หลายคนคงเคยได้ยินหรือเฝ้าติดตามอย่างใจจดใจจ่อเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของไทยอย่าง ChulaCov19 เพราะหากวัคซีนชนิดนี้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และด้านต่าง ๆ ได้ด้วยดี ก็จะพร้อมสู่ขั้นตอนการฉีดจริง ทำให้เรามีโอกาสกลับมาใช้ชีวิต ได้ตามปกติ
ที่จริงแล้ว วัคซีน ChulaCov19 หรือวัคซีนจุฬาคอฟ19 นั้นเกิดจากการคิดค้น พัฒนา และต่อยอดองค์ความรู้ในการผลิตวัคซีนภายใต้การนำของศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จากหลายภาคส่วนทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
ในขณะนี้ วัคซีน ChulaCov19 ยังอยู่ในระหว่างการทดสอบทางคลินิก โดยคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จพร้อมแจกจ่ายสู่ประชาชนในกลางปี พ.ศ. 2565 บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลของวัคซีน ChulaCov19 ที่ทุกคนควรรู้ เพื่อความเตรียมพร้อมก่อนได้รับการฉีดวัคซีนในอนาคต
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับวัคซีน ChulaCov19
บางคนอาจได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีต้นกำเนิดจากต่างประเทศแล้ว เลยยังไม่ทราบถึงการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 ที่คิดค้นโดยคนไทยอยู่ในขณะนี้ จริง ๆ แล้ว วัคซีนชนิดนี้มีความแตกต่างกับวัคซีนที่มีใช้ในประเทศไทยอย่างวัคซีน ChAdOx1 nCoV–19 (AZD1222) จากบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และวัคซีน CoronaVac จากบริษัทซิโนแวค (Sinovac) ค่อนข้างมาก โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ชนิดของวัคซีน ChulaCov-19
ChulaCov19 จัดเป็นวัคซีนชนิด mRNA (Messenger Ribonucleic Acid Vaccine) แตกต่างจากวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกาที่เป็นชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral Vector Vaccine) ซึ่งเลือกเชื้อไวรัสที่ปลอดภัยมาเป็นพาหะนำสารพันธุกรรมของไวรัสโรคโควิด-19 และบริษัทซิโนแวคที่เป็นชนิดเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) หรือเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ที่ถูกทำให้ตายแล้วจึงนำมาฉีดเข้าสู่ร่างกาย
ส่วนเทคโนโลยีแบบ mRNA เป็นการสังเคราะห์ชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของไวรัสต้นเหตุโรคโควิด-19 ในห้องปฏิบัติการ ไม่ได้ใช้ตัวไวรัสที่ยังมีชีวิต โดยวัคซีนจะเข้าไปช่วยร่างกายสร้างโปรตีนที่พบบนผิวของไวรัส อย่างสไปก์โปรตีน (Spike Protein) เพื่อมากระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้พร้อมต่อการต่อสู้และกำจัดเชื้อไวรัสที่จะเข้ามา
ทั้งนี้ การกระตุ้นการสร้างโปรตีนของวัคซีนชนิด mRNA จะไม่ทำให้นิวเคลียสในเซลล์อันเป็นที่อยู่ของ DNA เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติแต่อย่างใด และจะสลายไปเองภายในเวลาไม่นาน
2. ความคืบหน้าของวัคซีน ChulaCov-19
ปัจจุบัน วัคซีน ChulaCov19 ผ่านการทดสอบระยะที่ 1 ในผู้ทดลองสองช่วงอายุ ได้แก่ กลุ่ม 18–55 ปี และกลุ่ม 65–75 ปี จำนวนทั้งหมด 72 คน เพื่อค้นหาปริมาณวัคซีนที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพสูงสุด และกระตุ้นภูมิได้ โดยใช้ปริมาณวัคซีนของไฟเซอร์ (Pfizer) และโมเดอร์นา (Moderna) เป็นแนวทาง เนื่องจากเป็นวัคซีนชนิด mRNA เช่นเดียวกัน
หลังจากนั้นการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 จะก้าวเข้าสู่การทดสอบระยะที่ 2 ในผู้ทดลองจำนวน 150–300 คน โดยวางแผนจะเริ่มฉีดวัคซีนในช่วงเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2564 คาดว่าเสร็จสิ้นและทราบผลช่วงปลายเดือนตุลาคมภายในปีเดียวกันนี้ จากนั้นจึงเริ่มการทดสอบระยะที่ 3 ในผู้ทดลองที่มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งอาจกินเวลาต่อไปอีกระยะหนึ่ง
3. วัคซีน ChulaCov-19 กับไวรัสกลายพันธุ์
นอกจากวัคซีนรุ่นแรกที่พัฒนาเพื่อการป้องโรคโควิด-19 แล้ว ยังมีการพัฒนาและทดลองวัคซีนรุ่นที่ 2 ในสัตว์ควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยมีเป้าหมายในการป้องกันเชื้อดื้อยาและเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ต่าง ๆ อาทิ สายพันธุ์อัลฟา (B.1.1.7) จากอังกฤษ สายพันธุ์เบต้า (B.1.351) จากแอฟริกาใต้ สายพันธุ์แกมม่า (P.1) จากบราซิล หรือสายพันธุ์เดลต้า (B.1.617.2) จากอินเดีย
4. ข้อดีของวัคซีน ChulaCov-19
จากการทดสอบและพัฒนาที่ผ่านมา วัคซีน ChulaCov19 มีข้อดีในด้านการเก็บรักษา โดยสามารถเก็บในอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส นานถึง 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส นาน 2 สัปดาห์ ซึ่งเอื้อต่อการเก็บรักษามากกว่าวัคซีนอื่น ๆ อีกหนึ่งข้อดีก็คือ วัคซีน mRNA ผลิตในปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว และใช้เวลาเพียงไม่นาน โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งโรงงานผลิตขนาดใหญ่
5. ผลข้างเคียงของวัคซีน ChulaCov-19
หลังผ่านการทดสอบระยะที่ 1 ผลปรากฏว่า ผู้ทดลองที่ได้รับการฉีดวัคซีน ChulaCov 19 ครบ 2 เข็ม มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นเล็กน้อยไปจนถึงปานกลาง อาทิ ปวดบริเวณจุดที่ฉีดวัคซีน มีไข้ หนาวสั่น และรู้สึกอ่อนเพลีย ทว่าผู้ทดลองมักมีอาการดีขึ้นภายในไม่กี่วัน โดยข้อมูลด้านผลข้างเคียงยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมในการทดสอบระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ด้วย
อย่างไรก็ตาม จนกว่าการพัฒนาและผลิตวัคซีน ChulaCov19 จะประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง ทุกคนควรดูแลตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือให้สะอาด พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก หลีกเลี่ยงการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เว้นระยะห่างทางสังคม และแม้จะได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็ควรปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้โอกาสในการติดเชื้อโรคลดน้อยลงที่สุด
ทั้งนี้ หากพบอาการหรือความผิดปกติใด ๆ ที่เข้าข่ายโรคโควิด-19 อาทิ มีไข้ สั่น ไอ หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อหรือปวดตัว ปวดศีรษะ ลิ้นไม่รับรสชาติ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่หรือบุคคลากรทางการแพทย์ทราบ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
ข้อมูล ณ วันที่ 1 กันยายม 2564