น้ำผึ้งผลิตจากน้ำหวานที่ผึ้งสะสมจากดอกไม้พืชพันธุ์ต่าง ๆ ประกอบด้วยน้ำตาลประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นน้ำ แร่ธาตุ กรด โปรตีนบางชนิด และสารชนิดอื่น ๆ คุณประโยชน์ทางการแพทย์ของน้ำผึ้งนั้นเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและมีการใช้น้ำผึ้งช่วยรักษาโรคหลากหลายชนิดมาอย่างยาวนาน
นักวิทยาศาสตร์คาดว่าน้ำผึ้งมีคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรีย เนื่องจากมีสารบางชนิดที่อาจสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ทำให้แม้ระหว่างการผลิต น้ำผึ้งจะเจือปนด้วยเชื้อโรคจากตัวผึ้ง ต้นพืช และฝุ่น แต่คุณสมบัติในการต้านเชื้อโรคก็ทำให้มั่นใจได้ว่าสารอินทรีย์ส่วนใหญ่ที่เจือปนจะไม่อาจอยู่รอดหรือสืบพันธ์ุจนเพิ่มจำนวนขึ้นใหม่ได้
นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าน้ำผึ้งอาจมีคุณประโยชน์ในด้านการให้สารอาหาร เร่งให้แผลสมานตัวเร็วขึ้้น ช่วยรักษาความชุ่มชื้นและทำให้ผ้าพันแผลไม่ติดแน่นไปกับแผลหากทาลงบนผิวหนัง และอื่น ๆ อีกมากมาย ประโยชน์ของน้ำผึ้งที่เคยได้ยินมานั้นสามารถเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด ฐานข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการแพทย์ทางธรรมชาติ (Natural Medicines Comprehensive Database) ที่มีการแบ่งระดับความน่าเชื่อถือของการใช้การรักษาทางเลือกจากธรรมชาติเป็น 7 ระดับ คือ ได้ผล (Effective) น่าจะได้ผล (Likely Effective) อาจได้ผล (Possibly Effective) อาจไม่ได้ผล (Possibly Ineffective) น่าจะไม่ได้ผล (Likely Ineffective) ไม่ได้ผล (Ineffective) และยังมีหลักฐานไม่เพียงพอต่อการบ่งบอกประสิทธิภาพ (Insufficient Evidence to Rate) ได้ระบุประสิทธิภาพในการใช้น้ำผึ้งรักษาโรคต่าง ๆ ไว้ดังต่อไปนี้
การรักษาที่อาจได้ผล
แผลไหม้ มีการศึกษาพบว่าการทาน้ำผึ้งลงบนผิวหนังที่เกิดแผลไหม้นั้นอาจช่วยในการรักษาแผลได้ งานวิจัยหนึ่งที่ชี้ถึงประโยชน์ข้อนี้ของน้ำผึ้งก็คือ การทดสอบประสิทธิภาพในการรักษาแผลไหม้ของผ้าพันแผลชุบน้ำผึ้งเปรียบเทียบกับยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน (Silver Sulfadiazene) ในคนไข้ที่มีแผลไหม้ระดับที่ 1 และระดับที่ 2 ตามร่างกายน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 108 ราย ผลปรากฏว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน ผ้าพันแผลจุ่มน้ำผึ้งช่วยให้แผลปลอดเชื้อได้มากกว่า เพิ่มการสมานของแผล อีกทั้งช่วยลดการเกิดแผลเป็นนูนและแผลเป็นที่เกิดจากแผลไหม้ได้ดีกว่าการรักษาปกติ
จากการศึกษาโดยรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยทั้งหลายที่สนับสนุนว่าน้ำผึ้งที่เก็บจากพื้นที่ต่าง ๆ มีประสิทธิภาพในการช่วยรักษาแผล ทั้งแผลไหม้ แผลที่ผิวหนัง แผลกระเพาะอาหาร แผลเรื้อรัง และแผลทั่วไป เนื่องจากคุณสมบัติในการสมานแผล กระตุ้นการเติบโตของเนื้อเยื่อ และลดการก่อตัวของแผลเป็น โดยให้เหตุผลว่าน้ำผึ้งอาจสามารถช่วยลดระดับของสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ในขณะเดียวกันก็เพิ่มไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดต่างมีบทบาทสำคัญในกระบวนสมานแผล ต้านการอักเสบ และฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
การรักษาแผล นอกจากประสิทธิภาพในการรักษาแผลไหม้ น้ำผึ้งยังอาจมีประโยชน์ต่อการรักษาแผลอีกหลากหลายชนิด โดยการรวบรวมและวิเคราะห์งานวิจัยที่ศึกษาถึงประสิทธิภาพของการใช้น้ำผึ้งรักษาแผล มีข้อสรุปที่กล่าวว่าคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบและเชื้อแบคทีเรีย ทำให้น้ำผึ้งสามารถช่วยรักษาแผลสดหรือแผลไหม้ระดับที่ 2 ชนิดตื้นได้อย่างเทียบเท่าหรือดีกว่าการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์แผนปัจจุบัน
นอกจากนี้ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขนาดเล็กหลายงานที่มีการใช้น้ำผึ้งหรือผ้าพันแผลชุ่มน้ำผึ้งทดลองรักษาแผลชนิดต่าง ๆ ได้แก่ แผลหลังการผ่าตัด แผลที่ขา แผลฝี แผลไหม้ แผลถลอก แผลถูกบาด และแผลผิวหนังบริเวณที่มีการปลูกถ่ายของผิวหนัง ซึ่งดูเหมือนว่าน้ำผึ้งอาจจะช่วยลดกลิ่นและหนองจากแผล ทำให้แผลสะอาด ลดการติดเชื้อ ลดอาการเจ็บ และส่งผลให้แผลรักษาตัวได้เร็วยิ่งขึ้นได้ ทว่าก็มีบางรายงานที่แย้งว่าการรักษาแผลด้วยน้ำผึ้งหลังจากที่ใช้การรักษาชนิดอื่นก่อนหน้าไม่ได้เกิดผลการรักษาที่ดีเช่นกัน
เบาหวาน งานวิจัยบางงานชี้ว่าการรับประทานน้ำผึ้งทุกวันส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับคอเลสเตอรอล และน้ำหนักตัวของผู้ป่วยเบาหวานลดลงได้ เช่น การศึกษางานหนึ่งที่ใช้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ทั้งหมด 48 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มรับประทานน้ำผึ้งเป็นเวลา 8 สัปดาห์ กับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานน้ำผึ้ง ผลสรุปว่าการบริโภคน้ำผึ้งเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ช่วยให้น้ำหนักและระดับไขมันในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานลดลงได้ แต่ในขณะเดียวกันน้ำผึ้งก็ทำให้ระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดสูงขึ้นเช่นกัน ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรบริโภคอย่างระมัดระวัง
อาการไอ การรับประทานน้ำผึ้งจำนวนเล็กน้อยก่อนนอนอาจช่วยลดอาการไอในเด็กที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไป โดยงานวิจัยสำรวจประสิทธิภาพของการใช้น้ำผึ้งเปรียบเทียบกับการใช้ยาแก้ไอเดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) รสน้ำผึ้ง และการไม่ใช้การรักษาใด ๆ กับเด็กอายุ 2-18 ปี จำนวน 105 คน การทดลองแบ่งออกเป็น 2 วันติดต่อกัน วันแรกคือเมื่อมีอาการแสดงซึ่งจะไม่มีการใช้ยาใด ๆ และวันที่ 2 ที่จะให้รับประทานน้ำผึ้งหรือยาแก้ไอรสน้ำผึ้งก่อนนอน หรือไม่ให้รับประทานยาใด ๆ ปรากฏว่าผู้ปกครองของเด็กให้คะแนนความพึงพอใจต่อการใช้น้ำผึ้งสูงสุดในการช่วยลดอาการไอตอนกลางคืนและอาการนอนไม่หลับที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน
ผลการศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับอีกงานวิจัยหนึ่งที่ทำการวิจัยกับเด็กอายุ 24-60 เดือน จำนวน 139 คน ที่มีอาการไอจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนเช่นเดียวกัน โดยให้แบ่งกลุ่มรับประทานน้ำผึ้ง ยาแก้ไอเดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) ยาแก้ไอไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) และกลุ่มสุดท้ายรักษาตามอาการ ผลลัพธ์ชี้ว่าการรับประทานน้ำผึ้ง 2.5 มิลลิลิตรก่อนนอนช่วยบรรเทาอาการไอจากโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ดีกว่ายาแก้ไออีก 2 ชนิด
