Brachytherapy หรือ Internal Radiation (การรักษาด้วยรังสีระยะใกล้) เป็นการรักษาด้วยรังสี (Radiation Therapy) ชนิดหนึ่งที่แพทย์ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยมะเร็งบางชนิด โดยการนำแร่ที่ให้สารกัมมันตรังสีเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยบริเวณที่มีก้อนเนื้อมะเร็งอยู่เพื่อปล่อยรังสีกำจัดเซลล์มะเร็ง
Brachytherapy เป็นวิธีที่จะช่วยให้แพทย์ใช้รังสีเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งได้เฉพาะจุด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายแก่เนื้อเยื่อและอวัยวะบริเวณใกล้เคียง โดยชนิดของโรคมะเร็งที่แพทย์มักใช้ เช่น ปากมดลูก ต่อมลูกหมาก และมะเร็งที่ดวงตาบางชนิด อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีนี้มักจะใช้ได้ผลเฉพาะในกรณีที่มะเร็งยังไม่ลุกลามหรือแพร่กระจายอย่างรุนแรงเท่านั้น
ขั้นตอนการรักษาด้วยวิธี Brachytherapy
ก่อนที่แพทย์จะพิจารณารักษาผู้ป่วยด้วยวิธี Brachytherapy แพทย์จะสอบถามประวัติ และตรวจสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย รวมถึงอาจใช้วิธีการตรวจทางการแพทย์บางอย่างร่วมด้วย เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) เพื่อช่วยให้แพทย์นำผลการตรวจไปประกอบการพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน
จากนั้นแพทย์จะให้ผู้ป่วยเตรียมความพร้อมก่อนการรักษา เช่น งดน้ำงดอาหาร สวนล้างลำไส้ หรือหยุดใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด อย่างยาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด หรือยาบางชนิดในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs)
ในขั้นตอนการรักษา แพทย์อาจจะให้ยาระงับความรู้สึก และวางอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้สำหรับใส่แร่ปล่อยสารกัมมันตรังสีเข้าไปในร่างกายผู้ป่วยบริเวณที่มีก้อนเนื้อมะเร็งอยู่ จากนั้น แพทย์จะใส่แร่ที่ให้สารกัมมันตรังสีเข้าไปในอุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อให้แร่ปล่อยรังสีกำจัดเซลล์มะเร็ง
โดยในระหว่างขั้นตอนการฝังแร่ แพทย์อาจจะใช้วิธีตรวจด้วยภาพเอกซเรย์ร่วมด้วย เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถระบุตำแหน่งที่จะฝังอุปกรณ์และแร่ได้อย่างแม่นยำ หรืออาจใช้ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เอ็มอาร์ไอ หรืออัลตราซาวด์
ทั้งนี้ แร่ที่แพทย์ใช้ในการรักษาจะมีอยู่หลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีลักษณะการทำงานและความเข้มข้นของรังสีที่แตกต่างกันไป บางชนิดแพทย์อาจใช้เพียงแค่ไม่กี่นาที บางชนิดอาจใช้นานหลายวัน หรือบางชนิดอาจจำเป็นต้องใส่ไปตลอด โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาชนิดของแร่และความถี่ในการรักษาตามความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน
เมื่อสิ้นสุดการรักษา แพทย์อาจจะพิจารณาให้ผู้ป่วยค้างที่โรงพยาบาลเพื่อพักฟื้น หรือกลับไปพักที่บ้าน ขึ้นอยู่กับสุขภาพของผู้ป่วย ชนิดของการรักษา และดุลยพินิจของแพทย์ โดยในระหว่างพักฟื้น ผู้ป่วยควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมตัวเองอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้อื่นไประยะหนึ่ง โดยเฉพาะกับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และเด็ก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของรังสีไปสู่ผู้อื่น โดยระยะเวลาจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
ผลข้างเคียงที่อาจพบจากการรักษาด้วยวิธี Brachytherapy
ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยวิธี Brachytherapy จะขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ตำแหน่ง และขั้นตอนการรักษาที่แพทย์ใช้ โดยอาการผิดปกติที่ผู้ป่วยอาจพบได้ เช่น
- ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเล็ด
- เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
- อ่อนเพลีย
- ท้องเสียหรือท้องผูก
- ผมร่วง
- ปวดศีรษะ
- เจ็บปาก
- คลื่นไส้ อาเจียน
- หายใจไม่อิ่ม
ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่ อาการผิดปกติที่พบจากการรักษาด้วยวิธี Brachytherapy มักค่อย ๆ ดีขึ้นได้เองภายในช่วง 2–3 เดือนเดือนหลังหยุดการรักษา
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบ หากพบอาการผิดปกติบางอย่างที่มีความรุนแรง เช่น รู้สึกแสบร้อน เหงื่อออกมากผิดปกติ หายใจลำบาก กลืนอาหารลำบาก ปวดท้องขั้นรุนแรง อาเจียน ท้องเสีย กลั้นปัสสาวะไม่ได้ หรือกลั้นอุจจาระไม่ได้ เป็นต้น