การตั้งท้อง 5 เดือน หรือช่วงอายุครรภ์ประมาณ 21-24 สัปดาห์ เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่สร้างความตื่นเต้นให้กับว่าที่คุณแม่หลังจากที่อาจเพิ่งทราบเพศของลูกน้อย โดยช่วงที่ท้อง 5 เดือน ครรภ์ของคุณแม่ก็ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งพัฒนาการของทารกในครรภ์ และร่างกายของคุณแม่เอง ดังนี้
การเปลี่ยนแปลงสำหรับคุณแม่
การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งร่างกายของคุณแม่ที่ท้อง 5 เดือนก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น
- น้ำหนักขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป ลูกน้อยจะเริ่มตัวใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งช่วงสัปดาห์ที่ 23 ของการตั้งครรภ์คุณแม่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5-7 กิโลกรัม และอาจมากหรือน้อยกว่านั้นแล้วแต่บุคคล จึงเป็นช่วงที่เริ่มสังเกตได้ชัดว่ากำลังตั้งครรภ์
- ผิวแตกลาย เมื่อน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นก็อาจทำให้ขนาดตัวของคุณแม่ขยายใหญ่ขึ้น จนอาจส่งผลให้เกิดปัญหาท้องลาย ขาลาย หรือหน้าอกลาย แต่ปัญหาผิวแตกลายมักจะค่อย ๆ จางลงหลังคลอด
- หน้ามันและเป็นสิว เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนซึ่งทำให้ต่อมใต้ผิวหนังผลิตไขมันออกมามากขึ้นจนเป็นสาเหตุทำให้หน้ามัน และหากไขมันเหล่านั้นไปอุดตันในรูขุมขนก็จะทำให้เกิดการอักเสบและเป็นต้นเหตุของการเกิดสิว
- เหงือกบวมหรือมีเลือดออกตามไรฟัน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์ทำให้เลือดไหลเวียนภายในเหงือกมากขึ้น จึงส่งผลให้เหงือกบวมและบอบบางกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคือง เป็นแผล หรือมีเลือดออกตามไรฟันได้ด้วย
- ข้อเท้าและเท้าบวม เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับคุณแม่ที่ท้อง 5 เดือน ซึ่งการยกขาสูง การเดินออกกำลังกายเป็นประจำ หรือการดื่มน้ำมาก ๆ อาจช่วยบรรเทาอาการบวมได้ แต่หากเท้าหรือข้อเท้ามีอาการบวมอย่างมาก หรือบวมกะทันหัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะครรภ์เป็นพิษได้
- ปวดหลัง การตั้งครรภ์ทำให้กระดูกสันหลังแอ่นตัวและสร้างความตึงเครียดให้กับกล้ามเนื้อหลัง โดยเฉพาะในช่วงที่ท้องประมาณ 5 เดือน หรือการตั้งครรภ์แฝด ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรังได้
- เจ็บท้องหลอก แม้มักเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ แต่ก็อาจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือช่วงที่ท้อง 5 เดือนได้เช่นกัน โดยมีอาการคล้ายปวดประจำเดือน ปวดบีบแบบไม่สม่ำเสมอซึ่งเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ และอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวบ้าง แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้ปากมดลูกเปิดเหมือนเจ็บคลอดจริง
- เส้นเลือดขอด การขยายตัวของมดลูกในขณะตั้งครรภ์ทำให้ความดันของหลอดเลือดดำที่ขาเพิ่มขึ้น อีกทั้งฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนยังทำให้หลอดเลือดขยายตัวและมีการไหลเวียนของเลือดเพิ่มมากขึ้น จึงมีแนวโน้มทำให้เกิดเส้นเลือดขอดบริเวณขา ช่องคลอด และทวารหนัก ซึ่งมักจะมีอาการดีขึ้นหลังคลอด
- ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ น้ำหนักของมดลูกที่กดกระเพาะปัสสาวะอาจขัดขวางการไหลเวียนของน้ำปัสสาวะและทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น ซึ่งการดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานวิตามินซี เบต้าแคโรทีน และธาตุสังกะสี รวมถึงไม่อั้นปัสสาวะก็อาจช่วยป้องกันหรือบรรเทาอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้
- ท้องผูก ฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้กล้ามเนื้อในทางเดินอาหารคลายตัว ทำให้อาหารเคลื่อนผ่านลำไส้เล็กช้าลง รวมถึงมดลูกที่ขยายตัวอาจไปกดทับไส้ตรงจนทำให้ท้องผูกได้
