากพบว่าตนเองมีอาการของภาวะฉุกเฉินทางต่อมหมวกไต (Adrenal Crisis) เช่น อาเจียนหรือท้องเสียอย่างรุนแรง เกิดภาวะขาดน้ำ ความดันต่ำมาก ปวดท้อง ปวดหลังช่วงล่างหรือขาอย่างฉับพลันและรุนแรง มึนงงหรือหมดสติ เพราะภาวะนี้เป็นภาวะที่มีความรุนแรงจนอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม