น้ำมันมะพร้าว เป็นน้ำมันที่ได้จากไขมันในเนื้อสีขาวของลูกมะพร้าว โดยอาจผลิตด้วยกระบวนการที่แตกต่างหลากหลาย บางผลิตภัณฑ์ใช้คำว่าน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ (Virgin Coconut Oil) ซึ่งหมายถึงน้ำมันมะพร้าวที่สกัดโดยใช้กระบวนการธรรมชาติ เช่น ปราศจากสารฟอกสี การระงับกลิ่น หรือการกลั่น และบางครั้งระบุว่าใช้กระบวนการสกัดเย็น อันเป็นวิธีใช้เครื่องสกัดที่จะทำให้เกิดความร้อนตามธรรมชาติไม่เกิน 49 องศาเซลเซียสมากที่สุด
น้ำมันมะพร้าวประกอบด้วยไขมันอิ่มตัวที่เป็นไตรกลีเซอไรด์สายยาวปานกลาง ซึ่งเชื่อว่าอาจมีประโยชน์ต่อร่างกาย เโดยไม่ผ่านแหล่งความร้อนจากภายนอก เพราะเชื่อว่าจะช่วยคงประโยชน์ทางสุขภาพของน้ำมันมะพร้าวไว้ได้มพราะอาจมีการทำงานต่างจากไขมันอิ่มตัวชนิดอื่น ๆ ที่มีสายยาวกว่า เช่น อาหารจำพวกน้ำมันพืช ไขมันจากนมและเนื้อสัตว์ทั้งหลาย จึงมักถูกนำมาใช้ประโยชน์ในฐานะการรักษาทางเลือกสำหรับโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน หัวใจ หรืออัลไซเมอร์ และถึงแม้จะประกอบด้วยแคลอรี่และไขมันอิ่มตัวสูง ก็ยังมีความเชื่อว่าการรับประทานน้ำมันมะพร้าวอาจช่วยลดน้ำหนักและระดับคอเลสเตอรอลในเลือด รวมทั้งการใช้ทาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว รักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคสะเก็ดเงิน ตลอดจนสรรพคุณบำรุงสุขภาพเส้นผมและสุขภาพช่องปาก
นานาประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวที่เคยได้ยินกันมานั้นจะน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด จากฐานข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการแพทย์ทางธรรมชาติ (Natural Medicines Comprehensive Database) ได้ระบุว่าข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวในปัจจุบันยังนับว่ามีน้อยอยู่มาก จึงทำให้ยากที่จะยืนยันถึงประสิทธิภาพด้านนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ทางสุขภาพที่พอจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์กล่าวถึง มีดังนี้
โภชนาการของน้ำมันมะพร้าวที่อาจมีประโยชน์
ลดน้ำหนักและลดความอ้วน เชื่อว่าน้ำมันมะพร้าวอาจมีคุณสมบัติและการทำงานแตกต่างจากไขมันชนิดอื่น โดยแทนที่ร่างกายจะเปลี่ยนไขมันที่ได้รับเป็นไขมันสะสมในร่างกาย น้ำมันมะพร้าวอาจช่วยให้เผาผลาญไขมันได้มากขึ้นและส่งผลให้น้ำหนักลดน้อยลง ดังการศึกษาหนึ่งที่ทดลองกับผู้หญิงที่มีภาวะอ้วนลงพุง 40 คน อายุระหว่าง 20-40 ปี กลุ่มหนึ่งให้รับประทานน้ำมันถั่วเหลือง ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งรับประทานน้ำมันมะพร้าววันละ 30 มิลลิลิตร นาน 12 สัปดาห์ และให้ทั้งหมดลดการรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต แต่เพิ่มโปรตีนและเส้นใยอาหารมากขึ้น ส่วนไขมันนั้นรับประทานเท่าเดิม ร่วมกับการเดินออกกำลังกายอีกวันละ 50 นาทีควบคู่ไปด้วย
ผลลัพธ์พบว่าอาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่มมีดัชนีมวลกายลดลง แต่เฉพาะในกลุ่มที่รับประทานน้ำมันมะพร้าวเท่านั้นที่มีรอบเอวลดลง โดยชี้ว่าการรับประทานน้ำมันมะพร้าวไม่ได้ส่งผลให้เกิดไขมันในเลือดสูงแต่ประการใด ทว่ากลุ่มรับประทานน้ำมันถั่วเหลืองกลับมีไขมันไม่ดีในเลือดสูงขึ้น และมีไขมันดีลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อไม่นานมานี้ยังได้มีการรวบรวมผลการศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติลดน้ำหนักของไขมันไตรกลีเซอไรด์สายยาวปานกลางในน้ำมันมะพร้าวที่เคยมีมา ผลการวิเคราะห์แนะนำว่าการรับประทานไขมันไตรกลีเซอไรด์สายยาวปานกลาง (เช่น น้ำมันมะพร้าว) แทนไตรกลีเซอไรด์สายยาว (เช่น ไขมันจากสัตว์) อาจช่วยลดน้ำหนักและสัดส่วนของร่างกายได้พอประมาณ โดยไม่ส่งผลให้ระดับไขมันในเลือดเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การศึกษาที่ออกแบบอย่างครอบคลุมและใช้อาสาสมัครมากกว่านี้ยังคงจำเป็นต้องมีในอนาคต เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของไขมันไตรกลีเซอไรด์สายยาวปานกลางที่พบในน้ำมันมะพร้าว รวมถึงการระบุให้ได้ว่าควรใช้ในปริมาณเท่าใดจึงจะเห็นผลและปลอดภัยที่สุด เพราะน้ำมันมะพร้าวเป็นอาหารที่มีแคลอรี่สูง การรับประทานมาก ๆ คงไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพนัก หรือหากหวังว่าน้ำมันมะพร้าวจะช่วยลดน้ำหนักโดยไม่ต้องมีการควบคุมอาหารร่วมกับการออกกำลังกายก็คงเป็นไปได้ยาก
