ท่อน้ำนมอุดตัน สาเหตุและวิธีรับมือสำหรับคุณแม่ที่ให้นมลูก

ท่อน้ำนมอุดตันเป็นภาวะที่ภายในท่อน้ำนมเกิดการอุดตัน มักเกิดขึ้นกับเต้านมข้างใดข้างหนึ่ง โดยภาวะนี้จะส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติบริเวณเต้านม เช่น เต้านมบวมแดง คลำพบก้อนในเต้านม เจ็บเมื่อสัมผัสถูกเต้านม รู้สึกร้อนบริเวณเต้านม บางกรณีอาจเกิดแผลพุพองขนาดเล็กที่หัวนมร่วมด้วย 

ท่อน้ำนมอุดตันพบได้บ่อยในคุณแม่ที่ให้นมลูก โดยเฉพาะช่วงหลังคลอด 6–8 สัปดาห์ โดยทั่วไปไม่ได้ส่งผลให้เกิดอาการรุนแรงใด ๆ และคุณแม่ยังคงให้ลูกดื่มนมจากเต้านมที่เกิดอาการได้ แต่ภาวะท่อน้ำนมอุดตันอาจนำไปสู่การติดเชื้อหรือภาวะเต้านมอักเสบ (Mastitis) ได้ในบางราย 

ท่อน้ำนมอุดตัน สาเหตุและวิธีรับมือสำหรับคุณแม่ที่ให้นมลูก

ท่อน้ำนมอุดตันเกิดจากอะไร

ท่อน้ำนมอุดตันเกิดจากการที่มีน้ำนมคั่งค้างอยู่ภายในเต้า โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าหรือชุดชั้นในที่รัดหน้าอกแน่นจนเกินไป การให้นมลูกบ่อยเกินไป การเว้นช่วงเวลาให้นมลูกแต่ละครั้งนานเกินไป การให้ลูกดื่มนมข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้าง การให้ลูกดื่มนมด้วยท่าใดท่าหนึ่งมากเกินไป หรืออาจเป็นผลจากการดูดนมของลูก เป็นต้น

นอกจากนี้ ท่อน้ำนมอุดตันยังพบได้มากในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น ผู้ที่เครียดหรือมีอาการเหนื่อยล้าบ่อย ๆ ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ และผู้ที่มีภาวะโลหิตจาง เป็นต้น

วิธีดูแลตัวเองเมื่อเกิดภาวะท่อน้ำนมอุดตัน

ในเบื้องต้น คุณแม่ที่มีภาวะท่อน้ำนมอุดตันอาจทำตามวิธีต่อไปนี้

  • หมั่นให้ลูกดื่มนมบ่อย ๆ เพื่อป้องกันน้ำนมคั่งค้างในเต้า โดยเน้นให้ลูกดื่มนมข้างที่เกิดอาการก่อน และหากลูกดื่มนมไม่หมดเต้า ให้ใช้เครื่องปั๊มนมช่วยหรือนวดนมเพื่อระบายน้ำนมให้หมดเต้า
  • ประคบเต้านมข้างที่เกิดอาการบ่อย ๆ ด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น
  • นวดเต้านมข้างที่เกิดอาการเบา ๆ โดยนวดจากบริเวณฐานเต้านมไปยังบริเวณหัวนม โดยเฉพาะในช่วงก่อนให้นมลูก
  • ลองเปลี่ยนท่าให้นมหลาย ๆ ท่า
  • หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้า ชุดชั้นใน หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่รัดหน้าอกแน่นจนเกินไป
  • หากให้นมลูกเสร็จแล้วมีคราบนมติดอยู่บริเวณหัวนม ให้ใช้น้ำอุ่นล้างหัวนม 
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเสมอ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

นอกจากนี้ คุณแม่ที่มีอาการปวดเต้านมอาจรับประทานยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการปวดและการอักเสบ หรือคุณแม่ที่มีภาวะท่อน้ำนมอุดตันบ่อย ๆ อาจลดความเสี่ยงด้วยการรับประทานอาหารเสริมที่ให้สารเลซิทิน (Lecithin) เพื่อช่วยลดความเหนียวของน้ำนม แต่ก่อนรับประทานยาหรืออาหารเสริมใด ๆ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยต่อทั้งคุณแม่และทารก

หากพบว่าอาการจากภาวะท่อน้ำนมอุดตันไม่ดีขึ้นภายในเวลาประมาณ 2 วันหลังจากการดูแลตัวเองแล้ว ควรไปพบแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการที่รุนแรงหรือภาวะเต้านมอักเสบ โดยเฉพาะคุณแม่ที่พบอาการปวดเรื้อรัง อ่อนเพลีย มีไข้ เต้านมแดงขึ้น หรือก้อนเนื้อในเต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น