โดยสาเหตุที่น้ำผึ้งอาจช่วยบรรเทาอาการไอได้นั้น ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าเป็นเพราะรสหวานของน้ำผึ้งจะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งน้ำลาย ทำให้มีการหลั่งของมูกในทางเดินหายใจตามมาด้วย และส่งผลให้ทางเดินหายใจชุ่มชื้นและบรรเทาอาการไอได้ในที่สุด
เยื่อบุช่องปากอักเสบจากการฉายรังสี ประโยชน์ของน้ำผึ้งในด้านนี้ ได้รับการสนับสนุนโดยการศึกษาบางงานที่ชี้ว่าน้ำผึ้งอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลเยื่อบุช่องปากอักเสบ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการฉายรังสี โดยงานวิจัยหนึ่งกล่าวว่าการบริโภคน้ำผึ้ง 20 มิลลิลิตร หรือใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำผึ้งแปะบริเวณแผล สามารถช่วยลดอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบ อาการกลืนลำบาก และน้ำหนักตัวที่ลดลงเนื่องจากการรักษาด้วยการฉายรังสีในผู้ป่วยโรคมะเร็งศีรษะและลำคอได้ สอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาในคนไข้จำนวน 28 ราย พบว่าการทาน้ำผึ้ง 15 มิลลิลิตรหลังจากการรับการรักษาด้วยรังสีบำบัดทุก 5 ครั้ง ให้ผลดีต่อผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอที่มีอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของน้ำผึ้งต่อการรักษาโรคต่าง ๆ ตามข้างต้นโดยอ้างอิงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มี ในปัจจุบันยังถือว่าอยู่ในระดับที่อาจได้ผลเท่านั้น ซึ่งจัดว่าน่าเชื่อถือน้อยกว่าระดับที่น่าจะได้ผลหรือระดับที่ได้ผล ทำให้ยังไม่มีการแนะนำให้นำมาใช้อย่างกว้างขวาง การเลือกใช้น้ำผึ้งรักษาโรคดังกล่าวจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยและความเหมาะสมในการใช้
การรักษาที่อาจไม่ได้ผล ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยที่พบ มีความเป็นไปได้ว่าน้ำผึ้งอาจไม่มีประสิทธิภาพในการช่วยรักษาโรคต่อไปนี้
การติดเชื้อผิวหนังที่เกิดจากปรสิตลิชมาเนีย น้ำผึ้งอาจไม่ให้ผลดีใด ๆ กับผู้ป่วยที่มีผิวหนังติดเชื้อเนื่องจากปรสิตชนิดนี้ โดยมีงานวิจัยที่เผยว่าการใช้ผ้าพันแผลจุ่มน้ำผึ้งวันละ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ นาน 6 สัปดาห์ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยการการฉีดยา ไม่ได้ช่วยให้แผลหายดีขึ้น แต่กลับยิ่งส่งผลให้แผลหายช้าลงกว่าการใช้ยาเพียงอย่างเดียว
การรักษาที่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะระบุประสิทธิภาพ กลุ่มโรคหรืออาการที่ถือว่ายังมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการรักษาด้วยน้ำผึ้งไม่เพียงพอที่จะระบุประสิทธิภาพของการใช้น้ำผึ้งได้ มีดังนี้
ไข้ละอองฟาง หรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง ผลการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของน้ำผึ้งในการรักษาภูมิแพ้ในปัจจุบันยังคงเป็นที่โต้แย้งและมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ งานวิจัยหนึ่งแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน โดยทั้ง 40 คนต่างได้รับยาลอราทาดีน (Loratadine) วันละ 10 มิลลิกรัม เป็นเวลา 4 สัปดาห์ แต่ให้กลุ่มหนึ่งรับประทานน้ำผึ้งทุกวันเพิ่มต่างหากในปริมาณ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ผลลัพธ์พบว่าการเพิ่มน้ำผึ้งในปริมาณสูงร่วมกับยาแก้แพ้ลอราทาดีนมีส่วนช่วยให้อาการโดยรวมของภูมิแพ้ดีขึ้น
