นวดกดจุดเป็นการนวดบรรเทาอาการปวดตามร่างกายรูปแบบหนึ่ง โดยช่วยคลายความตึงของกล้ามเนื้อตามส่วนต่าง ๆ พร้อมกับช่วยให้จิตใจและร่างกายของผู้เข้ารับการนวดได้ผ่อนคลายและสงบลง นอกจากนี้ การนวดกดจุดอาจช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดและปรับสมดุลภายในร่างกาย ทำให้มีความเชื่อว่าการนวดกดจุดอาจช่วยบรรเทาโรคบางชนิดได้
การนวดกดจุดมีรากฐานมาจากการรักษาแบบจีนโบราณ ในปัจจุบันแพทย์แผนจีนเป็นหนึ่งในแพทย์ทางเลือกที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ซึ่งการกดจุดตามร่างกายอาจใช้เป็นการรักษาเสริมในผู้ป่วยที่เพิ่งผ่านการผ่าตัด การทำเคมีบำบัด การฉีดยาชา (Spinal Anesthesia) และอาการแพ้ท้องในหญิงตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้อาจมีความเสี่ยงที่ควรศึกษาก่อนที่จะเข้ารับการรักษา
นวดกดจุดกับความเชื่อในการรักษา
อย่างที่ได้กล่าวไปว่า การนวดกดจุดเป็นการรักษารูปแบบหนึ่งของแพทย์แผนจีนที่มีประวัติยาวนานหลายพันปี ทำให้การนวดและการกดจุดมาพร้อมกับความเชื่อคล้ายกับการรักษาแพทย์แผนจีนแขนงอื่นที่ว่ากันด้วยเรื่องของพลังชีวิตหรือ ชี่ (Qi) ซึ่งไหลผ่านเส้นเมอริเดียน (Body’s Meridian Line) หรือเส้นลมปราณตามคติของจีนที่พาดผ่านอวัยวะทั่วร่างกาย
เมื่อจุดใดจุดหนึ่งในเส้นนี้เกิดการอุดตันก็จะทำให้พลังชีวิตติดขัด ไม่สมดุล และเกิดอาการเจ็บป่วย การนวดกดจุดจึงมีจุดประสงค์เพื่อคลายการอุดตันหรือกระตุ้นการไหลเวียนของเส้นพลังชีวิตนี้ เมื่อพลังชีวิตไหลเวียนได้สะดวกและสมดุลขึ้นก็จะช่วยให้ร่างกายกลับมาเป็นปกติ
การนวดกดจุดอาจเรียกกันในอีกชื่อว่าการกดจุดสะท้อน (Reflexology) ชาวจีนโบราณเชื่อว่าภายในร่างกายคนเรามีจุดผ่านของเส้นพลังชีวิตหลายพันจุด โดยแต่ละจุดของร่างกายก็เชื่อมโยงกับอวัยวะภายใน เช่น พังผืดที่อยู่ใต้ผิวหนังบริเวณโคนนิ้วชี้และหัวแม่มือจะเชื่อมต่อกับลำไส้ใหญ่ หรือผิวหนังเหนือข้อเท้าด้านในเป็นจุดสะท้อนของม้าม หากมีปัญหาเกี่ยวกับอวัยวะภายใน การกดจุดบริเวณดังกล่าวอาจช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการได้
ในการนวดกดจุดแต่ละครั้งมักใช้เวลาราว 1–2 ชั่วโมง ผู้นวดอาจใช้นิ้วมือ ฝ่ามือ ข้อศอก เท้า และอุปกรณ์ในการนวดกดจุดต่าง ๆ ตามเส้นเมอริเดียนเพื่อบรรเทาอาการ อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้เกี่ยวกับความเชื่อและมีการศึกษารองรับค่อนข้างจำกัด ทำให้ไม่สามารถยืนยันสรรพคุณในการรักษาโรคต่าง ๆ โดยตรงตามทฤษฎีดังกล่าว
การนวดกดจุดเพื่อสุขภาพ
ความเชื่อและการศึกษาบางส่วนพบว่า การนวดกดจุดอาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านต่อไปนี้
1. บรรเทาอาการปวด
แน่นอนว่าผู้ที่เข้ารับการนวดส่วนใหญ่มักหวังผลเรื่องการบรรเทาอาการปวดตามร่างกาย ซึ่งการนวดและการกดจุดอาจช่วยลดความตึงของกล้ามเนื้อ เพิ่มการไหลเวียนเลือด และกระตุ้นการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ภายในร่างกายที่สามารถระงับอาการปวดได้ ด้วยผลลัพธ์นี้ การนวดกดจุดจึงอาจช่วยบรรเทาอาการปวดตามร่างกาย อาการปวดหลังผ่าตัด อาการปวดจากโรคข้ออักเสบ และอาการปวดศีรษะได้
ในแง่ของงานวิจัยและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ก็มีการศึกษาบางส่วนชี้ว่า การกดจุดนั้นอาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้หลากหลายรูปแบบ โดยผลลัพธ์นี้ศึกษาในผู้ที่เข้ารับการนวดกดจุดต่อเนื่องกันหลายสัปดาห์ การเข้ารับการรักษาด้วยการนวดกดจุดจึงอาจต้องอาศัยระยะเวลาและความถี่ในการรักษา อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องรองานวิจัยเพิ่มเติมมายืนยันประสิทธิภาพ เนื่องจากงานวิจัยส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยขนาดเล็ก มีวิธีทดลองที่ขาดคุณภาพ และการเก็บข้อมูลที่เสี่ยงต่อการคลาดเคลื่อนได้ง่าย
2. ลดอาการคลื่นไส้จากภาวะสุขภาพ
