น้ำตาลในเลือดสูงเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร บ่งบอกถึงภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย ตามัว เหนื่อยหรืออ่อนเพลียมากกว่าปกติ โดยน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร มักเกิดขึ้นในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน แต่ก็อาจเกิดในผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน
เมื่อวัดระดับน้ำตาลหลังกินอาหาร 2 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลในเลือดของคนปกติควรอยู่ระหว่าง 72–99 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากมีน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ควรรีบควบคุมระดับน้ำตาลให้ลดลง เพราะการปล่อยภาวะน้ำตาลในเลือดสูงทิ้งไว้ โดยไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายอย่างภาวะเลือดเป็นกรด (DKA)
สาเหตุที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงเกิน 200
น้ำตาลในเลือดสูงเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เป็นระดับน้ำตาลที่บ่งบอกถึงภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการที่ร่างกายมีอินซูลินไม่เพียงพอ โดยอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่มีหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือด หากอินซูลินไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
โดยสาเหตุที่อาจส่งผลให้ร่างกายมีอินซูลินไม่เพียงพอ และทำให้น้ำตาลในเลือดสูงเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น
1. ภาวะดื้ออินซูลิน
ภาวะดื้ออินซูลิน คือภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินน้อยลง จึงอาจส่งผลให้ร่างกายต้องการอินซูลินมากขึ้นเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้คงที่ หากตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรได้
ภาวะดื้ออินซูลินอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือเรื้อรัง โดยสาเหตุอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น
- โรคอ้วน หรือน้ำหนักเกินเกณฑ์
- การขาดการออกกำลังกาย
- การกินอาหารที่มีน้ำตาล คาร์โบไฮเดรต หรือไขมันอิ่มตัวในปริมาณมาก
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยารักษาโรคความดันโลหิต ยาที่ใช้รักษาการติดเชื้อ HIV และยารักษาโรคทางจิตเวชบางชนิด
- การมีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) โรคไขมันพอกตับ หรือกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing Syndrome)
2. ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับตับอ่อน
อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ผลิตโดยตับอ่อน หากตับอ่อนได้รับความเสียหายจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง มะเร็งตับอ่อน หรือโรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) อาจส่งผลให้การผลิตอินซูลินลดลง เมื่ออินซูลินไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และอาจทำให้น้ำตาลสูงเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรได้
3. ความเครียด
ในขณะที่มีความเครียดเกิดขึ้น ร่างกายอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย เช่น ฮอร์โมนความเครียดหรือฮอร์โมนคอร์ติโซนเพิ่มขึ้น ระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้น ระดับอินซูลินลดลง ร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้
4. ปรากฏการณ์รุ่งอรุณ (The dawn phenomenon)
ปรากฏการณ์รุ่งอรุณอาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในตอนเช้า โดยปรากฏการณ์รุ่งอรุณอาจเกิดขึ้นเมื่อร่างกายปล่อยโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ฮอร์โมนคอร์ติโซน และฮอร์โมนอื่น ๆ ในช่วงเช้ามืด ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้อาจกระตุ้นให้ตับปล่อยน้ำตาลกลูโคสที่กักเก็บไว้ อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน จึงอาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
5. โรคเบาหวาน
ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอาจมีระดับน้ำตาลสูงเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาล ซึ่งอาจส่งผลให้มีระดับน้ำตาลสูงอยู่บ่อยครั้ง โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การลืมกินยาเบาหวานหรือฉีดอินซูลิน การกินอาหารที่มีน้ำตาลหรือแป้งเยอะ การขาดการออกกำลังกาย
วิธีรับมืออย่างถูกต้องเมื่อน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 200
ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เป็นสิ่งที่ควรเอาใจใส่ เพราะการปล่อยภาวะน้ำตาลสูงทิ้งไว้โดยไม่รักษา อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายต่าง ๆ ตามมา เช่น เส้นประสาทได้รับความเสียหาย หัวใจขาดเลือด ไตวาย ภาวะเลือดเป็นกรด (DKA)
โดยสิ่งสำคัญในการรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดสูง คือ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ลดลง ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร สามารถทำได้หลายวิธี เช่น ลดปริมาณอาหารต่อมื้อให้น้อยลง หลีกเลี่ยงการกินขนมหรือของว่างต่าง ๆ รวมไปถึงอาหารที่มีน้ำตาลและแป้งเยอะ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายจะช่วยคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น หากน้ำตาลในเลือดสูง การออกกำลังกายอาจช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้
- รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ การลดหรือรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอาจช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้
- จัดการความเครียดที่เกิดขึ้นด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การเล่นโยคะ การนั่งสมาธิ อาจช่วยคลายเครียด และลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
- กินยาเบาหวานหรือฉีดอินซูลินตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด หากมีระดับน้ำตาลสูงเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรบ่อยครั้ง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับยาให้เหมาะสมต่ออาการ
- ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ การตรวจวัดระดับในเลือดเป็นประจำอาจช่วยให้การควบคุมน้ำตาลดีขึ้น อีกทั้งยังอาจช่วยให้รับมือกับภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
- งดสูบบุหรี่ เนื่องจากสารเคมีต่าง ๆ ในบุหรี่อาจทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลยากขึ้น ดังนั้น การงดสูบบุหรี่อาจช่วยให้ระดับน้ำตาลลดลงได้ดีขึ้น
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์อาจส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นหรือลดลงได้ การงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงอาจช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ หากผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานมีน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยวิธีการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1c) เพื่อวินิจฉัยว่าน้ำตาลในเลือดสูงเกิดจากเบาหวานหรือสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากมีน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 200 ร่วมกับอาการภาวะน้ำตาลในเลือดสูงร่วมกับเลือดเป็นกรด เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้ หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว หรือหมดสติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสมก่อนเป็นอันตราย