- ริดสีดวงทวาร การขยายตัวของมดลูก ปัญหาท้องผูก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดริดสีดวงทวารได้ในช่วงตั้งครรภ์
พัฒนาการของทารกในครรภ์
ทารกในครรภ์ที่มีอายุ 5 เดือนจะมีขนาดตัวประมาณ 30 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 600 กรัม โดยทารกจะมีการพัฒนาและใช้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ จนทำให้คุณแม่รู้สึกได้ว่าลูกดิ้นเป็นครั้งแรก ผมที่ศีรษะก็จะเริ่มงอก รวมถึงมีขนอ่อนตามร่างกาย เช่น ขมับ หัวไหล่ และแผ่นหลัง เป็นต้น ซึ่งผิวหนังของทารกจะถูกปกคลุมด้วยไขทารกเพื่อช่วยปกป้องผิวจากการอยู่ในน้ำคร่ำเป็นเวลานาน และปอดอาจมีพัฒนาการเพียงพอที่จะมีโอกาสรอดชีวิตหากเกิดการคลอดก่อนกำหนด นอกจากนี้ ทารกในครรภ์ที่มีอายุ 5 เดือนยังเป็นช่วงที่ระบบประสาทการได้ยินเริ่มทำงาน ดังนั้น การกระตุ้นด้วยเสียงเพลงที่ไพเราะ รวมถึงเสียงของคุณแม่เองก็อาจส่งผลดีต่อการทำงานของเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินของทารก
ท้อง 5 เดือนกับเคล็ดลับสุขภาพดีสำหรับคุณแม่
ผ่านมากว่าครึ่งทางของการตั้งครรภ์แล้ว คุณแม่ยิ่งต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษเพื่อสุขภาพของตนและลูกน้อยในครรภ์ ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
- ไปพบแพทย์ตามนัดฝากครรภ์ คุณแม่ที่ท้อง 5 เดือนจะต้องไปพบแพทย์ตามนัดหมายเสมอ เพื่อตรวจเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด ความผิดปกติทางพันธุกรรม และอัลตราซาวน์เพื่อตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์
- ดื่มน้ำมาก ๆ หรือดื่มอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพราะอาจช่วยให้ลำเลียงสารอาหารไปยังทารกในครรภ์ได้ดีขึ้น รวมทั้งยังช่วยป้องกันและบรรเทาอาการท้องผูก การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ หรือริดสีดวงทวารได้เช่นเดียวกัน
- นอนตะแคง ท้องที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอาจไปกดทับเส้นเลือดใหญ่บริเวณหลังจนอาจทำให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงทารกในครรภ์ได้น้อยลง การนอนตะแคงไม่เพียงช่วยลดการกดทับเส้นเลือดใหญ่ แต่อาจช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้ ซึ่งคุณแม่อาจเริ่มจากการใช้หมอนหนุนหลัง และใช้หมอนอีกใบรองไว้ระหว่างขาหรือหัวเข่า เพื่อให้ร่างกายคุ้นเคยกับการนอนตะแคงมากขึ้น
- ออกกำลังกายด้วยวิธีที่ปลอดภัย เช่น การว่ายน้ำ หรือการเดิน เป็นต้น เพราะนอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาพของว่าที่คุณแม่แล้ว ยังส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ด้วย
- สวมเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย เป็นต้น เพราะอากาศร้อนอาจส่งผลต่ออารมณ์ของคุณแม่และอาจส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ได้
- ทาครีมที่หน้าท้อง เพื่อลดการเกิดปัญหาท้องลายและอาการคันผิวหนัง
- ไปพบทันตแพทย์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดในร่างกาย ทำให้เหงือกบวมหรือมีเลือดออกตามไรฟันได้ง่าย รวมถึงอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและการก่อตัวของคราบพลัคได้
สังเกตอาการสำคัญ ไปพบแพทย์ให้ทันเวลา
คุณแม่ที่ท้อง 5 เดือน ควรรีบไปพบแพทย์ หากพบอาการดังต่อไปนี้
- ปวดท้องหรือปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานอย่างหนัก ปวดบ่อยครั้ง หรือปวดผิดปกติ
- มีสัญญาณเตือนของการคลอดก่อนกำหนด เช่น ปวดหรือรู้สึกแน่นที่ท้องส่วนล่างอย่างสม่ำเสมอ มีเลือดออกทางช่องคลอด น้ำคร่ำแตก และรู้สึกได้ถึงแรงดันในอุ้งเชิงกรานหรือช่องคลอด เป็นต้น
- ไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์มาสักระยะหนึ่ง
นอกจากนี้ หากพบอาการหรือความผิดปกติอื่น ๆ ที่ทำให้ไม่สบายตัวหรือไม่สบายใจ คุณแม่ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่น การคลอดก่อนกำหนด ถุงน้ำคร่ำแตก ภาวะปากมดลูกหลวม หรือครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น