น้ำท่วมเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทุกปี ระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้สภาพแวดล้อมเกิดความเปลี่ยนแปลง โดยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพและอุบัติเหตุได้ อีกทั้งการคมนาคมที่ลำบาก ผู้ที่อยู่พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมจึงควรศึกษาข้อมูลเพื่อรับมือกับปัญหาสุขภาพและอุบัตเหตุที่อาจเกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วมอย่างถูกวิธี ในบทความนี้ได้รวบรวมปัญหาสุขภาพและอุบัติเหตุในช่วงน้ำท่วม พร้อมวิธีรับมือมาให้ได้ศึกษากัน
ปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นมักชะล้างเอาสิ่งสกปรกและเชื้อโรคจากที่ต่าง ๆ มารวมกัน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแพร่พันธุ์ของแมลงที่เป็นพาหะนำโรค เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส อีกทั้งระดับน้ำที่สูงขึ้นยังส่งผลให้สัตว์สัตว์มีพิษอพยพหนีน้ำมาอยู่ในที่พักอาศัยของคน โดยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพที่มักเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ อย่างอาหารเป็นพิษ โรคฉี่หนู และโรคไข้เลือดออก รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงในการได้รับบาดเจ็บจากการถูกสัตว์มีพิษกัดต่อยและอุบัติเหตุอื่น ๆ อีกด้วย
ปัญหาสุขภาพที่มากับน้ำท่วม
โรคที่มักพบในช่วงน้ำท่วมอาจมี ดังนี้
-
อาหารเป็นพิษ
ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป การปรุงอาหารสดใหม่ทุกมื้ออาจเป็นเรื่องที่ลำบาก จึงอาจมีการเก็บอาหารไว้สำหรับรับประทานในมื้อต่อ ๆ ไป ซึ่งการเก็บอาหารไว้นานเกินไปอาจทำให้เชื้อโรคเติบโตได้และเมื่อรับประทานเข้าไปจึงอาจทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เบื้องต้นมักทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดบิด คลื่นไส้ อาเจียน และถ่ายเหลว โดยอาการอาจเกิดภายหลังรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนราว 2-12 ชั่วโมง
อาหารเป็นพิษมักหายได้เองภายในไม่กี่วันหรือนานกว่านั้นเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นต่อเนื่องกันเป็นเวลานานหรืออาการรุนแรงขึ้นควรไปพบแพทย์ ในกรณีที่มีการถ่ายเหลวหรืออาเจียนเป็นจำนวนมากควรดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ อย่างไรก็ตาม โรคนี่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดได้ด้วยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ล้างวัตถุดิบด้วยน้ำสะอาด ดื่มน้ำสะอาดที่ผ่านการต้มสุก และล้างมือด้วยสบู่เป็นประจำ -
ไข้ไทฟอยด์ (Typhoid fever)
ไข้ไทฟอยด์เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Typhi ที่มีคนเป็นพาหะนำโรค โรคนี้มักทำให้เกิดความเสียหายภายในลำไส้ และอาจลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง กระแสเลือด และผิวหนัง เป็นต้น ไข้ไทฟอยด์อาจทำให้เกิดอาการ อย่างมีไข้สูง ปวดศีรษะ ผื่นขึ้น อ่อนเพลีย ท้องผูก เบื่ออาหาร ม้ามโต และมีเลือดออกในลำไส้ ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าว ควรไปพบแพทย์ เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย เช่น ลำไส้ทะลุ หรือภาวะเลือดเป็นพิษ เป็นต้น โดยแพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
โดยเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดไข้ไทฟอยด์มักปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำดื่ม อีกทั้งยังแพร่เชื้อผ่านอุจจาระ จึงควรป้องกันด้วยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ สะอาด ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และกำจัดของเสียอย่างถูกสุขลักษณะ นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนไข้ไทฟอยด์ที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคได้อีกด้วย -
น้ำกัดเท้า
น้ำกัดเท้าเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในช่วงน้ำท่วม เกิดจากการที่เท้าแช่ในน้ำหรือสวมรองเท้าที่มีความชื้นเป็นเวลานาน ทำให้ผิวหนังเปื่อยย่นและบางลง เป็นเหตุให้เชื้อโรค อย่างเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส หรือปรสิตเข้าสู่ผิวหนังและสร้างความเสียหายบริเวณผิวหนังชั้นนอก ผู้ป่วยมักมีอาการคันเท้า ระคายเคืองเท้า เกิดฝี กลาก หรือเกิดการอักเสบขึ้น หากไปพบแพทย์ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาครีมสำหรับฆ่าเชื้อและบรรเทาอาการคันให้ผู้ป่วยใช้ ร่วมกับการดูแลตนเอง
แม้ว่าในช่วงน้ำท่วม การเดินลุยน้ำอาจเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แต่การรักษาและป้องกันโรคน้ำกัดเท้านั้นสามารถได้หลากหลายวิธี เช่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำท่วมขังให้ได้มากที่สุดมีสุขอนามัยที่ดีทั้งกับร่างกายและกับสิ่งของ ฟอกสบู่ที่เท้าทุกครั้งหลังจากเดินลุยน้ำหรือสวมรองเท้าเป็นเวลานาน คอยดูแลให้เท้าแห้งอยู่เสมอ รักษาความสะอาดของถุงเท้าและรองเท้าไม่ให้อับชื้น บางกรณีอาจนำถุงเท้าไปต้มในน้ำร้อนเพื่อลดเชื้อโรค เป็นต้น นอกจากนี้ เมื่อทราบว่าตนเองมีอาการน้ำกัดเท้า ไม่ควรเกาตามร่างกาย เนื่องจากเชื้ออาจติดอยู่ในเล็บและลามไปยังผิวหนังส่วนอื่นได้ และควรหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับคนอื่นเพื่อลดการติดต่อของโรค -
โรคฉี่หนู
โรคฉี่หนูเป็นโรคที่มีสัตว์ อย่างสุนัข แมว หนู วัว และควายเป็นพาหะนำโรค โดยเชื้อโรคจะเข้าสู่คนผ่านการหายใจและรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อที่อาจมาจากการสัมผัสกับมูลและปัสสาวะของสัตว์ หรือการสัมผัสกับน้ำขังที่ได้ชะล้างเอาเชื้อเหล่านี้มา การติดเชื้ออาจทำให้เกิดอาการ เช่น เป็นไข้สูง ผื่นขึ้น ตาแดง เจ็บคอ ไอ ไอเป็นเลือด ท้องเสีย ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน ตัวเหลือง และปวดศีรษะอย่างรุนแรง แต่ในบางกรณีอาการเหล่านี้อาจไม่แสดงออกมา ในช่วงที่สองของการติดเชื้อ อาการดังกล่าวจะรุนแรงขึ้น หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างตับล้มแล้ว ไตวาย เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต จึงควรไปพบแพทย์เมื่อมีสัญญาณของโรคการลดความเสี่ยงของโรคฉี่หนูทำได้ด้วยการล้างมือก่อนปรุงอาหาร และก่อนรับประทานอาหาร ใช้น้ำสะอาดล้างวัตถุดิบปรุงอาหาร รวมทั้งล้างมือและเท้าให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะหลังจากสัมผัสกับสัตว์ หลังจากสัมผัสกับน้ำที่ท่วมขัง และหลังเข้าห้องน้ำ
-
ไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่มีข่าวการระบาดแทบทุกปี และอย่างทราบกันดีว่าโรคนี้มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โรคไข้เลือดออกมักทำให้เกิดอาการคล้ายกับการเป็นไข้หวัดทั่วไปจึงมักทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดได้ เช่น มีไข้สูง ผื่นแดงตามร่างกาย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตา และอาเจียน เป็นต้น หากมีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน เกิดจุดแดง หรือมีรอยช้ำตามร่างกาย อาจสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเป็นโรคไข้เลือดออกและควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย นอกจากนี้ ในช่วงหนึ่งวันแรกหากมีไข้สูงฉับพลันหลังจากที่อาการดีขึ้นแล้ว ควรไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ในช่วงน้ำท่วมและช่วงหน้าฝนเป็นช่วงที่ยุงลายสามารถแพร่พันธุ์ได้มากกว่าช่วงฤดูอื่น ทำให้ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ของคนในพื้นที่สูงขึ้นตามไปด้วย