ทว่าในอีกหนึ่งงานวิจัยกลับพบผลตรงกันข้าม โดยจากผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งหมด 36 คนที่มีอาการของโรคภูมิแพ้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 รับประทานน้ำผึ้งธรรมชาติเก็บจากเฉพาะท้องถิ่นที่ไม่ผ่านกระบวนการตกแต่งหรือพลาสเจอไรส์ กลุ่มที่ 2 รับประทานน้ำผึ้งเก็บจากทั่วประเทศที่ผ่านการเติมแต่งและพลาสเจอร์ไรส์ และกลุ่มที่ 3 ได้รับยาหลอกเป็นน้ำเชื่อมข้าวโพดรสน้ำผึ้งสังเคราะห์ ทุกกลุ่มบริโภคน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อมดังกล่าววันละ 1 ช้อนโต๊ะ ตามด้วยการรักษาอาการภูมิแพ้โดยทั่วไป ผลการวิจัยปรากฏว่าการรับประทานน้ำผึ้งทั้ง 2 ชนิดไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ได้ดีไปกว่ากลุ่มที่รับประทานยาหลอกแต่อย่างใด
ความสามารถในการออกกำลังกาย บางงานวิจัยแนะนำว่าน้ำผึ้งอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติหลังออกกำลังกายและเพิ่มสมรรถภาพการทำกิจกรรมหากได้รับประทานระหว่างการออกกำลังกาย การศึกษาหนึ่งที่มีผู้เข้าร่วมจำนวน 10 คน ออกกำลังโดยการวิ่งเป็นเวลา 60 นาที จากนั้นให้พักฟื้นจากภาวะขาดน้ำเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ระหว่างนี้กลุ่มหนึ่งจะได้รับเครื่องดื่มน้ำผึ้ง ในขณะที่อีกกลุ่มได้รับน้ำเปล่า ผลลัพธ์พบว่าน้ำผึ้งช่วยให้ความสามารถในการวิ่งและการเผาผลาญกลูโคสดีขึ้นกว่ากลุ่มที่ดื่มน้ำเปล่า อย่างไรก็ตามการศึกษาประสิทธิภาพด้านนี้ของน้ำผึ้งยังถือว่าน้อยมากและไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าจะให้ผลดีในระดับใด
การติดเชื้อที่เกิดจากการใช้สายสวนเพื่อล้างไต มีการกล่าวถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับประโยชน์ข้อนี้ของน้ำผึ้ง งานวิจัยหนึ่งชี้ว่าผลจากการทาน้ำผึ้งมานูก้าสัปดาห์ละ 3 ครั้งบริเวณที่เจาะสวนท่อล้างไต มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการรักษาการติดเชื้อบนผิวหนังด้วยขี้ผึ้งมิวพิโรซิน (Mupirocin Ointment) ซึ่งเป็นการรักษามาตรฐานทั่วไป โดยน้ำผึ้งจะช่วยลดการเกิดการติดเชื้อจากการใส่ท่อสวนไตและการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ แต่การรักษานี้ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับเนื่องจากไม่สามารถยืนยันประสิทธิภาพได้อย่างชัดเจน
แผลที่เท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวาน แผลอีกชนิดหนึ่งที่ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับเพียงพอต่อการประเมินถึงประสิทธิภาพการรักษาด้วยน้ำผึ้ง มีเพียงบางรายงานกล่าวว่าการทาน้ำผึ้งดิบสามารถช่วยเร่งการรักษาแผลที่เท้าที่ไม่ได้รับการรักษาของผู้ป่วยโรคเบาหวาน งานวิจัยหนึ่งที่สนับสนุนคุณประโยชน์ข้อนี้ของน้ำผึ้งก็คือ การศึกษาประสิทธิภาพของน้ำผึ้งในการรักษาแผลที่เท้าที่ไม่ได้รับการรักษามาก่อนในผู้ป่วยเบาหวานจำนวน 172 คน ผลลัพธ์แนะนำว่าการใช้ผ้าพันแผลน้ำผึ้งช่วยลดอัตราการตัดขาเพื่อป้องกันแผลเน่าลุกลามลงได้อย่างมีนัยสำคัญ และอาจช่วยรักษาแผลที่ขาชนิดเรื้อรังในผู้ป่วยโรคเบาหวานได้ดี ทว่าการรักษาในปัจจุบันยังไม่เป็นที่ยอมรับในการใช้น้ำผึ้งเพื่อรักษาแผลเบาหวาน
