นักสูบควรระวัง บุหรี่อาจเพิ่มความเสี่ยงจากโควิด-19 ได้มากกว่าที่คิด

บุหรี่เป็นหนึ่งในสารเสพติดที่ประกอบไปด้วยสารพิษหลายชนิด แม้ว่าสารพิษจะไม่ส่งผลเสียที่ชัดเจน แต่สารเหล่านั้นจะค่อย ๆ ทำลายปอดจนปอดอ่อนแอได้ ซึ่งโรคโควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและปอดก็เป็นอวัยวะภายในระบบนี้ หากผู้สูบบุหรี่ติดเชื้อโควิด-19 ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การสูบบุหรี่เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคเรื้อรังหลายโรค อย่างโรคปอดและโรคหัวใจ จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนชี้ว่า ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากกว่าคนกลุ่มอื่น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้ใช้บุหรี่มวนเท่านั้น แต่ผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าก็มีเสี่ยงเช่นเดียวกัน ไม่เพียงในแง่ของความรุนแรงจากโรคที่เพิ่มมากขึ้น แต่รวมถึงความเสี่ยงในการรับเชื้อก็เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

2705-บุหรี่-โควิด-19

สูบบุหรี่และโรคโควิด-19

ผู้ที่สูบบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าอาจมีอัตรากการติดเชื้อโควิด-19 สูงกว่าคนทั่วไป โดยช่องทางในการติดเชื้อมาจากการสูดดมละอองน้ำลายหรือสารคัดหลั่งโดยตรง รวมทั้งเกิดจากการสัมผัสกับสิ่งของที่มีการปนเปื้อนสารคัดหลั่ง อย่าวราวจับ โต๊ะ หรือลูกบิดประตู และนำมือที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสมาสัมผัสกับปาก จมูก และดวงตาจนทำให้เกิดการติดเชื้อ นอกจากนี้ การสูบบารากุ (Baraku) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ต้องใช้ร่วมกับคนอื่น ๆ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงจากการสัมผัสเชื้อจากในน้ำลายโดยตรงได้

นอกจากอัตราการติดเชื้อที่สูงกว่าคนทั่วไปแล้ว การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ายังเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายด้วยเช่นกัน เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปว่าการสูบบุหรี่ ทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคเรื้อรังและร้ายแรงได้หลายโรค ทั้งโรคปอด โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสูบมาเป็นระยะเวลานาน

จากการศึกษาข้อมูลการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลายชิ้นชี้ว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่สูบประมาณ 1.4 เท่า และมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายที่ต้องเข้าห้อง ICU ใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือเจ็บป่วยถึงขั้นเสียชีวิตสูงกว่าผู้ที่ไม่สูบประมาณ 2.4 เท่า

นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอดและระบบการหายใจ อย่างโรคมะเร็งปอดหรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) อาจมีความเสี่ยงในการเกิดอาการป่วยที่รุนแรงและอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นมากเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังมีรายงานระบุว่า เชื้อไวรัสในตระกูลโคโรนาอาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนอันตรายในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย 

หากผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวเป็นกลุ่มผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่เสี่ยงต่อโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โรคไต โรคตับ หรือโรคอ้วน อาจมีความเสี่ยงที่อาการจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นและมีอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มสูงมากขึ้นด้วย

ผู้สูบบุหรี่ ดูแลตนเองอย่างไรในช่วงโควิด-19 ?

ในช่วงสถานการณ์ที่การระบาดของโรคยังไม่สิ้นสุดและยังไม่มีวัคซีนป้องกัน อาจเป็นช่วงที่เหมาะแก่การลดและเลิกสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ไม่เพียงเพิ่มความเสี่ยงให้กับคนที่สูบเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงให้คนรอบข้างด้วย อย่างไรก็ตาม การเลิกบุหรี่อาจต้องใช้เวลา จึงอาจลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อไวรัสตามวิธีต่อไปนี้

  • ลดปริมาณบุหรี่และความถี่ในการสูบให้ได้มากที่สุด
  • งดสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ารวมกับคนอื่น
  • งดสูบบุหรี่ในบ้านหรือสถานที่ที่มีคนอื่นอยู่
  • ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำ
  • ล้างมือด้วยสบู่อย่างน้อย 20 วินาทีต่อครั้ง ทั้งก่อนและหลังสูบบุหรี่

นอกจากนี้ ควรทำตามวิธีป้องกันโรคติดต่อทั่วไปควบคู่ไปด้วย อย่างสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ หลีกเลี่ยงพื้นที่คนเยอะ รักษาระยะห่างทางสังคม และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับคนป่วย หากพบอาการผิดปกติ เช่น เป็นไข้ ไอ หายใจลำบาก ได้กลิ่นน้อยลง หรืออาการป่วยอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาโรค