ท่านอนคนท้อง เรื่องสำคัญที่คุณแม่ควรรู้

การตั้งครรภ์ส่งผลให้ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน โดยเฉพาะขนาดหน้าท้องที่ขยายขึ้นตามอายุครรภ์ สามารถส่งผลต่อกระทบคนที่อุ้มท้อง ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหลัง และการนอนไม่หลับ ท่านอนคนท้องจึงเป็นอีกเรื่องที่คุณแม่ควรใส่ใจในระหว่างที่ตั้งครรภ์ 

การนอนหลับพักผ่อนได้เพียงพอและนอนในท่าที่เหมาะสม จะส่งผลดีต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกในท้อง โดยบทความนี้ได้รวบรวมท่านอนไหนที่เหมาะกับคนท้อง ท่านอนที่คนท้องควรเลี่ยง และเคล็ดลับต่าง ๆ ที่จะช่วยให้คุณแม่นอนหลับได้สบายยิ่งขึ้น

ท่านอนคนท้อง

ท่านอนคนท้อง ท่าไหนดีที่สุด

ท่านอนคนท้องที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์คือ ท่านอนตะแคงซ้าย และนำหมอนสอดเอาไว้บริเวณใต้ท้องและระหว่างเข่าทั้งสองข้าง 

ท่านี้เป็นท่าที่ดีต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ในหลายด้าน โดยจะช่วยป้องกันหลอดเลือดจากการถูกมดลูกกดกับ ช่วยให้สารอาหารในเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงลูกน้อยในครรภ์ผ่านสายรกได้ง่ายขึ้น และยังช่วยให้น้ำหนักของครรภ์ไม่ไปกดทับตับอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่เผลอเปลี่ยนท่านอนไปยังท่าที่รู้สึกถนัดและสบายในช่วงกลางดึก แต่ท่านอนนั้นไม่ได้ส่งผลให้คุณแม่รู้สึกอึดอัดหรือเพิ่มแรงกดทับลูกน้อยในครรภ์ ก็ไม่จำเป็นต้องพยายามฝืนตัวเองให้กลับไปนอนในท่าตะแคงซ้าย

หลักสำคัญในการเลือกท่านอนคือ คุณแม่ควรนอนในท่าที่ตนรู้สึกสบายแม้ไม่ใช่ท่านอนที่ดีที่สุด เพื่อให้ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ และไม่ควรนอนท่าใดท่าหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพแม่และเด็กเป็นเวลานาน ๆ  

ท่านอนคนท้องที่ควรเลี่ยง

เพื่อสุขภาพที่ดีต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงท่านอนต่อไปนี้ขณะตั้งครรภ์

ท่านอนหงาย

ท่านอนหงายอาจไม่ใช่ท่านอนที่ดีสำหรับคนท้อง โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงเดือนที่ 5 ของการตั้งครรภ์เป็นต้นไป เนื่องจากท้องของคุณแม่จะเริ่มใหญ่ขึ้น น้ำหนักตัวมากขึ้น และมีแรงกดมากขึ้น การนอนหงายจึงเป็นการเพิ่มแรงกดที่บริเวณหลอดเลือดใหญ่ หลอดเลือดดำ และทางเดินเลือดบริเวณท้อง 

ส่งผลให้การหมุนเวียนเลือดภายในร่างกายของคุณแม่ช้าลงจนเกิดอาการหรือภาวะผิดปกติต่าง ๆ ตามมา เช่น เวียนศีรษะ หายใจถี่ หัวใจเต้นแรง ภาวะความดันโลหิตต่ำ รวมถึงอาจส่งผลให้เลือดและสารอาหารต่าง ๆ ถูกลำเลียงไปยังทารกได้ช้าลง

นอกจากนี้ การนอนหงายมักส่งผลให้คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์เกิดอาการปวดหลัง และอาการผิดปกติทางระบบย่อยอาหารจากการที่ลำไส้ได้รับแรงกดทับอีกด้วย

ท่านอนคว่ำ 

ท่านอนคว่ำจะทำให้คุณแม่หายใจลำบาก และบริเวณมดลูกได้รับแรงกดทับจนอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ที่กำลังเจริญเติบโตได้ โดยเฉพาะคุณแม่ที่เริ่มเข้าสู่ช่วงเดือนที่ 4–9 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

เคล็ดลับการใช้หมอนสำหรับคุณแม่มือใหม่

นอนจากการจัดท่านอนคนท้องที่เหมาะสมแล้ว คุณแม่ยังอาจนำเคล็ดลับการใช้หมอนต่อไปนี้ไปลองทำตาม เพื่อช่วยให้รู้สึกสบายขณะนอนหลับมากขึ้น

  • สอดหมอนรองไว้ใต้ท้องและระหว่างขาขณะตอนตะแคง เพื่อให้หมอนรับน้ำหนักท้องและช่วยให้รู้สึกนอนหลับได้สบายขึ้น
  • เมื่อรู้สึกหายใจลำบากหรือหายใจไม่อิ่มขณะหลับ คุณแม่อาจลองนอนตะแคงและใช้หมอนสอดไว้ด้านข้างลำตัวบริเวณช่วงอก เพื่อช่วยให้คุณแม่หายใจได้สะดวกขึ้น
  • คุณแม่ที่ต้องการนอนหงาย ให้ใช้หมอนใบเล็กรองบริเวณหลังส่วนล่าง เพื่อลดแรงกดทับจากท้อง
  • คุณแม่ที่ต้องการนอนคว่ำ ให้ใช้หมอนรูปโดนัทที่มีรูตรงกลางรองท้องขณะนอน เพื่อลดแรงกดทับบริเวณท้อง
  • คุณแม่ที่มีอาการแสบร้อนกลางหน้าอก อาจลองใช้หมอนหนุนบริเวณศีรษะให้สูงขึ้น เพื่อช่วยป้องกันกรดไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร

นอกจากท่านอนคนท้องและเคล็บลับการนอนในข้างต้น คุณแม่อาจปรับพฤติกรรมก่อนเข้านอนร่วมด้วย เพื่อคุณภาพการนอนที่ดีและป้องกันปัญหานอนไม่หลับ เช่น หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมาก ๆ และการกินอาหารมื้อใหญ่ก่อนเข้านอน โดยเฉพาะอาหารรสเผ็ด ลดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อาบน้ำอุ่นก่อนเข้านอน ไม่ฝืนตัวเองเมื่อนอนไม่หลับ และนวดเบา ๆ ตามร่างกายเพื่อผ่อนคลาย