การผ่าตัดรักษาตา มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพของน้ำผึ้งในการช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อภายในลูกตาหลังการรับการผ่าตัดดวงตา ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่แม้จะพบได้ไม่บ่อยแต่ก็ร้ายแรง โดยใช้คนไข้ทั้งหมด 101 คน แบ่งกลุ่มให้หยอดน้ำตาเทียมที่เป็นสารละลายจากน้ำผึ้งหรือยาหยอดตาออฟลอกซาซิน (Ofloxacin) ก่อนรับการผ่าตัดวันละ 5 ครั้ง เป็นเวลา 7 วันก่อนผ่าตัด และ 5 วันหลังจากที่ผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว ในผู้ทดลองทั้ง 2 กลุ่มพบผลลัพธ์ด้านประสิทธิภาพของการต้านเชื้อแบคทีเรียต่างกันไม่มาก น้ำผึ้งจึงอาจทำหน้าที่เป็นสารป้องกันการติดเชื้อในดวงตาได้ และแน่นอนว่ายังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
โรคหนังเน่าที่บริเวณอวัยวะเพศ งานวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ในด้านนี้ของน้ำผึ้งไม่พบผลลัพธ์ที่แน่ชัด โดยมีการศึกษาในคนไข้จำนวน 17 คนที่ป่วยเป็นโรคนี้ ให้ทำความสะอาดแผลด้วยเบตาดีน (Betadine) น้ำเกลือ และน้ำที่มีความเข้มข้นของออกซิเจน 2 เปอร์เซ็นต์ หลังจากแผลแห้งแล้วจึงใช้น้ำผึ้งปริมาณ 30-50 มิลลิลิตรทา แล้วปิดผ้าพันแผลตาม ผลปรากฏว่าเมื่อเปรียบเทียบกับงานวิจัยอื่น ๆ ที่เคยมีมาก่อนหน้า น้ำผึ้งช่วยลดระยะเวลาในการรักษาตัวของแผล และผู้ป่วยสามารถออกจากโรงพยาบาลได้เร็วยิ่งขึ้น แต่ก็เป็นเพียงการศึกษาเล็ก ๆ ในคนไม่มากเท่านั้น
เหงือกอักเสบ ข้อนี้มีงานวิจัยหนึ่งที่พบว่าการรับประทานน้ำผึ้งมานูก้าชนิดเคี้ยวได้ วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 10 นาที นาน 21 วัน หลังจากมื้ออาหารช่วยลดคราบหินปูนและการมีเลือดออกที่เหงือกในผู้ทดลองจำนวน 30 คนได้อย่างมีนัยสำคัญ เทียบกับอีกกลุ่มที่เคี้ยวหมากฝรั่งไร้น้ำตาลที่ไม่พบผลการเปลี่ยนแปลงต่อสุขภาพเหงือกและฟันอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด แต่คุณสมบัติด้านนี้ของน้ำผึ้งยังคงไม่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปเช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ โรค
โรคริดสีดวงทวาร การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าการทาน้ำผึ้งผสมกับน้ำมันมะกอก และขี้ผึ้งอาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด มีเลือดออก และคันจากโรคริดสีดวงทวาร รวมถึงผู้ป่วยที่มีแผลที่ทวารหนัก โดยการทดลองนี้ใช้ผู้ป่วยที่มีแผลที่ทวารหนักและผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวารหนักระดับ 1-3 จำนวน 15 คน ชาย 13 คน หญิง 2 คน ซึ่งถือว่าเป็นงานวิจัยที่มีขนาดเล็ก และจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคตเพื่อจะยืนยันผลการรักษาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