งานวิจัยบางส่วนชี้ว่า การกดจุดอาจช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากการตั้งครรภ์และผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็ง อย่างการผ่าตัด การฉีดยาสลบ และการทำเคมีบำบัดได้ โดยผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าการกดจุดบริเวณร่องที่อยู่ระหว่างเส้นเอ็นบริเวณข้อมือที่ติดกับฝ่ามือส่วนล่างอาจช่วยระงับและบรรเทาอาการดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เรื่องคลื่นไส้อาเจียนกับนวดกดจุดยังไม่ได้รับการยืนยันแน่ชัด เนื่องจากงานวิจัยครึ่งหนึ่งไม่มีความน่าเชื่อถือในแง่การออกแบบการทดลองตั้งแต่ต้น โดยวิธีศึกษาและผลลัพธ์ยังมีข้อโต้แย้ง และกลุ่มตัวอย่างก็เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน ดังนั้น ก่อนการกดจุดเพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้ด้วยตนเอง ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือและความเสี่ยงเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
3. รักษาโรคอื่น ๆ
นอกจากเหนือจากสรรพคุณทั้งสองข้อที่ได้กล่าวไป การนวดกดจุดอาจใช้ในการรักษาโรคอื่น ๆ อย่างโรคหืด ภาวะวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าได้
อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีการนวดกดจุดนั้นมีข้อจำกัดทางการศึกษาค่อนข้างมากจึงไม่สามารถยืนยันถึงสรรพคุณการรักษาที่แน่ชัดได้ และแม้ว่าบางสรรพคุณจะมีงานวิจัยบางส่วนรองรับแต่ก็อาจไม่เพียงพอและวิธีดังกล่าวไม่ใช่การรักษาหลัก จึงควรปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบันก่อนเข้ารับการรักษา
ข้อควรระวังในการนวดกดจุด
แม้ว่าการนวดและการกดจุดเพื่อการผ่อนคลายส่วนใหญ่สามารถทำได้อย่างปลอดภัย แต่อาจยกเว้นในคนบางกลุ่มที่เสี่ยงต่อผลข้างเคียง โดยเฉพาะคนกลุ่มต่อไปนี้
- คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรังหรือโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง โดยเฉพาะโรคมะเร็งกระดูก เซลล์มะเร็งที่ลุกลามมายังกระดูก เป็นต้น
- ผู้ที่มีอาการเส้นเลือดขอด
- ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับการอักเสบหรือบาดเจ็บของกระดูกและเส้นประสาท เช่น โรคข้ออักเสบชนิดต่าง ๆ โรคกระดูก และการบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง
จากตรงนี้จะเห็นได้ว่า สรรพคุณของการนวดกดจุดและข้อจำกัดในการนวดมีความขัดแย้งกันอยู่ อย่างการกดจุดที่ช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนในคนตั้งครรภ์ แต่คนตั้งครรภ์เองก็เป็นกลุ่มที่อาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงเช่นเดียวกัน ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในกลุ่มข้างต้นหรือมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้าก่อนเข้ารับการรักษาด้วยการนวดกดจุดเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
การนวดกดจุดด้วยตนเอง
หากไม่มีภาวะสุขภาพในข้างต้นและอยากบรรเทาอาการปวดตามร่างกายอาจลองการนวดกดจุดด้วยตนเอง วิธีการนวดนั้นก็ไม่ยาก เริ่มต้นจากผ่อนคลายร่างกาย หลับตา หายใจให้ลึกและช้า จากนั้นออกแรงกดจากนิ้วมือไปยังจุดสะท้อน เช่น การกดจุดเพื่อบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่างด้วยท่ายืน ใช้มือทั้งสองข้างจับไปยังบริเวณเอวและให้นิ้วหัวแม่อยู่บริเวณหลังส่วนล่าง จากนั้นออกแรงกดบริเวณดังกล่าว 5 วินาที และทำซ้ำทั้งหมด 3 ครั้ง
ในการกดจุดอาจใช้วิธีหมุนนิ้วหรือใช้นิ้วคลึงเป็นวงในบริเวณดังกล่าว ควรกดนิ้วให้กระชับและรู้สึกตึงหรือปวดเล็กน้อย แต่ถ้ารู้สึกเจ็บแปลบหรือมีอาการผิดปกติ ควรหยุดนวดทันที และหากอาการเจ็บไม่หายไป ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ
สุดท้ายนี้ การนวดกดจุดเป็นเพียงทางเลือกในการดูแลสุขภาพหรือการรักษาเสริม ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรืออาการเจ็บป่วย ควรไปพบแพทย์แผนปัจจุบันเป็นหลักเพื่อเข้ารับการตรวจและรักษาอย่างถูกต้อง หากต้องการนวดกดจุด ควรสอบถามความเสี่ยงและคำแนะนำจากแพทย์ก่อนเข้ารับบริการ รวมทั้งเลือกสถานบริการที่มีใบรับรองและน่าเชื่อถือ