ท้อง 3 เดือน กับความเปลี่ยนแปลงที่คุณแม่ควรรู้

ท้อง 3 เดือน หรืออายุครรภ์ประมาณ 12 สัปดาห์ เป็นช่วงเวลาที่ทารกในครรภ์มีพัฒนาการค่อนข้างมาก คุณแม่มือใหม่จึงควรทราบถึงความเปลี่ยนแปลงและการดูแลตัวเองในช่วงเวลานี้ เพื่อความสมบูรณ์แข็งแรงของทารกในครรภ์และสุขภาพที่ดีของตัวเอง

ท้อง 3 เดือน

ท้อง 3 เดือน ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ?

เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ท้องของคุณแม่จะเริ่มขยายใหญ่จนเห็นชัดมากขึ้น และมีอาการแพ้ท้องหรืออ่อนเพลียน้อยลง เนื่องจากระดับฮอร์โมนในร่างกายเริ่มคงที่ แต่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ลูกแฝดอาจยังมีอาการแพ้ท้องให้เห็นอยู่บ้าง ส่วนความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่อาจพบได้ในช่วงการตั้งครรภ์เดือนที่ 3 ได้แก่

  • น้ำหนักขึ้น ในช่วงนี้น้ำหนักตัวของคุณแม่จะเพิ่มจากเดิมประมาณ 0.6-2.5 กิโลกรัม ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการตั้งครรภ์ ในรายที่น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักด้วยตัวเองเพื่อผลดีต่อการตั้งครรภ์ แต่หากคุณแม่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากเกินไปควรปรึกษาแพทย์เพราะอาจทำให้เสี่ยงต่อโรคอันตรายระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภาวะความดันโลหิตสูง เป็นต้น
  • หน้าท้องเริ่มขยาย การขยายตัวของผิวหน้าท้องอาจส่งผลให้เกิดรอยแตกลายในบริเวณดังกล่าวได้ คุณแม่อาจใช้โลชั่นหรือครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของสารเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง เช่น โกโก้บัตเตอร์จากธรรมชาติ  โดยควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองความปลอดภัยจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือและปรึกษาแพทย์ก่อนการเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ ทุกครั้ง
  • ปวดศีรษะ อาการปวดศีรษะเกิดขึ้นได้ในระหว่างการตั้งครรภ์เดือนที่ 3 โดยอาจมีสาเหตุมาจากระดับฮอร์โมนที่สูงขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะขาดน้ำ นอนไม่หลับ หรือเกิดความเครียด ดังนั้น คุณแม่ควรรู้จักผ่อนคลายความเครียดและเอาใจใส่สุขภาพให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดศีรษะลงได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรรีบปรึกษาสูติแพทย์เพื่อความปลอดภัย
  • วิงเวียนศีรษะ ระดับฮอร์โมนและความดันโลหิตที่เปลี่ยนแปลงอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ซึ่งหากไม่รุนแรงมากนักก็สามารถบรรเทาอาการโดยการนั่งหรือนอนพักสักครู่ แต่หากอาการรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ นอกจากนี้ คุณแม่อาจป้องกันอาการวิงเวียนศีรษะได้ด้วยการรับประทานของว่างและดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • มีตกขาวมากขึ้น เป็นเรื่องปกติที่หญิงตั้งครรภ์จะมีตกขาวสีใสออกมาจากช่องคลอด เพื่อช่วยป้องกันช่องคลอดจากการติดเชื้อต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรสังเกตความผิดปกติของตกขาวเสมอ หากพบว่ามีสีปกติ เช่น สีเหลือง สีเขียว สีชมพู หรือสีน้ำตาล ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือการคลอดก่อนกำหนด
  • เลือดออกกะปริบกะปรอย การมีเลือดออกทางช่องคลอดในช่วงตั้งครรภ์อาจเป็นสัญญาณของภาวะที่ร้ายแรงได้ โดยหากมีเลือดออกกะปริบกะปรอยหรือมีเลือดไหลออกมามากร่วมกับอาการปวดเกร็งหน้าท้อง ควรรีบแจ้งแพทย์เพื่อความปลอดภัย
  • สภาพผิวหนังเปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์มักส่งผลต่อผิวพรรณของคุณแม่ด้วย โดยอาจทำให้เกิดฝ้าบนใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณหน้าผากและแก้ม ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่เป็นอันตราย และจะค่อย ๆ หายไปหลังจากการคลอดบุตร
  • เต้านมเกิดการเปลี่ยนแปลง ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์มักส่งผลให้บริเวณลานหัวนมมีสีเข้มขึ้น และอาจมีอาการคัดเต้านมไปจนถึงช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์

ท้อง 3 เดือน กับความเปลี่ยนแปลงของทารก

ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์เดือนที่ 3 ทารกจะมีพัฒนาการมากขึ้น โดยอาจเริ่มมีการตอบสนองที่ซับซ้อนกว่าเดิม เช่น การดูด หรือเริ่มขยับตัวเล็กน้อย ซึ่งคุณแม่อาจไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวดังกล่าวจนกว่าจะเข้าสู่ช่วงเดือนที่ 4 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ทารกจะมีพัฒนาการของอวัยวะต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น นิ้วมือ นิ้วเท้า เล็บ และดวงตา อีกทั้งไตของทารกจะเริ่มผลิตปัสสาวะเพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย แต่ยังไม่สามารถระบุเพศได้อย่างชัดเจนในช่วงนี้

ท้อง 3 เดือน คุณแม่ควรทำอย่างไรบ้าง ?

เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของคุณแม่และทารกในครรภ์ การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงการตั้งครรภ์เดือนที่ 3 ที่ทารกกำลังมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นมาก ทำได้ดังนี้

  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ แม้การมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจะเป็นเรื่องปกติของการตั้งครรภ์ แต่คุณแม่ก็ควรเอาใจใส่ในการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อป้องกันการมีน้ำหนักมากขึ้นเกินความจำเป็น ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ปวดหลัง ปวดขา และอาจรู้สึกอ่อนเพลียกว่าเดิม
  • ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรับประทานวิตามินเสริม ในบางกรณี คุณแม่อาจต้องรับประทานวิตามินเสริมเพื่อช่วยให้ทั้งแม่และทารกได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และช่วยป้องกันภาวะผิดปกติบางอย่างในระหว่างตั้งครรภ์ แต่เพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มรับประทานวิตามินหรืออาหารเสริมชนิดใดก็ตาม
  • ฝึกกล้ามเนื้อบริเวณช่องคลอด การหมั่นฝึกขมิบช่องคลอดเป็นประจำตั้งแต่ในช่วงนี้ส่งผลดีต่อกล้ามเนื้อบริเวณช่องคลอด ทำให้คลอดง่ายและช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวหลังคลอดไวขึ้น ซึ่งหากคุณแม่ต้องการเริ่มฝึก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับทราบวิธีที่ถูกต้องและไม่ส่งผลกระทบต่อครรภ์
  • บำรุงผิวอย่างสม่ำเสมอ ผิวหนังที่บอบบางลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนอาจทำให้เกิดฝ้าที่ใบหน้าได้ง่าย ดังนั้น หากต้องออกไปภายนอกอาคาร คุณแม่ควรทาครีมกันแดดและสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิดเพื่อป้องกันแสงแดด ส่วนรอยแตกของผิวหนังบริเวณหน้าอก หน้าท้อง สะโพก และก้น ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์นั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่ร่องรอยเหล่านี้จะค่อย ๆ จางลงไปเองหลังจากคลอดบุตร คุณแม่จึงไม่จำเป็นต้องกังวลแต่อย่างใด แต่ควรหมั่นบำรุงผิวอยู่เสมอเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่นให้ผิวหนัง
  • บำรุงผิวหนังอย่างสม่ำเสมอ ผิวหนังที่บอบบางลงจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนอาจทำให้เกิดฝ้าที่ใบหน้าได้ง่าย ดังนั้น หากต้องออกไปภายนอกอาคาร คุณแม่ควรทาครีมกันแดดและสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิดเพื่อป้องกันแสงแดด ส่วนรอยแตกของผิวหนังบริเวณหน้าอก หน้าท้อง สะโพก และก้น ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์นั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่ร่องรอยเหล่านี้จะค่อย ๆ จางลงไปเองหลังจากคลอดบุตร คุณแม่จึงไม่จำเป็นต้องกังวลแต่อย่างใด แต่ควรหมั่นบำรุงผิวอยู่เสมอเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นให้ผิวหนังและช่วยให้รอยแตกลายนั้นจางลงเร็วยิ่งขึ้น โดยอาจเลือกใช้ครีมหรือโลชั่นที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ เช่น โกโก้บัตเตอร์ซึ่งช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ทั้งนี้ ควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์

เมื่อใดควรไปพบแพทย์

สิ่งที่ควรระมัดระวังในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์คือภาวะแท้ง ซึ่งเสี่ยงเกิดขึ้นได้สูง และแม้จะมีความเสี่ยงน้อยลงในช่วงปลายเดือนที่ 3 คุณแม่ก็ควรสังเกตอาการต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ หากมีความผิดปกติต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์หรือขอความช่วยเหลือทางการแพทย์โดยด่วนที่สุด เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์

  • ปวดท้องอย่างรุนแรง
  • มีเลือดหรือของเหลวไหลออกจากช่องคลอดผิดปกติ
  • มีเลือดไหลกะปริบกะปรอยติดต่อกันมากกว่า 3 วัน
  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • มีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ หรืออาเจียนอย่างรุนแรง
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • มองเห็นไม่ชัด หรือมองเห็นจุดภายในลานสายตา
  • รู้สึกแสบขณะปัสสาวะหรือปัสสาวะขัด
  • มือ เท้า และใบหน้าบวม
  • มีอาการปวดหรือเป็นตะคริวที่แขนขาและหน้าอก