หากมีอาการไข้ขึ้น หรือปวดศีรษะควรเลือกใช้ยาแก้ปวดชนิดพาราเซตามอลในการรักษาเท่านั้น เนื่องจากยาแอสไพรินและยาไอบูโพรเฟนอาจทำให้อาการเลือดออกรุนแรงและเป็นอันตราย โรคนี้อาจป้องกันได้ด้วยการกำจัดน้ำขังที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของพาหะนำโรคภายในและภายนอกตัวบ้าน สวมเสื้อผ้าที่มิดชิด ปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด กางมุ้งทุกครั้งเมื่อนอน ใช้ยาทากันยุง รวมทั้งติดหรือซ่อมแซมมุ้งลวดเพื่อป้องกันยุงเข้ามาในที่พักอาศัย -
ไข้มาลาเรีย
โรคไข้มาลาเรียหรือโรคไข้จับสั่น เป็นโรคที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค โดยยุงก้นปล่องจะกัดผิวหนังและปล่อยโปรโตซัวในน้ำลายเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ พบมากในพื้นที่ที่ใกล้กับป่า การติดเชื้ออาจส่งผลให้มีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ เหงื่อออก ปวดศีรษะ และหนาวสั่นซึ่งเป็นที่มาของไข้จับสั่น ไข้มาลาเรียเป็นโรคอันตราย โดยเฉพาะเมื่อเกิดในเด็ก เพราะอาจทำให้เกิดอาการอื่น ๆ อย่างภาวะเลือดจางและอวัยวะล้มเหลวได้ ดังนั้น หากอาการดังกล่าวปรากฏ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษา อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถป้องกันได้ ด้วยการสวมเสื้อผ้าแขนที่มิดชิด นอนในมุ้ง และทาโลชั่นกันยุง
-
ตาแดง
แม้ว่าอาการตาแดงสามารถเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ทั้งการระคายเคืองและการติดเชื้อ แต่ในช่วงน้ำท่วมอาการตาแดงอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อภายในดวงตา ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการที่ดวงตาสัมผัสกับน้ำที่สกปรกหรือมือที่เพิ่งสัมผัสกับน้ำ โดยอาการตาแดงมักหมายถึงอาการบวมแดงบริเวณตาขาว คันในดวงตา น้ำตาไหล มีขี้ตามาก และอาจเกิดขึ้นกับตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างพร้อมกัน ส่วนใหญ่มักหายได้เอง โดยใช้เวลาตั้งแต่หลายวันจนถึงสัปดาห์ขึ้นอยู่ชนิดของเชื้อโรค แต่ถ้ามีอาการอย่างแพ้แสงจ้า ตามัว หรือปวดตาร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม อาการตาแดงสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ด้วยการใช้ของร่วมกันหรืออยู่ใกล้กับผู้ที่ติดเชื้อ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกันเมื่อทราบว่าคนในครอบครัวมีอาการดังกล่าว
ในเบื้องต้นอาการตาแดงอาจบรรเทาได้ด้วยการประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมแดง นอกจากนี้ ยังควรหมั่นล้างมือและดูแลรักษาร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอเพื่อลดเชื้อโรคที่อาจติดมากับร่างกาย โดยเฉพาะช่วงหลังจากสัมผัสกับน้ำที่ท่วมขัง
อย่างไรก็ตาม ยังมีโรคอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงที่การเกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วม เช่น โรคไข้หวัด โรคท้องร่วง และโรคอหิวาตกโรค เป็นต้น จึงควรศึกษาการดูแลตนเองด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อลดความเสี่ยงของโรคเหล่านี้
อุบัติเหตุในช่วงน้ำท่วม
นอกจากน้ำท่วมขังจะนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ยังมีอุบัติเหตุอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้นด้วย ดังนี้
-
จมน้ำ
ระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้ความเสี่ยงของจมน้ำเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในเด็กและผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมจึงควรระมัดระวังและป้องกันด้วยการหลีกเลี่ยงการลงไปเล่นน้ำ เตรียมอุปกรณ์กู้ชีพ อย่างห่วงยางหรือเสื้อชูชีพติดบ้านไว้เสมอ ไม่ปล่อยเด็กให้อยู่คนเดียวตามลำพัง ผู้ที่เป็นโรคที่อาจหมดสติหรือหกล้มไม่ควรเข้าใกล้พื้นที่ที่เสี่ยงต่อการพลัดตกน้ำ อย่างระเบียงหรือบันไดบ้าน รวมทั้งศึกษาวิธีการปฐมพยาบาลและการช่วยคนขึ้นจากน้ำเผื่อไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เพราะอาจทำให้พลัดตกและจมน้ำได้
หากพบคนกำลังจมน้ำควรใช้อุปกรณ์ อย่างห่วงยาง แกลลอนน้ำ ไม้ หรือเชือก เพื่อให้คนจมน้ำจับ หรือใช้คล้องเพื่อดึงผู้ประสบเหตุขึ้นจากน้ำ และปฐมพยาบาลด้วยวิธี CPR และนำส่งโรงพยาบาล -
โดนสัตว์มีพิษกัดต่อย
ในช่วงที่น้ำท่วม สัตว์มีพิษ อย่างตะขาบ แมงป่อง และงู มักหนีน้ำเข้ามาอยู่ตามที่พักอาศัยของมนุษย์ ซึ่งหากไม่สังเกตและไม่ระวังก็อาจโดนสัตว์มีพิษเหล่านี้กัดต่อยและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ จึงควรระมัดระวังและสอดส่องตามมุมอับภายในบ้านเพื่อตรวจดูสัตว์มีพิษ รวมทั้งเตรียมเบอร์ของหน่วยงานที่สามารถช่วยจับสัตว์มีพิษและเบอร์ของโรงพยาบาลสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน
หากโดนสัตว์มีพิษหรือคาดว่ามีพิษกัด ห้ามใช้ปากดูดพิษโดยเด็ดขาด ควรใช้น้ำสะอาดหรือน้ำด่างทับทิมล้างแผล จากนั้นใช้ผ้าซับให้แห้ง ใช้แอลกอฮอล์เช็ดรอบบาดแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ใช้ผ้ารัดเหนือแผลปากให้แน่น และนำตัวส่งโรงพยาบาล
-
ไฟดูด
ไฟดูดเป็นอีกหนึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ในช่วงน้ำท่วม เนื่องจากน้ำเป็นตัวน้ำไฟฟ้า เมื่อเข้าไปยังบริเวณใกล้เคียงบริเวณที่มีไฟฟ้ารั่วก็อาจทำให้โดนไฟดูดได้ การถูกไฟดูดอาจทำให้เนื้อเยื่อและอวัยวะได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ผิวหนังไหม้ รู้สึกเหน็บชาตามร่างกาย การมองเห็นหรือได้ยินมีปัญหา ชัก หมดสติ และหยุดหายใจ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้ การสัมผัสกับปลั๊กเสียบหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียกก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการโดนไฟดูดด้วย
หากพบคนโดนไฟดูด ห้ามแตะตัวหรือเข้าไปยังบริเวณใกล้เคียงผู้ประสบเหตุ ควรปิดตัวจ่ายไฟก่อน จากนั้นใช้ไม้หรืออุปกรณ์อื่น ๆ คล้องและดึงผู้ป่วยออกมาจากบริเวณที่มีไฟรั่ว หากมีแผลไหม้ ควรทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดและพันแผล หากผู้ป่วยหมดสติอาจทำการกู้ชีพเบื้องต้นด้วยวิธี CPR จากนั้นนำตัวส่งโรงพยาบาลหรือติดต่อหน่วยพยาบาลฉุกเฉิน นอกจากนี้ ควรป้องกันการโดนไฟฟ้าดูดด้วยการหมั่นสังเกตการชำรุดของสายไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า เดินสายดิน ไม่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียก และติดตั้งเครื่องตัดไฟเมื่อไฟฟ้าลัดวงจร
วิธีรับมือปัญหาสุขภาพจากภัยน้ำท่วม
ปัญหาและอุบัติเหตุในช่วงน้ำท่วมสามา่รถลดความเสี่ยงได้ด้วยวิธีการ ดังนี้
- ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับภัยพิบัติอยู่เสมอ
- ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานและปรุงอาหาร
- ตรวจสอบสภาพของบรรจุภัณฑ์และวันหมดอายุของอาหารแห้งที่สำรองไว้
- ใช้น้ำสะอาดในการล้างวัตถุดิบ
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ทุกครั้ง และดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุกเสมอ
- รักษาความสะอาดของร่างกายอยู่เสมอ โดยเฉพาะมือและเท้า
- สวมเสื้อชูชีพเมื่อต้องสัมผัสกับน้ำที่ท่วมขัง
- กางมุ้งนอนอยู่ตลอด พร้อมกับทาโลชั่นกันยุงระหว่างวัน
- ล้างมือหลังเข้าห้องน้ำและสัมผัสกับน้ำท่วมขังทุกครั้ง
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและแมลงที่เป็นพาหะนำโรค
- กำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลอย่างเหมาะสม
ในช่วงน้ำท่วม กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทางสุขภาพสูง อย่างผู้สูงอายุและเด็ก ควรได้รับการดูแลมากกว่าปกติ นอกจากนี้ ผู้ที่พักอาศัยในพื้นที่ที่น้ำท่วมทุกปี ควรศึกษาวิธีการปฐมพยาบาลฉุกเฉินที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุที่มักเกิดในช่วงภัยพิบัติดังกล่าว