นกเขาไม่ขันกับข้อมูลที่คุณผู้ชายควรรู้

นกเขาไม่ขัน (Erectile Dysfunction) หมายถึงภาวะที่องคชาตไม่สามารถแข็งตัวได้ตามปกติเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หรือที่เรียกว่า หย่อนสมรรถภาพทางเพศชาย ซึ่งเป็นอาการที่เกิดได้ในทุกวัยและมักพบได้บ่อยตามอายุที่มากขึ้น โดยการศึกษาพบว่า ผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 70 ปีกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ประสบปัญหานกเขาไม่ขัน

ทั้งนี้นกเขาไม่ขันอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติในร่างกายที่ต้องได้รับการรักษา หรืออาจเป็นสัญญาณของปัญหาด้านอารมณ์และความสัมพันธ์ที่จะต้องได้รับการวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญเช่นกัน ดังนั้น หากเกิดความกังวลต่อนกเขาไม่ขันควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุของภาวะดังกล่าว เพราะการทราบถึงสาเหตุจะช่วยให้การรักษาดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นกเขาไม่ขันกับข้อมูลที่คุณผู้ชายควรรู้

นกเขาไม่ขันเกิดจากอะไร?

ปัจจัยในการตื่นตัวทางเพศของเพศชายนั้นเกี่ยวข้องกับการทำงานร่วมกันของสมอง ฮอร์โมน อารมณ์ เส้นประสาท กล้ามเนื้อ และเส้นเลือด เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดความผิดปกติ ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะนกเขาไม่ขันได้ โดยตัวอย่างของสาเหตุทางร่างกายที่อาจทำให้นกเขาไม่ขัน ได้แก่ โรคทางหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease) โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ภาวะคอเลสเตอรอลสูง มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอร์โรนต่ำ และอาจเป็นผลจากการสูบบุหรี่หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป 

นอกจากนี้นกเขาไม่ขันยังอาจเป็นผลมาจากความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับสภาพจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ความรู้สึกผิด เห็นคุณค่าในตนเองน้อย หรือมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อาจกระทบต่อการทำงานของสมองที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการแข็งตัวขององคชาตได้ 

นกเขาไม่ขันและวิธีรักษาที่เหมาะสม

แพทย์จะเลือกวิธีการรักษานกเขาไม่ขันตามสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติหรือสาเหตุที่ทำให้ภาวะดังกล่าวมีความรุนแรงมากขึ้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษามากที่สุด ซึ่งตัวอย่างของวิธีที่ใช้ในการรักษานกเขาไม่ขันมีดังต่อไปนี้

การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความรุนแรงของภาวะนกเขาไม่ขันนั้นสามารถทำได้ด้วยการเลิกสูบบุหรี่ ลดน้ำหนักหากมีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เพิ่มการออกกำลังกายหรือการทำกิจกรรมในแต่ละวัน เปิดโอกาสให้คู่ของตนเองเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษา ให้ความสำคัญกับการกำจัดความเครียด ความวิตกกังวลและปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ และหากเป็นผู้ติดสุราหรือติดยาเสพติด ก็ควรเข้ารับการบำบัดเพราะอาจทำให้ภาวะดังกล่าวรุนแรงขึ้น และอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้ด้วย

การใช้ยา

ยาในกลุ่มพีดีอี 5 อินฮิบิเตอร์ (Phosphodiesterase-5 Inhibitors: PDE-5) อย่างยาซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ยาทาดาลาฟิล (Tadalafil) ยาวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) และยาอะแวนาฟิล (Avanafil) เป็นยาที่นำมาใช้รักษานกเขาไม่ขันในลำดับแรก โดยตัวยาเหล่านี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณองคชาตคลายตัว เพิ่มการไหลเวียนเลือดและช่วยให้องคชาตแข็งตัวเมื่อได้รับการกระตุ้น ผู้ป่วยที่รับประทานยาในกลุ่มนี้อาจมีความแตกต่างกันในด้านของปริมาณยา ระยะเวลาการใช้ยาและภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยา โดยตัวยาอาจส่งผลให้ผิวแดง คัดจมูก ปวดหัว ปวดหลัง ท้องเสียหรือการมองเห็นผิดแปลกไปจากเดิม 

ทั้งนี้ยารักษานกเขาไม่ขันอาจใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยทุกคน และอาจมีประสิทธิภาพต่ำลงเมื่อใช้กับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางโรคอย่างผู้ที่ผ่าตัดต่อมลูกหมากหรือผู้ป่วยโรคเบาหวาน สำหรับผู้ที่รับประทานยากลุ่มไนเตรท (Nitrate) เพื่อรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยโรคหัวใจหรือภาวะหัวใจล้มเหลว และผู้ป่วยภาวะความดันโลหิตต่ำมาก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยารักษานกเขาไม่ขัน เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้

การใช้กระบอกสุญญากาศ 

ในกรณีที่อาการของผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้กระบอกสุญญากาศ ซึ่งจะมีลักษณะเป็นท่อกลวง ใช้ครอบองคชาตแล้วปั๊มอากาศออกจากท่อด้วยแรงมือหรือแบตเตอรี่เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปที่องคชาต เมื่อองคชาตแข็งตัวแล้ว ให้ถอดกระบอกสุญญากาศออกจากห่วงที่รัดอยู่บริเวณโคนองคชาต เพื่อให้เลือดค้างอยู่ในบริเวณดังกล่าวและรักษาการแข็งตัวขององคชาตไว้ แต่การใช้อุปกรณ์ดังกล่าวอาจทำให้เกิดรอยช้ำบริเวณองคชาตได้

การรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือก

การวิจัยพบว่า สมุนไพรหรืออาหารเสริมบางชนิดอาจนำมาใช้รักษานกเขาไม่ขันได้ เช่น รากสามสิบ โสมแดงเกาหลี แอล-อาร์จินีน (L-Arginine) แอลคาร์นิทีน (L-Carnitine) หรือฮอร์โมนดีเอชอีเอ (Dehydroepiandrosterone: DHEA) เป็นต้น แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัย รวมถึงอาจมีการปนเปื้อนระหว่างการผลิตและอาจเกิดอันตรายหากมีโรคประจำตัวหรือเมื่อรับประทานร่วมกับยาชนิดอื่น ๆ 

การรับคำปรึกษาทางจิตวิทยา

วิธีนี้จะใช้รักษาผู้ป่วยนกเขาไม่ขันเนื่องจากความเครียด ความกังวล ภาวะซึมเศร้า หรือเกิดความเครียดเนื่องจากนกเขาไม่ขัน ซึ่งการเข้ารับคำปรึกษานี้จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจอาการที่เกิดขึ้นและรับมือกับการรักษาได้ โดยแพทย์อาจให้คู่ของผู้ป่วยเข้ามามีส่วนร่วมในการเข้ารับการปรึกษาด้วย

การผ่าตัด

แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อใส่อุปกรณ์ไว้ในองคชาตทั้ง 2 ข้าง โดยมีทั้งรูปแบบที่ทำให้ให้องคชาตพองตัวและรูปแบบที่ทำให้องคชาตอ่อนตัว เป็นการผ่าตัดผ่านทางแผลขนาดเล็ก 1–2 แผลเท่านั้น แต่โดยส่วนใหญ่แพทย์จะไม่แนะนำให้ทำการผ่าตัดหากผู้ป่วยสามารถรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ได้หรือมีการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะเมื่อไม่นานมานี้ เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายจากการผ่าตัดได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไม่ควรมองว่าปัญหานกเขาไม่ขันเป็นปัญหาเรื้อรัง เพราะอาจก่อให้เกิดความวิตกกังวลหรืออาจทำให้มีอาการแย่ลงได้ อีกทั้งการให้คู่รักของตนเองเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษานั้นอาจช่วยให้การรักษาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นกเขาไม่ขันป้องกันได้

การป้องกันนกเขาไม่ขันสามารถทำได้ด้วยวิธีต่าง ๆ มากมาย เช่น

  • เลิกสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่อาจก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดนกเขาไม่ขันได้ 
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อย่างธัญพืชเต็มเมล็ด ผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันต่ำ ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันการเกิดโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง 
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อคลายความเครียด ช่วยในการลดน้ำหนัก และเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป และไม่ใช้สารเสพติด
  • หลีกเลี่ยงความเครียดหรือคลายเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ อย่างเดิน วิ่ง เล่นโยคะ การวาดภาพ หรือการจดจ่อกับลมหายใจเข้าออก 
  • ปรึกษาแพทย์หากสงสัยว่านกเขาไม่ขันเป็นผลมาจากการใช้ยา เพื่อให้แพทย์เป็นผู้ปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาที่เหมาะสม

การทำความเข้าใจต่อปัญหานกเขาไม่ขันว่าเป็นปัญหาที่พบได้มากถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยอย่างยิ่ง ดังนั้นเมื่อพบว่าตนเองมีปัญหาองคชาตแข็งตัวผิดปกติ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน โรคหัวใจหรือผู้ที่อาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับภาวะนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาทันที เพื่อให้แพทย์ระบุสาเหตุของนกเขาไม่ขันและวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที