เชื้อราที่ผิวหนัง เป็นปัญหาทางผิวหนังที่พบได้บ่อยทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ส่งผลให้เกิดอาการคัน แดง บวม เป็นผื่น หรือเกิดการระคายเคืองบริเวณผิวหนัง โดยสามารถเกิดได้กับทุกส่วนของร่างกาย อีกทั้งยังสร้างความรำคาญและทำให้ขาดความมั่นใจได้
โรคเชื้อราที่ผิวหนัง หรืออีกชื่อหนึ่งคือโรคเชื้อรา เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อรา ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ตามพื้นดิน พืช พื้นผิวของเครื่องใช้หรือเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน รวมถึงผิวหนังของมนุษย์
การติดเชื้อราอาจเกิดได้จากการสัมผัสกับเชื้อราโดยตรง การสัมผัสผู้ติดเชื้อ สัตว์ เสื้อผ้าและสิ่งของเครื่องใช้ ส่วนการรักษาเชื้อราที่ผิวหนังนั้นทำได้โดยการใช้ยาต้านเชื้อราควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรม
5 โรคเชื้อราที่ผิวหนังที่พบได้บ่อย
โรคติดเชื้อราบริเวณผิวหนังนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย มีลักษณะอาการที่หลากหลาย โดยโรคที่พบได้ทั่วไปมีดังนี้
1. กลาก (Ringworm)
กลากเป็นโรคติดเชื้อราบนผิวหนังที่พบได้บ่อย โดยผู้ติดเชื้อจะมีผื่นคันปรากฏบนผิวหนังเป็นวงแดงหรือขุยสีขาว และอาจมีอาการอักเสบคล้ายผื่นแดงเกิดขึ้นร่วมด้วย ซึ่งกลากสามารถขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ตั้งแต่หนังศีรษะ ใบหน้า มือ เท้า เล็บ และขาหนีบ โดยพบได้กับคนทุกเพศทุกวัย
สำหรับสาเหตุของกลากนั้นเกิดจากเชื้อราที่ผิวหนังในกลุ่มเดอมาโทไฟท์ (Dermatophytes) ที่อาศัยอยู่บนเซลล์ผิวหนังชั้นนอกของมนุษย์ซึ่งแพร่กระจายได้จากการสัมผัสคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อ การสัมผัสดินที่มีเชื้อรา และการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อราเกาะอยู่ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน และหวี
2. เกลื้อน (Tinea Versicolor)
เกลื้อนเป็นโรคติดเชื้อเชื้อราที่ผิวหนัง สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่พบได้บ่อยในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น มักเกิดขึ้นบริเวณแขนส่วนบน หน้าอก และหลัง ปรากฏเป็นดวงเล็ก ๆ สีแดง ชมพู หรือน้ำตาล อาจมีสีเข้มหรืออ่อนกว่าผิวหนังบริเวณรอบ ส่งผลให้ผิวแห้ง ตกสะเก็ด และคัน
โรคเกลื้อนเกิดจากเชื้อมาลาสซีเซีย (Malassezia) ซึ่งปกติผิวของคนเราส่วนใหญ่จะมีเชื้อราชนิดนี้อยู่แล้ว แต่จำนวนที่มากกว่าปกติจะส่งผลให้ติดเชื้อได้ สำหรับปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เชื้อราเจริญเติบโตมากเกินไป ได้แก่ สภาพอากาศที่ร้อน สภาพผิวมัน ภาวะเหงื่อออกมาก การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ
ทั้งนี้ โรคเกลื้อนจะไม่แพร่ไปสู่ผู้อื่น เพราะคนส่วนใหญ่มักมียีสต์มาลาสซีเซียอยู่บนผิวหนังอยู่แล้ว
3. สังคัง (Tinea Cruris)
สังคังเป็นโรคติดเชื้อราบนผิวหนังที่มักเกิดบริเวณต้นขาด้านในและขาหนีบ ส่งผลให้ผิวหนังบริเวณดังกล่าวเป็นผื่นแดงอักเสบและคัน อาจปรากฏเป็นแผ่นหรือเป็นวง พบได้บ่อยในเพศชายวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ โดยอาการอาจรุนแรงขึ้นหลังการออกกำลังกาย และอาจแพร่กระจายไปสู่บริเวณก้นและหน้าท้องได้
สาเหตุของการเกิดสังคังนั้นมาจากการติดเชื้อราที่เจริญเติบโตได้ดีในที่อับและเปียกชื้น ซึ่งเชื้อสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนและผ่านการใช้สิ่งของที่ติดเชื้อร่วมกัน เช่น ผ้าขนหนู และเสื้อผ้า
4. เชื้อราที่เท้า
เชื้อราที่เท้า หรืออีกชื่อหนึ่งคือฮ่องกงฟุต หรือน้ำกัดเท้า เป็นโรคติดเชื้อราที่ผิวหนังบริเวณเท้าและง่ามนิ้วเท้า มักจะเกิดขึ้นในผู้ที่มีเหงื่อออกเท้ามากขณะสวมใส่รองเท้าที่คับแน่นเกินไป ส่งผลให้มีอาการคัน เกิดผื่นแดง และอาจมีแผลหรือตุ่มน้ำเกิดร่วมด้วย โดยโรคเชื้อราที่เท้าเป็นโรคติดต่อที่สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสผู้ติดเชื้อหรือการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น ผ้าเช็ดตัว ถุงเท้า และรองเท้า
5. โรคติดเชื้อราแคนดิดา
โรคติดเชื้อราที่ผิวหนังเกิดจากเชื้อราแคนดิดา (Candida) มักปรากฏเป็นผื่นแดงคันคล้ายตุ่มสิวบริเวณผิวหนังที่อับชื้นและตามรอยพับของร่างกาย เช่น ข้อพับของแขน ขา รักแร้ ขาหนีบ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคอ้วนและโรคเบาหวาน
