นมแม่ เป็นอาหารมื้อแรกที่อุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญที่ไม่พบในน้ำนมประเภทอื่น ซึ่งเปรียบเสมือนภูมิต้านทานโรคและยาชั้นดีให้กับเด็กแรกเกิด นอกจากนี้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังเป็นการเสริมสร้างสายใยความอบอุ่นระหว่างแม่และลูก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเสริมสร้างพัฒนาการด้านอื่น ๆ
นมแม่ เป็นสุดยอดอาหารสำหรับทารกที่อุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ รวมไปถึงมีเอนไซม์ ฮอร์โมน และเม็ดเลือดขาวที่อยู่ในน้ำนมแม่ ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแรงและภูมิคุ้มกันให้แก่ทารก อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในอนาคต เช่น โรคกระเพาะ โรคเบาหวาน การติดเชื้อต่าง ๆ
ประโยชน์ของสารอาหารในนมแม่
นมแม่เป็นอาหารที่ย่อยง่ายสำหรับทารก โดยนมแม่มีส่วนประกอบของสารอาหารหลายร้อยชนิด ทั้งโปรตีน ไขมัน วิตามิน คาร์โบไฮเดรต เอนไซม์ ฮอร์โมน ไปจนถึงเม็ดเลือดขาว (Leukocytes) ที่เป็นสารภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับเชื้อโรคเช่นเดียวกับร่างกายของแม่ ซึ่งสารอาหารบางส่วนอาจพบได้เฉพาะในนมแม่เท่านั้น
ตัวอย่างสารอาหารสำคัญที่สามารถพบในน้ำนมแม่ เช่น
โปรตีน
ในน้ำนมแม่จะประกอบด้วยโปรตีนที่เรียกว่า เวย์ (Whey) และเคซีน (Casein) โดยโปรตีนที่พบในน้ำนมแม่เป็นชนิดที่ย่อยง่าย เต็มไปด้วยสารภูมิคุ้มกัน และไม่พบในนมผงทั่วไป เช่น
- แลคโตเฟอร์ริน (Lactoferrin) เป็นสารภูมิต้านทานโรคที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารที่ใช้ธาตุเหล็กในการเจริญเติบโต
- สารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี ชนิด IgA (Secretory IgA) ช่วยป้องกันการติดเชื้อของไวรัสและแบคทีเรีย โดยพบสารภูมิต้านทาน ชนิด IgG และ IgM อีกด้วย
- ไลโซไซม์ (Lysozyme) เป็นเอนไซม์ช่วยช่วยเพิ่มจำนวนเชื้อแบคทีเรียชนิดดีในร่างกาย อีกทั้งยังต่อต้านการติดเชื้ออีโคไล (E. Coli) และซาลโมเนลลา (Salmonella) ที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย
- ไบฟิดัส แฟคเตอร์ (Bifidus Factor) เป็นสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยจะช่วยปรับสภาวะของระบบย่อยอาหารให้มีความเป็นกรด เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตราย
ไขมัน
ไขมันเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตหลายด้านของทารก เช่น ช่วยในการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน ช่วยเสริมสร้างสมอง จอตา และระบบประสาท อีกทั้งยังเป็นแหล่งพลังงานหลักของทารกอีกด้วย
วิตามิน
ในน้ำนมแม่มีวิตามินอยู่หลายชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี วิตามินเค วิตามินซี กรดแพนโทเทนิก (Pantothenic Acid) หรือวิตามินบี 5 ซึ่งปริมาณและชนิดของวิตามินที่ทารกได้รับมักขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณแม่รับประทาน
คาร์โบไฮเดรต
น้ำตาลแล็กโทส (Lactose) เป็นสารคาร์โบไฮเดรตหลักในน้ำนมแม่ โดยมีอยู่ประมาณ 40% ของพลังงานทั้งหมด ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดจำนวนแบคทีเรียชนิดที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและเพิ่มแบคทีเรียชนิดดีในทางเดินอาหาร ทำให้ทารกไม่ป่วยง่าย และป้องกันการเกิดอาการท้องเสียในเด็กทารกอีกด้วย
แร่ธาตุต่าง ๆ
แร่ธาตุต่าง ๆ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ธาตุเหล็ก เซเลเนียม ซิงค์หรือแร่ธาตุสังกะสี ช่วยทำให้ร่างกายของทารกแข็งแรง โดยแร่ธาตุต่าง ๆ อาจมีส่วนช่วยในการบำรุงกระดูกให้แข็งแรง เพิ่มความสูงให้แก่ลูกน้อย เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ ป้องกันภาวะโลหิตจาง และช่วยเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้แก่ลูกน้อย
โดยทารกที่ได้รับนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดมักไม่ค่อยมีอาการป่วยจากโรคต่าง ๆ ในช่วงปีแรกหลังการคลอด เช่น ท้องเสีย การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โรคกระเพาะและลำไส้อักเสบ หรือการติดเชื้อที่บริเวณหู อีกทั้งยังอาจช่วยลดโอกาสการเกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว เช่น อาการแพ้ โรคหอบหืด น้ำหนักเกินเกณฑ์ โรคเบาหวาน
นอกจากนี้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังช่วยกระตุ้นให้มดลูกของคุณแม่เกิดการปรับตัวให้เข้าที่ได้เร็วมากขึ้น ลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่ และเป็นเสมือนสายใยความสัมพันธ์ที่แม่ส่งผ่านไปยังลูกน้อยด้วยการสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด
เรื่องควรรู้สำหรับการให้นมแม่ของคุณแม่มือใหม่
การเป็นคุณแม่มือใหม่อาจไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการให้นมแม่แก่ลูกน้อย ซึ่งเรื่องที่คุณแม่ควรรู้เกี่ยวกับนมแม่ อาจมีดังนี้
1. ระยะเวลาในการให้นมแม่
ทารกควรได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดจนถึงช่วง 6 เดือนแรกหลังการคลอด และอาจให้นมแม่ไปได้เรื่อย ๆ จนทารกมีอายุครบ 1 ปี ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ทารกควรได้รับนมแม่ไปจนถึงอายุ 2 ปี
อย่างไรก็ตาม หลังจาก 6 เดือนแรกผ่านไป คุณแม่ควรเริ่มให้เด็กรับประทานอาหารหลักเพิ่มทีละน้อยควบคู่กับนมแม่ เพื่อช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มและพัฒนาระบบต่าง ๆ ของร่างกายได้เร็วขึ้น ซึ่งระยะเวลาอาจไม่ได้เป็นตัวกำหนดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งหมด เพราะต้องดูจากสถานการณ์ของแต่ละคนร่วมด้วย
2. วิธีการปั๊มนมแม่สำหรับคุณแม่มือใหม่
คุณแม่หลายท่านอาจไม่สะดวกในการให้นมลูกได้ตลอดเวลาจากหลายปัจจัย เช่น บางส่วนต้องกลับไปทำงาน เต้านมมีอาการคัดตึงและเจ็บ ทารกอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ทารกไม่สามารถดูดนมได้เอง หรือคุณแม่อาจต้องการกระตุ้นให้เต้านมผลิตน้ำนมมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการเก็บน้ำนมไว้ล่วงหน้า
อย่างไรก็ตาม การปั๊มนมควรเลือกช่วงเวลาที่คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย โดยบางรายอาจใช้เวลาสักพักจึงเริ่มมีน้ำนมไหลออกมา ซึ่งการมองดูลูกน้อยหรือรูปถ่ายของลูกก็อาจช่วยกระตุ้นให้เก็บน้ำนมได้ง่ายขึ้น
การปั๊มนมสามารถทำได้ด้วยการใช้มือบีบบริเวณเต้านมหรือใช้เครื่องปั๊มนม ขึ้นอยู่กับความสะดวก และสถานการณ์ของคุณแม่แต่ละคน โดยความถี่และปริมาณน้ำนมที่เก็บอาจจะต่างกันออกไป เนื่องจากบางคนอาจมีน้ำนมน้อย น้ำนมไม่ไหล หรือมีเวลาในการปั๊มนมน้อย โดยวิธีการปั๊มนมแม่อาจทำได้ดังนี้
การปั๊มนมแม่ด้วยมือ
วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และไม่ต้องใช้อุปกรณ์เพิ่มเติม โดยก่อนปั๊มนมควรล้างมือให้สะอาด และอาจทำตามขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อเก็บน้ำนม ดังนี้
- นวดคลึงบริเวณเต้านมอย่างแผ่วเบา
- ใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งวางบริเวณลานหัวนมในลักษณะตัว C ส่วนนิ้วที่เหลือช่วยประคองเต้า จากนั้นค่อย ๆ บีบเป็นจังหวะอย่างเบามือ
- หากน้ำนมยังไม่ออกให้เปลี่ยนตำแหน่งนิ้วชี้และนิ้วโป้งเล็กน้อย แล้วเริ่มบีบเป็นจังหวะอีกครั้ง เมื่อน้ำนมเริ่มไหลช้าลงและหยุดจึงค่อยเปลี่ยนทำกับเต้านมอีกข้าง
การใช้เครื่องปั๊มนม
ในปัจจุบัน เครื่องปั๊มนมมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ เครื่องปั๊มนมไฟฟ้าหรือเครื่องปั๊มนมด้วยมือ โดยก่อนเริ่มใช้งานเครื่องควรอ่านวิธีใช้อย่างละเอียด ตรวจดูลักษณะภายนอกว่าไม่มีการชำรุด หรือตัวกรวยมีขนาดพอดีกับเต้านมหรือไม่ เมื่อเริ่มใช้งานควรค่อย ๆ ปรับแรงดูดของเครื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เต้านมเจ็บ
3. การเก็บรักษาน้ำนมแม่
น้ำนมแม่สามารถเก็บได้ในอุณหภูมิห้อง ช่องธรรมดา หรือช่องแช่แข็งในตู้เย็น โดยภาชนะที่ใช้เก็บควรผ่านการฆ่าเชื้อ เช่น ขวดนม ถ้วย หรือถุงเก็บนมแม่ที่หาซื้อได้ทั่วไป และควรเขียนวันที่กำกับอย่างชัดเจนไว้ที่ภาชนะทุกครั้งหลังการเก็บ ซึ่งระยะเวลาในการเก็บอาจแบ่งได้ดังนี้
- เก็บในอุณหภูมิห้องที่ไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้ประมาณ 6–8 ชั่วโมง
- เก็บในกล่องเก็บความเย็นและใส่ไอซ์ แพค (Ice Pack) สามารถเก็บได้นานประมาณ 24 ชั่วโมง แต่ควรให้น้ำนมสัมผัสโดนกับไอซ์ แพคตลอดเวลา และไม่ควรเปิดกล่องบ่อย ๆ เพื่อรักษาความเย็นให้คงที่
- เก็บในช่องแช่เย็นธรรมดาที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส ควรเก็บไว้ไม่เกิน 5 วัน
- การเก็บในช่องแช่แข็งในตู้เย็นแบบประตูเดียว อาจเก็บได้นาน 2 สัปดาห์
- ช่องแช่แข็งในตู้เย็นแบบ 2 ประตู หรือมีอุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้ 3–6 เดือน แต่ไม่ควรเก็บที่ฝาตู้เย็น
- ตู้แช่แข็งที่มีอุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้นานประมาณ 6–12 เดือน
สำหรับการเก็บในช่องแช่แข็ง ควรย้ายน้ำนมลงมาพักอยู่ในช่องธรรมดาก่อนการใช้งานประมาณ 1 วัน จากนั้นค่อยนำไปแช่ในน้ำอุ่น และควรใช้งานภายใน 1 วัน หากต้องการใช้อย่างเร่งด่วน สามารถแกว่งถุงนมในน้ำอุ่นจนน้ำนมละลายและอยู่ในอุณหภูมิห้อง สำหรับน้ำนมแม่ที่ให้ทารกดื่มแล้ว ควรดื่มให้หมดภายใน 1 ชั่วโมง และไม่ควรนำกลับไปแช่เย็นใหม่อีกครั้ง
4. ท่านั่งในการให้นมแม่
ในกรณีที่ให้ลูกเข้าเต้า ท่าทางการนั่งขณะให้นมแม่อย่างเหมาะสมอาจช่วยให้การให้นมบุตรง่ายขึ้น โดยก่อนการให้นมแม่ คุณแม่ควรหาสถานที่ที่สามารถนั่งได้อย่างสะดวก เพราะการให้นมแม่อาจใช้เวลานาน และอาจทำให้ปวดเมื่อยตามร่างกายได้
โดยคุณแม่ควรนั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักพิงหรือใช้หมอนเพื่อพิงหลัง ซึ่งอาจทำให้เด็กสามารถทิ้งน้ำหนักพิงลงบนร่างกายของคุณแม่ได้ จากนั้นอุ้มทารกในท่าให้นมลูกที่ถนัด และช่วยป้องกันไม่ให้แขนหรือหลังเกิดอาการปวด
นอกจากนี้ หากคุณแม่มีขนาดเต้านมที่ค่อนข้างใหญ่ อาจนอนตะแคงข้างระหว่างการให้นมลูกได้เช่นกัน อีกทั้งยังควรหมั่นสังเกตทารกขณะดื่มนมแม่จากเต้า โดยทารกควรอมครอบทั้งหัวนม ไม่ควรอมหัวนมเพียงครึ่งเดียว เพราะอาจทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บหัวนมได้
5. คำแนะนำในการปรับตัวสำหรับคุณแม่ที่ให้นม
ในช่วงการให้นมบุตร คุณแม่อาจต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อชีวิตประจำวัน ซึ่งคุณแม่อาจรู้สึกกังวลว่าลูกน้อยจะได้รับนมแม่ไม่เพียงพอและต่อเนื่อง ดังนั้น การวางแผนล่วงหน้าอาจช่วยคลายความกังวลได้
สำหรับคุณแม่ที่ต้องกลับไปทำงาน ควรปรึกษากับที่ทำงานก่อนลาคลอด เพื่อช่วยให้การวางแผนเรื่องให้นมลูกน้อยเป็นไปอย่างราบรื่นหลังการคลอดเสร็จสิ้น หากเป็นสถานที่ทำงานที่มีบริการรับฝากเลี้ยงเด็ก คุณแม่อาจกลับมาให้นมแก่ลูกน้อยในระหว่างวันได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่สามารถอยู่กับลูกได้ ควรเตรียมการเก็บน้ำนมสำรองไว้ เมื่อคุณแม่ต้องกลับไปทำงานหรือทำกิจกรรมอื่น
นอกจากนี้ คุณแม่มือใหม่บางท่านอาจเกิดอาการเขินในการให้นมบุตรในที่สาธารณะ โดยคุณแม่อาจปรับตัวโดยการสวมใส่เสื้อผ้าที่เปิดหน้าอกได้สะดวก และใช้ผ้าคลุมให้นมคลุมทับอีกครั้ง หรือหันตัวเข้าในด้านที่มีคนน้อยหรือเข้าหากำแพง เพื่อให้ลูกน้อยดูดนมแม่ได้อย่างสะดวก อย่างไรก็ตาม ในบางสถานที่อย่างศูนย์การค้าขนาดใหญ่มักมีบริการห้องให้นมลูก ซึ่งอาจช่วยให้การให้นมแม่สะดวกยิ่งขึ้น
ข้อควรระวังจากการให้ลูกน้อยดื่มนมแม่
ในการให้นมแม่ อาหารและเครื่องดื่มบางประเภทที่คุณแม่รับประทานเข้าไปอาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้นมในเด็ก ซึ่งจะพบได้บ่อยในผลิตภัณฑ์จากนมวัว ข้าวสาลี ถั่ว เนื้อปลาบางชนิด ไข่ และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง โดยเด็กที่เกิดอาการแพ้จะสามารถสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ เช่น
- แหวะนมหรืออาเจียนบ่อย ๆ
- ปวดท้อง ท้องป่องจากแก๊สในท้องมาก หรือสังเกตจากการยกขาของลูกทั้ง 2 ข้าง แล้วเด็กร้องไห้งอแง
- ถ่ายเป็นมูกปนเลือด
- อุจจาระแข็ง
- มีผื่นขึ้น และเกิดอาการบวม
นอกจากนี้ ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด ทารกแรกเกิดบางรายที่ดื่มนมแม่อาจเกิดอาการดีซ่าน ซึ่งเป็นอาการที่ทารกมีอาการตัวเหลืองและตาเหลือง โดยอาการเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ ไม่เป็นอันตราย และสามารถดีขึ้นได้เองเมื่อเวลาผ่านไป โดยระหว่างนี้ คุณแม่ยังคงสามารถให้นมบุตรต่อไปได้เหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม หากลูกมีอาการดีซ่านเกิดขึ้นพร้อมกับอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้สูง อ่อนเพลีย ดื่มนมแม่ได้น้อยลง หรือมีอาการชัก อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่อันตรายได้ คุณแม่ควรพาลูกน้อยไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