ท้อง 7 เดือน กับการเตรียมตัวให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

ท้อง 7 เดือน หรือช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 30-33 ของการตั้งครรภ์ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ เพราะกำลังก้าวสู่ไตรมาสสุดท้ายก่อนการคลอด ดังนั้น คุณแม่ควรศึกษาการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองและทารกในครรภ์ รวมถึงเรียนรู้อาการที่เป็นสัญญาณผิดปกติ เพื่อสุขภาพครรภ์ที่แข็งแรงและพร้อมให้กำเนิดเจ้าตัวน้อยอย่างปลอดภัย

ท้อง 7 เดือน

พัฒนาการของทารกในครรภ์

เมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์เดือนที่ 7 ทารกจะเจริญเติบโตมากกว่าเดิมจนตัวใหญ่เกือบเต็มมดลูก โดยขนาดตัวของทารกจะอยู่ที่ประมาณ 40 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม คุณแม่จึงอาจรู้สึกว่าลูกดิ้นต่างจากเดิมเล็กน้อย ซึ่งจริง ๆ แล้วทารกยังคงเคลื่อนไหวตามปกติ แต่หากรู้สึกถึงความผิดปกติหรือรู้สึกว่าทารกเคลื่อนไหวน้อยลง คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ในช่วงนี้ทารกจะเริ่มพัฒนาการรับรู้รสชาติ และสามารถจดจำรสชาติเหล่านั้นได้ดีกระทั่งคลอดออกมาไปจนถึงอายุ 6 เดือน ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มรับประทานอาหารได้ ดังนั้น การรับประทานอาหารของคุณแม่ในช่วงท้อง 7 เดือนก็อาจส่งผลต่อการจดจำรสชาติของลูกน้อยได้ด้วย นอกจากนั้น เด็กในท้องยังเริ่มมีพัฒนาการของสมองที่ช่วยให้แยกแยะเสียงดนตรีหรือเสียงที่คุ้นเคยได้ รวมทั้งร่างกายก็จะเริ่มสะสมไขมันใต้ผิวหนัง เริ่มลืมตา หายใจได้เอง และไวต่อการกระตุ้น

ส่วนช่วงปลายของการตั้งครรภ์เดือนที่ 7 ทารกจะเริ่มหมุนเปลี่ยนท่าให้อยู่ในลักษณะกลับหัวลง เข่าทั้ง 2 ข้างจะงอติดหน้าอก ปลายคางชิดหัวเข่า แขนและขาอยู่ในท่าไขว้กัน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดออกมาในไม่ช้า แต่กระดูกบริเวณศีรษะของทารกจะเชื่อมติดกันหลังจากเด็กคลอดออกมาแล้ว ซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติที่ช่วยให้ง่ายต่อการคลอด ซึ่งขนาดตัวและน้ำหนักของเด็กจะเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นเดือนเล็กน้อย โดยทารกอาจมีขนาดตัวประมาณ 43 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 1.9 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม การเจริญเติบโตและพัฒนาการในครรภ์ของทารกแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป หากคุณแม่พบปัญหาหรือมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล เนื่องจากมีความเสี่ยงที่เด็กจะคลอดก่อนกำหนดได้ และเด็กอาจมีโอกาสรอดชีวิตได้สูงหากคลอดก่อนกำหนดในช่วงนี้

การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ที่ท้อง 7 เดือน

คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 7 เดือนอาจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายด้านต่าง ๆ เช่น มีปัญหาในการนอน ปัสสาวะบ่อยขึ้น เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม มีอาการปวดแบบไซติก้า (Sciatica) ซึ่งมักปวดตามเส้นประสาทบริเวณส่วนเอวไปถึงขา รู้สึกแสบร้อนกลางทรวงอก อาหารไม่ย่อย วิงเวียนศีรษะ รวมทั้งมีความรู้สึกแปลกไปจากเดิม เนื่องจากน้ำหนักตัวของทารกในครรภ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นต้น โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ไปจนกระทั่งช่วงที่ใกล้คลอด

นอกจากนี้ คุณแม่อาจมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกับทารกในครรภ์ ซึ่งอาจเพิ่มจากช่วงก่อนตั้งครรภ์กว่า 10-17 กิโลกรัม โดยเฉพาะหากตั้งครรภ์ลูกแฝด ท้องของคุณแม่จะใหญ่ขึ้นประมาณ 3.5-4 นิ้ว และแม่จะรู้สึกได้ว่าลูกขยับตัวอย่างชัดเจน เนื่องจากขนาดตัวทารกใหญ่ขึ้นและมีพื้นที่ในครรภ์น้อยลง จึงเหมือนว่าทารกดิ้นแรงและถี่ขึ้น

ในระหว่างนี้ คุณแม่อาจเฝ้าดูพัฒนาการลูกน้อยได้คร่าว ๆ จากการเคลื่อนไหวของเด็ก ทารกในครรภ์ที่มีอายุ 7 เดือนมักจะขยับตัวประมาณ 10 ครั้ง ภายใน 2 ชั่วโมง หากสัมผัสได้ถึงการขยับตัวที่ผิดปกติของทารกจนทำให้เกิดความกังวลใจ คุณแม่อาจลองดื่มน้ำเย็น เปิดเพลงฟัง หรือผ่อนคลายอารมณ์ด้วยการนวด ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นให้ทารกเคลื่อนไหวได้ดี 

คุณแม่ท้อง 7 เดือนกับเรื่องที่ควรเตรียมพร้อม

เมื่อใกล้ถึงเวลาที่ลูกน้อยจะได้ลืมตาออกมาดูโลก คุณแม่ยิ่งต้องดูแลสุขภาพของตนเองและทารกในครรภ์อย่างเหมาะสม การเตรียมความพร้อมสำหรับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจะช่วยคลายความกังวลในกรณีที่บางอย่างไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ ซึ่งเรื่องสำคัญที่คุณแม่ควรนึกถึง มีดังนี้

  • วางแผนเรื่องอาหาร การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตามคำแนะนำของแพทย์จะช่วยส่งเสริมสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ โดยเฉพาะอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงอย่างผักใบเขียว เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน หรืออาหารเสริมธาตุเหล็กอื่น ๆ ซึ่งช่วยเสริมกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดงในทารก และป้องกันคุณแม่จากภาวะขาดธาตุเหล็ก รวมทั้งสารอาหารจำเป็นสำหรับคนท้องอื่น ๆ ด้วย
  • รู้จักการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ ทารกมีการเจริญเติบโตตลอดเวลา โดยแต่ละคนมีรูปแบบการนอนหลับ การตื่น หรือการเคลื่อนไหวแตกต่างกัน คุณแม่จึงควรเรียนรู้ว่าลูกน้อยในครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เพื่อช่วยให้คุณแม่ทราบถึงการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติและรีบแจ้งให้แพทย์ทราบได้ทันการณ์
  • ตรวจครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ คุณแม่ควรใส่ใจไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ เนื่องจากเป็นช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ซึ่งแพทย์จะตรวจดูพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของทารก รวมถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีสังเกตอาการใกล้คลอด เพื่อให้คุณแม่พร้อมรับมือกับอาการที่อาจต้องเจออย่างถูกวิธี และเลือกวิธีคลอดได้อย่างเหมาะสม
  • เฝ้าระวังอาการผิดปกติ การตั้งครรภ์แต่ละครั้งมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เสมอ คุณแม่จึงควรทราบสัญญาณเตือนในเบื้องต้น โดยเฉพาะภาวะครรภ์เป็นพิษที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ซึ่งอาการที่บ่งบอกว่ากำลังเสี่ยงต่อภาวะนี้ ได้แก่ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง สายตาพร่ามัว อาเจียน คลื่นไส้ แขนขาบวม เป็นต้น ดังนั้น หากพบความผิดปกติดังกล่าวหรือพบอาการใด ๆ นอกเหนือจากนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด
  • ทำความเข้าใจและเรียนรู้อาการก่อนคลอด อาการเจ็บท้องช่วงใกล้คลอดนั้น อาจเป็นได้ทั้งเจ็บท้องหลอกหรือเจ็บท้องเตือนก่อนคลอด โดยคุณแม่แต่ละคนอาจมีอาการต่างกันออกไป ซึ่งการเรียนรู้สัญญาณเตือนก่อนคลอดและทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ อาจช่วยให้รับมือกับสถานการณ์คับขันได้เป็นอย่างดี
  • พูดคุยกับทารกในครรภ์ ทารกจะเริ่มจดจำเสียงได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ดังนั้น การสื่อสารด้วยการพูดคุยจึงเป็นเหมือนการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างแม่กับลูก และคุณแม่อาจอ่านหนังสือหรือร้องเพลงให้ลูกฟังได้เช่นกัน
  • เข้าร่วมชมรมหรือหลักสูตรอบรมคุณแม่ เป็นการเตรียมพร้อมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ด้วยกันเอง ซึ่งอาจช่วยบรรเทาความเครียดและแก้ปัญหาระหว่างตั้งครรภ์ให้ผ่านพ้นไปด้วยดี
  • วางแผนการคลอด การคลอดมีอยู่หลากหลายวิธี คุณแม่ควรศึกษาทางเลือกต่าง ๆ ในการคลอด และการดูแลตนเองกับทารกหลังการคลอด เพราะแต่ละวิธีมีข้อดีและข้อเสียต่างกัน โดยคุณแม่ควรคุยกับแพทย์และศึกษาข้อมูลล่วงหน้าให้ถี่ถ้วน

