ปัญหาท้องผูกเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด โดยเฉพาะอาการท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งแต่ละคนอาจมีอาการรุนแรงไม่เท่ากัน บางคนอาจขับถ่ายไม่คล่องเหมือนปกติ แต่บางคนอาจไม่ขับถ่ายนานเป็นสัปดาห์ จนปัญหานี้อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจทำให้มีอาการท้องอืด ปวดหัว หรือหงุดหงิดง่ายขึ้น ทั้งนี้ ในรายที่อาการไม่รุนแรงอาจบรรเทาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่อาจต้องใช้ยาหรือผ่าตัดรักษาในรายที่มีอาการรุนแรง
ท้องผูกเรื้อรังเกิดจากอะไร ?
ปัญหาท้องผูกมักเกิดขึ้นเมื่อลำไส้บีบตัวหรือเคลื่อนตัวช้าในระหว่างที่ย่อยอาหาร ทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมีของเสียตกค้างในลำไส้ใหญ่เป็นเวลานานจะทำให้เกิดอุจจาระที่แห้ง แข็ง และมีขนาดใหญ่ขึ้นจนขับถ่ายลำบาก
โดยปัญหาท้องผูกเรื้อรังอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ดังต่อไปนี้
พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน
พฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวันอาจทำให้เกิดท้องผูกเรื้อรัง เช่น รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์น้อย รับประทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม รวมถึงอาหารแปรรูปที่มีไขมันและน้ำตาลปริมาณมาก ดื่มน้ำไม่เพียงพอ บริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์มากเกินไป กลั้นอุจจาระ ไม่ออกกำลังกาย มีน้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไป เกิดความเครียดหรือปัญหาทางจิตใจ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้สูงอายุอาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาท้องผูกเรื้อรังได้มากกว่าคนทั่วไป
การใช้ยาบางชนิด
ยาบางประเภทอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการท้องผูกได้ เช่น ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของสารประกอบอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์หรือมีแคลเซียมสูง ยารักษาอาการซึมเศร้า ยาระงับอาการทางจิต ยาแก้ท้องเสีย ยารักษาโรคลมชัก ยารักษาโรคพาร์กินสัน อาหารเสริมกลุ่มแคลเซียมและธาตุเหล็ก ยาแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ ยาระงับปวดชนิดโอปิออยด์ ยาขับปัสสาวะ ยาในกลุ่มแอนตี้มัสคารินิก เป็นต้น
การอุดตันของลำไส้
ภาวะเจ็บป่วยบางอย่างจะส่งผลให้มีอุจจาระตกค้างในลำไส้จนทำให้เกิดอาการท้องผูกเรื้อรัง เช่น เกิดแผลปริที่ขอบทวารหนัก ลำไส้อุดตัน มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งทวารหนัก มะเร็งในช่องท้องที่ไปกดทับลำไส้ใหญ่ ภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน เป็นต้น
ปัญหาของเส้นประสาทบริเวณลำไส้
ความผิดปกติของเส้นประสาทบริเวณลำไส้อาจส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณลำไส้และทวารหนัก เช่น ปลายประสาทอัตโนมัติเสื่อม โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมอง อาการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง เป็นต้น
ปัญหาของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเป็นกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการบีบตัวของลำไส้ ซึ่งอาจมีอาการอ่อนแรงหรือไม่สามารถบีบและคลายตัวได้อย่างสัมพันธ์กัน จึงส่งผลให้เกิดปัญหาท้องผูกเรื้อรังได้
ภาวะที่ส่งผลกระทบต่อสมดุลของฮอร์โมน
ภาวะที่ทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุลอาจทำให้เกิดปัญหาท้องผูกเรื้อรังได้ เช่น ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคลำไส้แปรปรวน ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ หรือตั้งครรภ์ เป็นต้น
วิธีรับมือกับปัญหาท้องผูกเรื้อรัง
- ควรฝึกขับถ่ายให้เป็นนิสัย พยายามขับถ่ายให้ตรงเวลา โดยเฉพาะในตอนเช้าที่เป็นช่วงเวลาที่ลำไส้ใหญ่ทำงานมากที่สุด
- ไม่กลั้นอุจจาระโดยไม่จำเป็น ปวดเมื่อไหร่ควรรีบไปเข้าห้องน้ำ เพราะการกลั้นไว้สักระยะหนึ่งอาจทำให้หายปวดและทำให้เกิดการตกค้างของอุจจาระ จนเกิดปัญหาท้องผูกตามมาได้
- ไม่เครียด เพราะความเครียดอาจส่งผลต่อการทำงานของลำไส้ได้ อีกทั้งผู้ป่วยบางรายอาจมีปัญหาในการเบ่งอุจจาระเพราะอยู่ในช่วงเวลาเร่งรีบหรือมีความเครียด ดังนั้น ในขณะขับถ่ายจึงควรผ่อนคลาย ไม่รีบ และให้เวลากับร่างกายได้ขับของเสียออกมา
- ออกกำลังกายบ้าง เพราะอาจช่วยให้กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น และอาจส่งผลดีต่อระบบขับถ่าย
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ หรืออย่างน้อยประมาณวันละ 8 แก้ว ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ และควรดื่มมากขึ้นในวันที่มีอากาศร้อนหรือวันที่ออกกำลังกาย
- รับประทานไฟเบอร์ ทั้งจากผัก ผลไม้ และธัญพืชมากขึ้นประมาณวันละ 30 กรัม โดยค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้นทีละน้อยเพื่อป้องกันอาการท้องอืด นอกจากนี้ เชื่อว่าการรับประทานลูกพรุนสามารถช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้ ซึ่งมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า การรับประทานลูกพรุน 6 ลูก หรือประมาณ 50 กรัม วันละ 2 เวลา อาจช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาท้องผูกขับถ่ายได้ดีขึ้น
- ฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เพราะในบางครั้งปัญหาท้องผูกอาจเกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวทำงานบกพร่อง โดยนักกายภาพบำบัดจะแนะนำให้ผู้ป่วยฝึกควบคุมการเกร็งและคลายกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแบบไบโอฟีดแบ็ก โดยมีอุปกรณ์สอดเข้าทางทวารหนัก เพื่อวัดความตึงของกล้ามเนื้อและยังสามารถบอกได้ด้วยว่าเวลาไหนควรขมิบหรือคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ว่าเมื่อใดควรจะคลายกล้ามเนื้อหากต้องการขับถ่ายอุจจาระ
- ใช้ยาช่วยให้ขับถ่ายอุจจาระได้ง่ายขึ้น โดยยาแต่ละชนิดจะออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหารแตกต่างกันไป เช่น อาหารเสริมเส้นใยหรือไฟเบอร์ที่ช่วยเพิ่มมวลอุจจาระ ยาระบายที่ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ยาระบายกลุ่มออสโมซิสที่ช่วยดูดน้ำจากลำไส้ ทำให้อุจจาระไม่แห้งและแข็งจนขับถ่ายลำบาก ยาที่ช่วยหล่อลื่นให้อุจจาระเคลื่อนตัวได้ง่ายขึ้น ยาที่ช่วยให้อุจจาระอ่อนตัว นิ่ม และเคลื่อนตัวได้ง่ายขึ้น ยาเหน็บและยาสวนที่ช่วยให้อุจจาระนิ่ม ซึ่งช่วยให้ลำไส้บีบตัวและขับถ่ายได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงมิลค์ออฟแมกนีเซีย (Milk of Magnesia) หรือยาระบายแมกนีเซีย ที่ออกฤทธิ์ช่วยเพิ่มน้ำภายในลำไส้ใหญ่ ทำให้ขับถ่ายง่ายขึ้น ซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้านที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป
- ปรึกษาแพทย์เพื่อรับการผ่าตัด มักเป็นทางเลือกในกรณีที่ผู้ป่วยปฏิบัติตามวิธีข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือปัญหาท้องผูกอาจเกิดจากการอุดตัน ตีบแคบ หรือการหย่อนของลำไส้ แพทย์จึงอาจต้องผ่าตัดลำไส้บางส่วนออกไป
สัญญาณสำคัญที่ควรไปพบแพทย์ !
ปัญหาท้องผูกเรื้อรังอาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ อาจเป็นสัญญาณเตือนของการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย หรืออาจเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่เป็นอันตราย ดังนั้น หากพบว่ามีปัญหาท้องผูกอย่างต่อเนื่องนานกว่า 2 สัปดาห์ ท้องเสียเล็กน้อยนาน 1 สัปดาห์ ท้องเสียอย่างรุนแรงนานเกิน 2 วัน ถ่ายเหลวและถ่ายเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ หรือปวดถ่ายอุจจาระในแบบที่ต้องถ่ายทันทีอย่างหาสาเหตุไม่ได้ หากเกิดอาการข้างต้นขึ้นอาการใดอาการหนึ่ง หรือตั้งแต่ 2 อาการขึ้นไป ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป