นับวันไข่ตกเป็นการคำนวณเวลาที่รังไข่จะปล่อยไข่ที่พร้อมปฏิสนธิลงไปยังมดลูกเพื่อรอการปฏิสนธิจากอสุจิของเพศชาย การนับวันไข่ตกเป็นเรื่องที่ควรรู้และอาจมีประโยชน์มาก เพราะการนับวันไข่ตกอาจช่วยให้ผู้หญิงให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เตรียมตัวรับมือกับรอบเดือนที่จะมาถึง และยังอาจช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์สำหรับคู่รักที่ต้องการจะมีลูกน้อย
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งก็มีทฤษฎีเกี่ยวกับการนับวันตกไข่ที่หลายคนอาจนำไปใช้โดยที่ไม่ทราบดีพอ หรือไม่ได้ตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น อย่างทฤษฎีเรื่องการนับหน้า 7 หลัง 7 ที่หลายคนเชื่อว่าการมีเพศสัมพันธ์กันในช่วงนี้จะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ แม้ไม่ได้สวมถุงยางหรือใช้วิธีป้องกันรูปแบบอื่นก็ตาม ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรสามารถติดตามได้จากบทความนี้
วิธีนับวันไข่ตก
ตามทฤษฎีแล้วการตกไข่จะเกิดขึ้นเดือนละ 1 ครั้ง และประจำเดือนจะมาทุก ๆ 28 วัน ถ้าหากประจำเดือนมาเป็นปกติและมาตรงเวลา การนับวันไข่ตกก็จะมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น การนับวันไข่ตกจะเริ่มนับวันที่ประจำเดือนมาวันแรกเป็นวันที่ 1 เมื่อถึงวันที่ 14 ก็จะเป็นวันที่ไข่ตกลงมาสู่ท่อนำไข่ แล้วเคลื่อนไปยังมดลูก รอเวลาพร้อมที่จะปฏิสนธิเพื่อตั้งครรภ์ ซึ่งการนับวันไข่ตกอาจมีประโยชน์ ดังนี้
- เตรียมรับมือกับประจำเดือน
เมื่อไข่ตกลงมาจากรังไข่ และไม่มีการปฏิสนธิในช่วงไข่ตก ไข่ใบนั้นก็จะฝ่อและขับออกมาในเป็นประจำเดือนหลังจากวันไข่ตกประมาณ 14 วัน - ต้องการตั้งครรภ์
ในกรณีที่ต้องการมีลูก ว่าที่คุณพ่อคุณแม่อาจมีเพศสัมพันธ์ก่อนวันไข่ตกราว 1-2 วัน โดยตัวอสุจิจากฝ่ายชายจะเข้าไปรอและมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 2 วัน ซึ่งจะตรงกับช่วงไข่ตกพอดี
- ป้องกันการตั้งครรภ์
หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า หน้า 7 หลัง 7 และมักเข้าใจกันว่าเป็นช่วงที่มีเพศสัมพันธ์กันแล้วจะไม่ตั้งครรภ์ โดยทฤษฎีหน้า 7 หลัง 7 นั้นหมายถึงช่วง 7 วันก่อนและหลังมีประจำเดือนวันแรก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการใช้ทฤษฎีนี่เป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมอย่างมาก เนื่องจากประจำเดือนและวันไข่ตกของแต่ละคนไม่เท่ากัน รวมทั้งอาจมีสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้วันที่ประจำเดือนมาคลาดเคลื่อนไปจากเดิม ดังนั้น จึงควรใช้ถุงยางอนามัย หรือวิธีการป้องกันการตั้งครรภ์ในรูปแบบอื่น ๆ หรือนำมาใช้ร่วมกับการนับวันไข่ตกเพื่อลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์อย่างมีประสิทธิภาพ
สัญญาณที่บ่งบอกถึงการตกไข่
ช่วงการตกไข่ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนหลายชนิด ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการ ดังนี้
- มีเมือกหรือตกขาวบริเวณปากมดลูก
- อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น
- มีอารมณ์ทางเพศเพิ่มขึ้น
- เจ็บคัดเต้านม
- ปวดท้องน้อยข้างเดียว
อย่างไรก็ตาม สัญญาณการตกไข่เหล่านี้เป็นเพียงตัวช่วยเพื่อให้สังเกตตัวเองมากยิ่งขึ้น แต่ไม่สามารถชี้ชัดถึงการตกไข่ได้ และในบางคนอาจไม่ปรากฏอาการใด ๆ หากต้องการทราบแน่ชัดอาจใช้ตัวช่วยอย่างชุดตรวจการตกไข่ที่มีจำหน่ายตามร้านขายยาหรืออุปกรณ์การแพทย์ทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีเว็บไซต์และแอพลิเคชั่นสำหรับการนับวันตกไข่ ซึ่งจะช่วยให้นับวันตกไข่ได้ง่ายขึ้น