ท้องแข็งระหว่างตั้งครรภ์เกิดจากอะไร และวิธีรับมือสำหรับคุณแม่

ท้องแข็งเป็นอาการที่มดลูกเกิดการบีบตัว ทำให้คุณแม่รู้สึกปวด ตึงบริเวณท้อง รู้สึกว่าหน้าท้องแข็งเมื่อสัมผัส ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดระยะเวลาที่คุณแม่ตั้งครรภ์ อาการท้องแข็งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การขยายตัวของมดลูก อาการเจ็บครรภ์เตือนและเจ็บครรถ์จริง ซึ่งเป็นสัญญาณของการคลอด

อาการท้องแข็งอาจแตกต่างกันตามสาเหตุของการเกิด หากคุณแม่ทราบลักษณะอาการและสาเหตุของอาการท้องแข็ง ก็จะทำให้ทราบว่าอาการแบบใดที่เป็นอาการปกติ และอาการแบบใดที่น่ากังวลและควรไปพบแพทย์ ซึ่งในบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเรื่องท้องแข็งที่คุณแม่ควรรู้เอาไว้แล้ว

ท้องแข็งระหว่างตั้งครรภ์เกิดจากอะไร และวิธีรับมือสำหรับคุณแม่

ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์เกิดจากอะไร

ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น

อาการท้องแข็งในระยะแรกของการตั้งครรภ์

ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจมีอาการท้องแข็ง ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของมดลูกเพื่อรองรับการเติบโตของทารกในครรภ์ คุณแม่อาจรู้สึกตึงแน่นท้อง และเจ็บแปลบบริเวณหน้าท้องจากการที่กล้ามเนื้อหน้าท้องขยายตัว ซึ่งอาจเกิดจากการมีแก๊สในกระเพาะอาหาร ภาวะขาดน้ำ ท้องผูก และการยืดขยายของเอ็นยึดมดลูก (Round Ligament Pain)

โดยปกติแล้ว ร่างกายของหญิงตั้งครรภ์จะสร้างฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์เพื่อทำให้เอ็นที่ยึดระหว่างมดลูกและเชิงกราน (Round Ligaments) คลายตัวและยืดขยายเพื่อรองรับการเติบโตของทารกในครรภ์ เมื่อทารกเติบโตขึ้นจะทำให้กล้ามเนื้อมดลูกและเอ็นยืดตัว บางครั้งอาจทำให้รู้สึกปวดเกร็งท้อง หรือปวดแปลบที่ท้องน้อยด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองข้าง และลามไปยังสะโพกหรือขาหนีบ 

อาการเหล่านี้เป็นอาการปกติที่พบได้บ่อยในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 ส่วนมากมักไม่เป็นอันตราย โดยอาจเกิดขึ้นในระยะสั้น ๆ ไม่กี่วินาทีแล้วหายไป หรืออาจมีอาการปวดยาวนานเป็นชั่วโมง โดยจะมีอาการปวดเมื่อลุกขึ้นยืนหรือนั่งอย่างรวดเร็ว รวมถึงไอ จาม และหัวเราะ

อาการเจ็บครรภ์เตือน (Braxton Hicks Contractions)

ท้องแข็งอาจเป็นอาการเจ็บครรภ์เตือนหรือเจ็บครรภ์หลอก ซึ่งอาจเริ่มขึ้นเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 6 สัปดาห์ แต่คุณแม่อาจจะยังไม่รู้สึกจนกว่าจะถึงไตรมาสที่ 2 หรือ 3 ของการตั้งครรภ์ การเจ็บครรภ์เตือนเกิดจากการหดรัดตัวของมดลูกเพื่อให้กล้ามเนื้อมดลูกและปากมดลูกพร้อมสำหรับการคลอด คุณแม่อาจมีอาการเมื่อออกแรงมาก มีภาวะขาดน้ำ กระเพาะปัสสาวะโป่งตึง  หลังมีเพศสัมพันธ์ หรือเมื่อทารกในครรภ์ดิ้นแรง

อาการเจ็บครรภ์เตือนมักทำให้รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อย โดยอาจปวดในระยะสั้น ๆ ไม่ถึง 30 วินาทีไปจนถึง 2 นาที และระยะห่างของอาการไม่แน่นอน อาจปวดทุก 15–20 นาที ซึ่งความรุนแรงและความถี่ของอาการมักจะใกล้เคียงกัน ไม่ปวดถี่หรือรุนแรงขึ้น และอาการมักจะหายได้เองหลังนอนพักหรือรับประทานทานยาแก้ปวด

อาการเจ็บครรภ์จริง

อาการเจ็บครรภ์จริงหรืออาการเจ็บท้องคลอดเกิดจากการที่มดลูกบีบตัวเพื่อให้ทารกในครรภ์คลอดออกมา โดยจะมีอาการที่ต่างจากอาการเจ็บครรภ์เตือน คือปวดหลังส่วนล่างบริเวณใกล้บั้นเอวและลามไปยังหน้าท้อง ซึ่งอาการปวดจะรุนแรงขึ้นและบ่อยขึ้น โดยแต่ละครั้งมักปวดประมาณ 30–90 วินาที ซึ่งอาการมักไม่ดีขึ้นหลังนอนพักและจะปวดนานขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งอาจมีอาการน้ำเดิน และมีมูกเลือดไหลออกจากช่องคลอด 

คุณแม่ควรรับมืออาการท้องแข็งอย่างไร

ในเบื้องต้น คุณแม่สามารถบรรเทาอาการท้องแข็งได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • นั่งหรือนอนพักนิ่ง ๆ จนกว่าอาการท้องแข็งจะดีขึ้น หากนั่งหรือนอนเป็นเวลานาน ควรเปลี่ยนอิริยาบถด้วยการลุกขึ้นเดิน โดยระวังไม่ลุกขึ้นเร็วเกินไป
  • อาบน้ำอุ่น และประคบร้อนด้วยแผ่นประคบร้อนหรือกระเป๋าน้ำร้อน เพื่อบรรเทาอาการปวดหลัง สะโพก และขาหนีบ โดยระวังไม่ให้อุณหภูมิสูงเกินไป ใช้ผ้าขนหนูห่อเพื่อไม่ให้แผ่นประคบร้อนหรือกระเป๋าน้ำร้อนสัมผัสผิวหนังโดยตรงความร้อน หลีกเลี่ยงการประคบบริเวณหน้าท้อง และไม่ควรประคบนานเกิน 20 นาที
  • รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำ (Soluble Fiber) สูง และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม ซึ่งอาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำที่ทำให้เกิดอาการท้องแข็ง โดยอาจดื่มนมหรือชาอุ่น ๆ ที่ช่วยบรรเทาอาการปวด
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก เช่น ออกกำลังกาย ยกของ หรือทำงานหนัก
  • ฝึกการหายใจและออกกำลังกายเบา ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งช่วยผ่อนคลายอาการปวดท้องและหลัง
  • หากอาการปวดไม่ดีขึ้น อาจรับประทานยาพาราเซตามอล ซึ่งช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง โดยไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดกลุ่มอื่น เช่น ยาแอสไพริน และยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) โดยเฉพาะผู้ที่ตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 1 และ 3 เพราะอาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์

ท้องแข็งแบบใดที่ควรไปพบแพทย์

บางครั้งอาการท้องแข็งที่ผิดปกติอาจเป็นสัญญาณอันตราย เช่น การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental Abruption) หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ และมีอาการปวดบีบท้องอย่างสม่ำเสมอ ปวดถี่กว่า 4–6 ครั้งภายใน 2 ชั่วโมง อาการปวดไม่ดีขึ้นหรือปวดรุนแรงหลังจากนอนพักและดื่มน้ำ มีมูกหรือเลือดไหลจากช่องคลอด น้ำเดิน และทารกดิ้นน้อยลง
  • อายุครรภ์มากกว่า 37 สัปดาห์ และมีอาการปวดบีบท้องถี่อย่างรุนแรง หรือปวดทุก ๆ 5 นาทีภายใน 1 ชั่วโมง มีเลือดไหลจากช่องคลอดคล้ายประจำเดือน น้ำเดิน และทารกดิ้นน้อยลง
  • อาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง ตาพร่ามัว มีอาการบวมตามร่างกายรุนแรงและฉับพลัน และหายใจลำบาก

ท้องแข็งเป็นอาการหนึ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์อาจพบได้ โดยเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การขยายตัวของมดลูก การเจ็บครรภ์เตือน และการเจ็บครรภ์จริง ซึ่งแต่ละสาเหตุอาจมีลักษณะอาการที่แตกต่างกัน หากไม่แน่ใจอาการหรือมีอาการผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาต่อไป