โรคเริม สำหรับคุณสมบัติในการรักษาโรคเริมของน้ำผึ้ง มีการศึกษาที่เกี่ยวข้องงานหนึ่งทดลองกับผู้ป่วยจำนวน 16 คน ที่มีประวัติติดเชื้อโรคเริม 8 คนเป็นบริเวณปาก และอีก 8 คนเป็นบริเวณอวัยวะเพศ โดยมีการแบ่งกลุ่มรักษาด้วยการทาน้ำผึ้งหรือครีมอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir cream) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสเริม ผลพบว่าการรักษาด้วยน้ำผึ้งนั้นอาจปลอดภัยและมีความประสิทธิภาพในการรับมือกับสัญญาณและอาการของโรคเริมที่ปากและอวัยวะเพศได้ แต่หลักฐานเพียงเท่านี้ก็ยังไม่อาจทำให้สามารถนำน้ำผึ้งมาเป็นมาตรฐานการรักษาโรคเริมได้
คอเลสเตอรอลสูง ด้านการศึกษาคุณประโยชน์ของน้ำผึ้งในผู้ป่วยที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูงนั้น งานวิจัยหนึ่งใช้อาสาสมัครทั้งหมด 60 คน แบ่งกลุ่มเป็นชายและหญิง และแบ่งย่อยในแต่ละเพศเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้รับสารละลายน้ำผึ้งปริมาณ 75 กรัม วันละ 1 ครั้งเป็นเวลา 14 วัน และอีกกลุ่มที่ได้รับสารละลายน้ำตาลแทนน้ำผึ้ง ผลการทดลองชี้ว่าทั้งสารละลายน้ำผึ้งหรือสารละลายน้ำตาลต่างไม่ได้มีผลกระทบต่อระดับคอเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอไรด์ในทุกกลุ่ม แต่ในผู้หญิงกลุ่มที่รับประทานสารละลายน้ำตาลนั้นมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีเพิ่มมากขึ้น ขณะที่กลุ่มรับประทานน้ำผึ้งกลับไม่พบ งานวิจัยดังกล่าวแนะนำว่าแม้ว่าการรับประทานน้ำผึ้งจะไม่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี แต่ก็อาจมีประโยชน์หากนำมาใช้ทดแทนน้ำตาลในอาหารต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาในปัจจุบันก็ยังคงมีไม่เพียงพอที่จะเชื่อถือได้
อาการท้องเสีย มีงานวิจัยบางงานที่ชี้ถึงคุณประโยชน์ในการรับประทานน้ำผึ้งเพื่อรักษาอาการท้องเสียในทารกและเด็กเล็ก รวมทั้งใช้ทดแทนน้ำตาลในสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ผลการวิจัยหนึ่งแนะนำว่าน้ำผึ้งช่วยลดระยะเวลาของอาการท้องเสียที่เกิดจากแบคทีเรีย และไม่ทำให้อาการท้องเสียจากสาเหตุอื่นเป็นนานขึ้น อีกทั้งอาจใช้แทนน้ำตาลในการทดแทนภาวะสูญเสียน้ำของร่างกายได้ แต่งานวิจัยอื่นที่ชี้ว่าน้ำผึ้งไม่มีประโยชน์ใด ๆ ต่อผู้ป่วยที่ท้องเสียเองก็มีปรากฏเช่นกัน
อาการคัน คุณประโยชน์ของน้ำผึ้งอีกประการที่ยังไม่อาจสรุปถึงประสิทธิภาพการรักษาได้ แม้จะมีการศึกษาที่ชี้ว่าครีมที่ทำจากน้ำผึ้งอาจมีสรรพคุณรักษาอาการคันในผู้ป่วยที่ผิวหนังได้รับการระคายเคืองจากการขัดถูหรือเสียดสีได้ดีกว่ายาทาแก้คันอย่างซิงก์ออกไซด์ (Zinc Oxide) โดยงานวิจัยนี้ใช้ผู้ทดลองจำนวน 31 คนที่มีอาการผิวหนังอักเสบตามข้อพับ กลุ่มหนึ่งใช้การรักษาปกติด้วยขี้ผึ้งซิงก์ออกไซด์ ส่วนอีกกลุ่มใช้ครีมน้ำผึ้ง ทาวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 21 วัน ปรากฏว่าผลการรักษาในทั้ง 2 กลุ่มไม่พบความแตกต่างกันมาก ทั้งขี้ผึ้งซิงก์ออกไซด์และครีมน้ำผึ้งต่างมีประสิทธิภาพต่อการรักษา แต่สำหรับอาการคันพบว่าครีมน้ำผึ้งช่วยได้ดีกว่า ซึ่งน้ำผึ้งจะเป็นทางเลือกต่อการรักษาอาการคันและการอักเสบของผิวหนังได้หรือไม่ก็ต้องรอการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอกว่าในปัจจุบัน
โรคหรือภาวะอื่น ๆ ได้แก่ ภาวะมีบุตรยาก โดยผลการศึกษาชิ้นหนึ่งแนะนำว่าการทาน้ำผึ้งและนมผึ้งในบริเวณช่องคลอดช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ให้สูงขึ้นได้ และประโยชน์ในการรักษาภาวะโภชนาการต่ำที่มีงานที่วิจัยชี้ว่าน้ำผึ้งสามารถช่วยเพิ่มน้ำหนักและส่งผลให้อาการของทารกและเด็กที่มีภาวะโภชนาการต่ำให้ดีขึ้นได้ รวมถึงการรักษาด้านอื่น ๆ เช่น ผิวไหม้ อาการน้ำมูกเหนียวข้น โรคหืด ต้อกระจก โรคในระบบย่อยอาหาร เป็นต้น แต่ยังขาดหลักฐานที่ดีพอในการยืนยันสรรพคุณเหล่านี้
ความปลอดภัยในการใช้น้ำผึ้ง
การทดลองรับประทานหรือใช้น้ำผึ้งทาลงบนผิวหนังโดยคาดหวังคุณประโยชน์ในการรักษาโรคใด ก็ตามนั้นน่าจะใช้ได้อย่างปลอดภัย ทั้งในผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ขวบขึ้นไป แต่ก็อย่าลืมคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้กรณีต่อไปนี้
- การรับประทานน้ำผึ้งอาจไม่ปลอดภัยต่อทารกและเด็กที่ยังเล็กอยู่มาก อย่าให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 เดือนรับประทานน้ำผึ้งดิบ เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงเกิดพิษจากสารโบทูลินั่มต่อร่างกายได้ ซึ่งอาจจะไม่เป็นอันตรายต่อเด็กที่โตกว่านี้หรือผู้ใหญ่
- หญิงที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรน่าจะสามารถรับประทานน้ำผึ้งในปริมาณปกติที่พบได้จากอาหารในชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย แต่การรับประทานในปริมาณมากเพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์นั้นยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันได้ เพื่อความปลอดภัย หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำผึ้งเพื่อการช่วยรักษาโรคต่าง ๆ
- น้ำผึ้งที่ผลิตจากน้ำหวานของดอกโรโดเดนดรอน (Rhododendrons) อาจไม่ปลอดภัยเมื่อนำมารับประทาน เพราะน้ำผึ้งชนิดนี้ประกอบด้วยสารพิษที่อาจส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ความดันโลหิตต่ำ เจ็บหน้าอก รวมถึงปัญหาหัวใจชนิดร้ายแรงอื่น ๆ
- ผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำผึ้งที่ผลิตมาจากเกสรดอกไม้ด้วยเช่นกัน
- ปฏิกิริยาต่อยาหรือสมุนไพรอื่น ๆ
- น้ำผึ้งเองอาจมีฤทธิ์ต้านการเกิดลิ่มเลือด หากรับประทานร่วมกับยาเหล่านี้อาจทำให้ยิ่งเสี่ยงต่อการมีเลือดออกหรือฟกช้ำได้ เช่น แอสไพริน (Aspirin) โคลพิโดเกรล (Clopidogrel) และยาต้านการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นต้น
- น้ำผึ้งอาจทำปฏิกิริยากับสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านการเกิดลิ่มเลือดได้เช่นกัน และส่งผลให้เสี่ยงต่อการมีเลือดออกได้ เช่น กานพลู กระเทียม ขิง โสม แปะก๊วย และอื่น ๆ
- ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) อาจถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากขึ้นเมื่อรับประทานร่วมกับน้ำผึ้ง ทำให้อาจได้รับผลข้างเคียงจากยานี้มากขึ้น
- ปริมาณที่ปลอดภัยต่อการใช้
- การใช้น้ำผึ้งเพื่อรักษาอาการไอ ควรรับประทานที่ปริมาณ 2.5-10 มิลลิลิตร ก่อนนอน
- การใช้น้ำผึ้งรักษาแผลต่าง ๆ สามารถทาลงบนผิวหนังได้โดยตรงหรือใช้ผ้าพันแผลชุบน้ำผึ้งแปะไว้ ควรเปลี่ยนผ้าพันแผลทุก 24-48 ชั่วโมง และอาจใช้ผ้าพันแผลชุบน้ำผึ้งนี้ได้นานถึง 25 วัน โดยควรมีการสำรวจดูแผลทุก ๆ 2 วัน กรณีที่ใช้ทาบนผิวหนังโดยตรงให้ใช้น้ำผึ้งในปริมาณ 15-30 มิลลิลิตรทาทุก 12-48 ชั่วโมง แล้วปิดด้วยผ้าก๊อซสะอาดหรือผ้าพันแผล