ทำความรู้จักกับถุงน้ำในรังไข่ พร้อมสัญญาณที่ควรสังเกต

ถุงน้ำในรังไข่หรือซีสต์รังไข่ (Ovarian Cyst) เกิดจากความผิดปกติในการตกไข่ ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป มีด้วยกันหลายชนิด ส่วนใหญ่ไม่ค่อยแสดงอาการและมักหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่บางชนิดก็อาจเป็นอันตรายได้ ผู้หญิงหลายคนจึงมักกังวลเกี่ยวกับโรคนี้

ถุงน้ำ (Cyst) เป็นการเจริญเติบโตของร่างกายที่ผิดปกติที่พบตามอวัยวะต่าง ๆ อย่างรังไข่หรือใต้ผิวหนัง โดยภายในถุงน้ำมักประกอบไปด้วยของเหลวหรือสารที่มีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลว แม้ว่าถุงน้ำในรังไข่จะเป็นการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ แต่มักไม่เป็นอันตราย ยกเว้นในบางกรณีเท่านั้น ซึ่งบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับถุงน้ำในรังไข่และสัญญาณอันตรายของภาวะดังกล่าวมาฝากกัน

ถุงน้ำในรังไข่

ทำความรู้จักชนิดและอาการของถุงน้ำในรังไข่

ซีสต์รังไข่นั้นมีหลายชนิด ได้แก่ ถุงน้ำรังไข่ชนิดธรรมดา (Functional Cyst) ถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์ (Dermoid Cyst) ถุงน้ำเนื้องอกซีสตาดีโนมา (Cystadenoma) เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) แต่ชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ถุงน้ำรังไข่ชนิดธรรมดา ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่อันตรายและสามารถหายได้เอง โดยมีสาเหตุมาจากการที่ถุงไข่ในรังไข่ไม่แตกออก จึงทำให้ของเหลวในนั้นก่อตัวกลายเป็นถุงน้ำ แต่เมื่อเวลาผ่านไปถุงน้ำนี้ก็จะลอกและหลุดไปกับการตกไข่เองตามธรรมชาติ

โดยส่วนใหญ่แล้ว ถุงน้ำในรังไข่เหล่านี้มักไม่แสดงอาการผิดปกติให้สังเกตเห็น แต่บางคนก็อาจมีอาการ ปวดหน่วงหรือปวดแปลบบริเวณท้องน้อย รู้สึกแน่นท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ เจ็บเต้านม ปวดหลังส่วนล่างและต้นขา ประจำเดือนมาไม่ปกติ และปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ

ถุงน้ำในรังไข่อันตรายไหม เป็นมะเร็งหรือไม่ ?

อย่างที่ได้กล่าวไปว่าซีสต์ในรังไข่มักหายได้เองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ อย่างภาวะถุงน้ำรังไข่แตกหรือภาวะรังไข่บิดขั้ว (Ovarian Torsion) หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาก็อาจเป็นอันตรายได้

ดังนั้น หากมีอาการของถุงน้ำรังไข่ติดต่อกันเป็นเวลานาน มีอาการที่รุนแรงขึ้น หรือพบอาการอื่น ๆ อย่างปวดท้องน้อยอย่างรุนแรงแบบฉับพลัน มีไข้ เวียนศีรษะ เป็นลม หรือหายใจถี่ ควรไปพบแพทย์ทันที อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ภาวะนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้น้อยมาก ในผู้ป่วยบางรายอาจพบภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome) หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะมีลูกยากได้

สำหรับถุงน้ำรังไข่กับโรคมะเร็งนั้น ในทางการแพทย์ถือว่ามีความเสี่ยงที่เซลล์บริเวณนั้นอาจกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้เช่นกัน แต่อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นร่วมด้วย อย่างพันธุกรรม การใช้ชีวิต หรือโรค เช่น อายุที่มากขึ้น ประจำเดือนหมด ไม่เคยตั้งครรภ์ ไม่มีบุตร มีประจำเดือนเร็วในตอนเด็ก เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนช้ากว่าคนอื่น รวมไปถึงผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติการเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงที่ถุงน้ำจะกลายเป็นเซลล์มะเร็งนั้นมีน้อยมาก

ถุงน้ำในรังไข่รับมืออย่างไร ?

ในผู้ป่วยที่ตรวจพบถุงน้ำแต่ไม่พบอาการอื่น ๆ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหมั่นสังเกตอาการของตนเองเป็นประจำ และนัดมาทำการตรวจเพื่อติดตามอาการว่าถุงน้ำดังกล่าวหลุดออกไปหรือมีขนาดเล็กลงแล้วหรือยัง เพราะส่วนใหญ่ถุงน้ำมักจะหลุดไปเองภายในเวลาไม่กี่เดือน แต่หากถุงน้ำยังไม่หลุดออกหรือมีขนาดลดลง แพทย์อาจทำการรักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม อย่างการใช้ยาคุมกำเนิดหรือยาฮอร์โมนชนิดอื่น ๆ เพื่อเร่งให้ถุงน้ำหลุดออกได้เร็วขึ้น

ในปัจจุบันยังไม่พบวิธีในการป้องกันภาวะนี้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยจึงควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติอยู่เสมอ และควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นประจำทุกปี เพราะการตรวจพบโรคเร็วอาจช่วยให้การรักษามีโอกาสสำเร็จเพิ่มมากขึ้น