นอกจากนี้ เชื้อราชนิดนี้ยังทำให้เกิดผื่นผ้าอ้อมในทารก การติดเชื้อในช่องคลอดในเพศหญิง การติดเชื้อบริเวณเล็บและช่องปากได้ด้วย
แนวทางการรักษาเชื้อราที่ผิวหนัง
โรคเชื้อราที่ผิวหนังสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อรา โดยในท้องตลาดมีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน แต่กลุ่มยาที่ถูกนำมาใช้รักษาอย่างแพร่หลายเป็นยาต้านเชื้อรากลุ่มอิมิดาโซล (Imidazoles) ซึ่งเป็นยาทาภายนอกที่มีคุณสมบัติกำจัดเชื้อรา และยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายได้โดยตรง
ผู้ป่วยสามารถหาซื้อยาต้านเชื้อรากลุ่มอิมิดาโซลได้ตามร้านขายยาทั่วไป ซึ่งมีอยู่หลากหลายรูปแบบ ทั้งยาครีม ยาเหน็บ ยาเม็ด โลชั่น หรือสเปรย์ โดยตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่
คีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
คีโตโคนาโซลเป็นยาที่ใช้รักษาการติดเชื้อราที่ผิวหนัง เช่น กลาก เกลื้อน สังคัง เชื้อราที่เท้า เชื้อราที่หนังศีรษะ และการติดเชื้อยีสต์ มีทั้งรูปแบบสเปรย์ ครีม และแชมพู ซึ่งมีวิธีใช้ต่างกัน ดังนี้
- ยารูปแบบสเปรย์ พ่นสเปรย์ในบริเวณที่มีอาการวันละ 1–2 ครั้ง ต่อเนื่องกัน 2–4 สัปดาห์
- ยารูปแบบครีม ใช้ทาบริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 2–6 สัปดาห์
- ยารูปแบบแชมพู ใช้ทุก ๆ 3–4 วัน ติดต่อกันเป็นเวลา 8 สัปดาห์
ไอทราโคนาโซล (Itraconazole)
ไอทราโคนาโซลเป็นยารับประทานที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราในบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น เล็บมือ เล็บเท้า ในช่องปาก ลำคอ หรือหลอดอาหาร ซึ่งปริมาณการรับประทานยาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรคที่ผู้ป่วยเป็น ควรใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง
โคลไตรมาโซล (Clotrimazole)
โคลไตรมาโซลเป็นยาต้านเชื้อราใช้รักษาโรคติดเชื้อราที่ผิวหนัง เช่น กลาก เกลื้อน สังคัง เชื้อราที่เท้า เชื้อราที่เล็บ ผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณซอกพับ โรคเชื้อราจากการติดเชื้อแคนดิดา และผื่นผ้าอ้อม เป็นต้น
ตัวยามีทั้งรูปแบบครีม สเปรย์ และยาน้ำ โดยใช้ทาผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อวันละ 2–3 ครั้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ในบางผลิตภัณฑ์อาจนำยาโคลไตรมาโซลไปผสมกับตัวยาอื่นเพื่อให้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบร่วมด้วย
ไบโฟนาโซล (Bifonazole)
ไบโฟนาโซลเป็นยากลุ่มต้านเชื้อราที่ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ ใช้สำหรับการรักษาโรคติดเชื้อทางผิวหนัง เช่น กลาก เกลื้อน สังคัง เชื้อราที่เท้า และผื่นคันอื่น ๆ ที่มีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา โดยตัวยาสามารถซึมผ่านผิวหนังที่ติดเชื้อได้ดี ใช้ทาบาง ๆ บริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อวันละ 1 ครั้งก่อนนอน เป็นเวลา 2–3 สัปดาห์ หรือทาตามคำสั่งของแพทย์อย่างต่อเนื่อง แม้มีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรอ่านฉลากยาให้ละเอียดทุกครั้งและปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้ยาอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา เนื่องจากการใช้ยาเป็นระยะเวลานานกว่าที่กำหนดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ซึ่งระยะเวลาของการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดของการติดเชื้อที่เป็น ความรุนแรงของโรค และปัญหาสุขภาพ
วิธีป้องกันเชื้อราที่ผิวหนัง
โรคเชื้อราที่ผิวหนังป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขอนามัยของตนเองอยู่เสมอ รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ ดังนี้
- ไม่ใส่เสื้อผ้า ถุงเท้า หรือชุดชั้นในซ้ำ และเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งหลังว่ายน้ำหรือออกกำลังกาย
- ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า กรรไกรตัดเล็บ หวี
- ทำความสะอาดสิ่งของที่ต้องใช้ร่วมกับผู้อื่นทุกครั้งก่อนใช้ เช่น เสื่อ อุปกรณ์ในฟิตเนส
- ใช้ยาต้านเชื้อราชนิดผงโรยในรองเท้า
- ไม่ใส่รองเท้าหรือเสื้อผ้าที่มีขนาดเล็กเกินไป
- หลีกเลี่ยงการเดินบนพื้นด้วยเท้าเปล่า
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่มีอาการหรือสัญญาณของโรคติดเชื้อรา เช่น ขนร่วง มีอาการคันและเกาบ่อย