สัญญาณสำคัญที่ควรไปพบแพทย์

เมื่อเข้าสู่ช่วงการตั้งครรภ์ในเดือนที่ 7 มีโอกาสที่ลูกจะคลอดก่อนกำหนดได้ โดยอาจมีอาการที่เป็นสัญญาณบ่งบอก เช่น ปวดหน่วง ๆ บริเวณหลังหรือหลังด้านล่าง มีเลือดออกจากช่องคลอด น้ำเดิน ปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานหรืออวัยวะเพศ เป็นต้น หากคุณแม่รู้สึกเจ็บท้อง มีอาการในลักษณะดังกล่าว หรือไม่แน่ใจในอาการที่เกิดขึ้น ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที และควรจดจำรายละเอียดเกี่ยวกับอาการเจ็บท้องเพื่อแจ้งกับแพทย์ เช่น ระยะเวลาในการเจ็บท้องแต่ละครั้ง ความถี่ในการเจ็บท้อง เป็นต้น

โดยอาการสำคัญที่คุณแม่ควรไปพบแพทย์ทันที ได้แก่

  • มีเลือดหรือของเหลวไหลออกจากช่องคลอด
  • ปวดแบบบิด ๆ โดยปวดอย่างรุนแรงหรือผิดปกติ
  • การดิ้นและการเคลื่อนไหวของทารกผิดไปจากเดิม หรือน้อยกว่า 10 ครั้งภายใน 2 ชั่วโมง
  • หายใจลำบาก หรือหายใจแย่ลงเรื่อย ๆ

นอกจากนี้ แม้พบอาการเล็กน้อยอื่น ๆ ในช่วงที่ท้อง 7 เดือน คุณแม่ก็ไม่ควรละเลยสัญญาณเหล่านั้น เพื่อความปลอดภัยของตนเองและทารก และควรปรึกษาแพทย์หากมีข้อสงสัยหรือพบอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส อาเจียนรุนแรงหรืออาเจียนอย่างต่อเนื่อง ท้องเสียรุนแรง เป็นลมบ่อย ๆ รู้สึกปวดแสบปวดร้อนเมื่อถ่ายปัสสาวะ ตกขาวผิดปกติ มีเลือดออกจากช่องคลอดเรื่อย ๆ ใบหน้าและมือบวม สายตาพร่ามัวหรือมองเห็นเป็นจุด ๆ บ่อย ๆ หัวนมแตกหรือมีเลือดออก ปวดศีรษะรุนแรง ปวดหรือเป็นตะคริวตามแขนขาและหน้าอกบ่อย ๆ เป็นต้น