ที่ตรวจครรภ์ วิธีใช้และอ่านผลอย่างถูกวิธี

การตรวจด้วยที่ตรวจครรภ์หรือชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยปัสสาวะ (Pregnancy Test) มักเป็นตัวเลือกแรกในการตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตนเองเบื้องต้นเมื่อมีอาการที่คล้ายคลึงกับคนท้อง เช่น ประจำเดือนขาด อาเจียน เวียนหัว เนื่องจากความสะดวกในการใช้งานและหาซื้อได้ง่าย อีกทั้งยังมีหลายแบบให้เลือกใช้ได้ตามต้องการ

ที่ตรวจครรภ์จะตรวจหาฮอร์โมนจากปัสสาวะที่เรียกว่า ฮอร์โมนฮิวแมน คอริโอนิก โกนาโดโทรพิน (Human Chorionic Gonadotropin: HCG) หรือฮอร์โมนเอชซีจี ซึ่งสร้างจากรกของตัวอ่อนหลังการปฏิสนธิของไข่กับอสุจิ และฝังตัวที่ผนังมดลูกประมาณ 6–10 วัน โดยปริมาณฮอร์โมนจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าทุก 2–3 วัน จึงทำให้สามารถตรวจการตั้งครรภ์ในช่วงแรกได้จากน้ำปัสสาวะ

ที่ตรวจครรภ์

คำแนะนำในการใช้ที่ตรวจครรภ์

วิธีที่ช่วยให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด ได้แก่

  • อ่านวิธีการใช้และคำแนะนำที่แนบมากับที่ตรวจครรภ์อย่างละเอียด
  • ตรวจสอบวันหมดอายุของที่ตรวจครรภ์ก่อนการใช้งาน หากเลยวันหมดอายุไม่ควรนำมาใช้งาน เนื่องจากสารเคมีในการทดสอบอาจทำให้เกิดความคาดเคลื่อน
  • ในกรณีที่ยังไม่ใช้งาน ควรเก็บที่ตรวจครรภ์ในที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงความชื้นและอุณหภูมิที่ร้อนจัด
  • เมื่อแกะที่ตรวจครรภ์ออกจากบรรจุภัณฑ์ ควรใช้งานทันทีเพื่อผลการตรวจที่แม่นยำ ป้องกันความผิดพลาดจากการโดนความชื้น
  • ควรตรวจกับปัสสาวะแรกในช่วงเช้า เพราะมีความเข้มข้นของฮอร์โมนเอชซีจีที่สูงกว่าช่วงอื่นของวัน

การทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยที่ตรวจครรภ์ไม่สามารถรับรองผลได้แม่นยำ แต่เป็นเพียงการทดสอบเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นบวกหรือลบ หากไม่แน่ใจควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและทำการตรวจเพิ่มเติม

วิธีดูผลทดสอบจากที่ตรวจครรภ์ 

การแปลผลชุดทดสอบจากที่ตรวจครรภ์สามารถดูได้จากช่องบนแท่งตรวจ ซึ่งผลอาจแสดงออกมา 2 แบบ ดังนี้

  • ที่ตรวจครรภ์ขึ้น 2 ขีด หรือผลบวก (Positive) หมายถึงน่าจะมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น
  • ที่ตรวจครรภ์ขึ้น 1 ขีด หรือผลลบ (Negative) หมายถึงไม่น่าจะมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจในบางครั้งอาจพบว่าขึ้น 1 หรือ 2 ขีดแบบจาง ๆ หรือผลตรวจไม่พบขีดเกิดขึ้น ซึ่งบอกได้ไม่ชัดเจนว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่ ควรตรวจซ้ำใหม่อีกครั้งหลังจากนั้นประมาณ 2–3 วันหรือประมาณ 1 สัปดาห์

ความแม่นยำของที่ตรวจครรภ์

แม้ว่าที่ตรวจครรภ์หลายยี่ห้อมีการยืนยันถึงความแม่นยำที่สูงถึง 98–99% ของผลการตรวจ แต่ยังมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ผลการตรวจเกิดความคลาดเคลื่อนของที่ตรวจครรภ์ได้ โดยความคาดเคลื่อนของผลอาจมี 2 ลักษณะ ดังนี้

  • ผลบวกลวง (False Positive) คือ ไม่มีการตั้งครรภ์แต่ผลตรวจขึ้น 2 ขีดหรือผลเป็นบวก 
  • ผลลบลวง (False Negative) คือ มีการตั้งครรภ์แต่ผลตรวจขึ้น 1 ขีดหรือผลเป็นลบ    

โดยความคลาดเคลื่อนของผลตรวจอาจเกิดจากการใช้อุปกรณ์ไม่ถูกวิธี หรือที่ตรวจครรภ์เสื่อมสภาพ รวมทั้งยังอาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น

ช่วงเวลาในการตรวจเร็วเกินไป 

เนื่องจากปริมาณฮอร์โมนเอชซีจีในปัสสาวะยังสูงไม่มากพอ ที่ตรวจครรภ์จึงไม่สามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ และส่งผลให้การตรวจออกมาเป็นลบ ควรรอเวลาอีกสักพักแล้วทำการตรวจใหม่อีกครั้ง

ค่าความไวในการตรวจของชุดทดสอบการตั้งครรภ์ 

ที่ตรวจครรภ์แต่ละยี่ห้อมีการตรวจหาค่าความไวต่อฮอร์โมนเอชซีจีที่ต่างกัน ยิ่งค่าความไวในการตรวจจับฮอร์โมนมีน้อย จะทำให้ผลอาจเป็นลบได้หรือไม่ตั้งครรภ์ได้

ความเข้มข้นของปัสสาวะ 

เมื่อน้ำปัสสาวะมีความเจือจางเนื่องจากการดื่มน้ำมากเกินไปก่อนการตรวจ อาจส่งผลต่อความเข้มข้นของฮอร์โมนในปัสสาวะได้เช่นกัน จึงอาจทำให้ประสิทธิภาพในการตรวจกับที่ตรวจครรภ์ลดลง

การรับประทานยาบางประเภท 

ยาบางประเภทอาจส่งผลต่อการตรวจได้ เช่น ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) หรือยาแก้แพ้ (Antihistamines) ยาคลายกังวล (Anti-anxiety medications) ยากันชัก (Anticonvulsants) หรือยาต่าง ๆ มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอชซีจี

ปัญหาสุขภาพบางอย่าง

ปัญหาสุขภาพบางอย่างอาจส่งผลต่อการตรวจได้ เช่น ภาวะท้องลม ภาวะแท้งโดยไม่รู้ตัว ภาวะครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy) โรคไต โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โดยปัญหาสุขภาพเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลบวกลวงได้

อย่างไรก็ตาม หากผลการตรวจจากที่ตรวจครรภ์ออกมาเป็นบวก หรือผลการตรวจออกมาเป็นลบแต่คิดว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์อยู่ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจให้แน่ชัด โดยแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเลือดเพื่อเป็นการยืนยันผลของที่ตรวจครรภ์