ดีต่อสุขภาพหัวใจ มีงานวิจัยบางงานออกมาว่าไขมันไตรกลีเซอไรด์สายยาวปานกลางในน้ำมันมะพร้าวอาจช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีในเลือด ซึ่งเป็นไขมันที่มีหน้าที่ช่วยขจัดไขมันส่วนเกินชนิดไม่ดีออกไป และหากเป็นเช่นนั้นจริง การรับประทานน้ำมันมะพร้าวก็อาจเป็นโทษต่อสุขภาพหัวใจน้อยกว่าการรับประทานไขมันอิ่มตัวชนิดอื่น ๆ เช่น ชีส สเต็กติดมัน หรือไขมันอิ่มตัวชนิดไม่ดีทั้งหลาย
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นแย้งว่าแม้จะมีงานวิจัยในคนบางกลุ่มบางประเทศที่ใช้น้ำมันมะพร้าวปรุงอาหารเป็นประจำ แล้วไม่ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจสูงขึ้น แต่เป็นไปได้สูงที่ผลการศึกษาเหล่านั้นจะมีปัจจัยอื่น ๆ ประกอบ เช่น พันธุกรรม พฤติกรรมการรับประทานอาหารอื่น ๆ และการออกกำลังกายในแต่ละวัน ทำให้ไม่อาจกล่าวยืนยันได้ว่าน้ำมันมะพร้าวเป็นไขมันที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ
นอกจากนี้ ยังควรตะหนักไว้เสมอว่าน้ำมันมะพร้าวเองก็สามารถทำให้เกิดไขมันชนิดไม่ดีที่อาจก่อให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงหัวใจได้เช่นกัน โดยในน้ำมันมะพร้าวเพียง 1 ช้อนโต๊ะประกอบด้วยไขมันอิ่มตัวถึง 13 กรัม หรือเท่ากับ 120 แคลอรี่ ซึ่งเป็นปริมาณไขมันอิ่มตัวที่ทางสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกันแนะนำให้รับประทานไม่เกินจากนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงานประมาณ 2,000 แคลอรี่ต่อวัน
รักษาโรคอัลไซเมอร์ คุณสมบัติในการรักษาโรคนี้ของน้ำมันมะพร้าวเกิดจากการมีงานวิจัยเกี่ยวกับอาหารทางการแพทย์สำหรับรักษาโรคอัลไซเมอร์ชนิดหนึ่ง อ้างว่าสามารถทำให้เกิดสารคีสโตนในร่างกาย ซึ่งเป็นสารที่อาจเผาผลาญพลังงานได้ดีกว่ากลูโคสในสมองของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ พิสูจน์จากการทดสอบที่พบว่าอาสาสมัครที่รับประทานนั้นมีความทรงจำที่ดีขึ้น และเนื่องจากในน้ำมันมะพร้าวนั้นมีไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์สายยาวปานกลางที่จะแตกตัวออกเป็นสารคีโตนเมื่อเข้าสู่ร่างกายเช่นกัน จึงกลายมาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีการโฆษณาสรรพคุณรักษาอัลไซเมอร์อย่างแพร่หลาย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีการแนะนำให้ใช้ทั้งน้ำมันมะพร้าวหรืออาหารชนิดดังกล่าวกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เนื่องจากยังขาดการศึกษาที่น่าเชื่อถือในการยืนยันประสิทธิภาพ หากต้องการลองใช้ควรได้รับคำแนะนำและอยู่ในการดูแลของแพทย์ เพื่อเฝ้าดูผลลัพธ์และระวังผลเสียใด ๆ รวมถึงระดับไขมันในเลือดที่อาจเพิ่มขึ้นสูง
โรคเบาหวาน สำหรับคุณประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวในด้านนี้ที่มีการกล่าวถึงค่อนข้างมาก ซึ่งแม้จะมีงานวิจัยบางงานที่กล่าวสนับสนุน แต่ก็ยังเป็นเพียงแค่การศึกษาในสัตว์ เช่น งานวิจัยกับหนูทดลองที่พบว่าอาหารที่มีไขมันไตรกลีเซอไรด์สายปานกลางสูงอย่างน้ำมันมะพร้าว อาจช่วยลดการสะสมเนื้อเยื่อไขมัน รวมถึงรับมือกับภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรืออีกงานวิจัยหนึ่งที่พบว่าการให้หนูที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 กินน้ำมันมะพร้าว สามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและมีผลการตรวจความทนทานต่อน้ำตาลดีขึ้น ซึ่งหากได้ผลเช่นเดียวกันกับการวิจัยในคน ก็อาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานในการป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูง อย่างไรก็ตาม ด้วยในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาคุณประโยชน์ของมะพร้าวกับผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยตรง ประโยชน์และความปลอดภัยของน้ำมันมะพร้าวที่มีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงยังคลุมเครืออยู่มาก
ป้องกันผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม การรักษาโรคมะเร็งด้วยการทำเคมีบำบัดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ตามมา งานวิจัยที่ทดลองนำน้ำมันมะพร้าวมาใช้ประโยชน์ในด้านนี้ ศึกษาโดยแบ่งครึ่งผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมในระยะที่ 3 และ 4 จำนวน 60 คน เป็นกลุ่มที่รับประทานน้ำมันมะพร้าวและกลุ่มควบคุม ผลลัพธ์ปรากฏว่ากลุ่มที่รับประทานน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ระหว่างช่วงรับการทำเคมีบำบัด มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยังพบว่าน้ำมันมะพร้าวมีส่วนช่วยลดอาการที่เป็นผลข้างเคียงจากการได้รับยาเคมีฆ่าเซลล์มะเร็ง เช่น อาการอ่อนเพลีย หอบเหนื่อย นอนไม่หลับ และไม่อยากอาหาร ทว่างานวิจัยนี้มีข้อจำกัดที่ใช้ผู้ป่วยเพียงจำนวนน้อย จึงยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อยืนยันคุณประโยชน์ด้านนี้ของน้ำมันมะพร้าวได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
ประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวต่อผิวหนัง
รักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคที่ส่งผลให้ผิวหนังคัน แดง แห้ง ตกสะเก็ด และเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากแบคทีเรียที่ผิวหนังตามมา ซึ่งผู้ป่วยมักต้องใช้มอยซ์เจอไรเซอร์คอยบำรุงผิวหนัง น้ำมันมะพร้าวเป็นตัวเลือกหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นเพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองของผิว และยังอาจช่วยลดจำนวนแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัสบนผิวหนัง หนึ่งในตัวการที่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังตามมา
สำหรับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เพื่อยืนยันคุณสมบัตินี้ มีการทดสอบโดยเปรียบเทียบประสิทธิภาพของน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์และน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ต่อการเพิ่มความชุ่มชื้นและลดแบคทีเรียบนผิวหนังของผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ผลพบว่าการทาน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันมะกอกวันละ 2 ครั้ง บริเวณผื่นที่ไม่ติดเชื้อ ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่แผลลดน้อยลง แต่น้ำมันมะพร้าวนั้นจะมีประสิทธิภาพมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
สอดคล้องกับงานวิจัยที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกชิ้นหนึ่ง ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างน้ำมันมะพร้าวกับน้ำมันมิเนอรัลในเด็กที่ป่วยด้วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังระดับไม่รุนแรงไปจนถึงระดับปานกลาง จำนวน 117 คน ผลลัพธ์ชี้ว่าการทาน้ำมันมะพร้าวเป็นประจำ นาน 8 สัปดาห์ ช่วยให้ความรุนแรงของผื่นลดลงถึง 68 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่น้ำมันมิเนอรัลช่วยได้ประมาณ 38 เปอร์เซ็นต์ โดยมีสรรพคุณป้องกันการสูญเสียน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับชั้นผิวหนัง ทั้งนี้สรรพคุณของน้ำมันมะพร้าวต่อการบรรเทาอาการและป้องกันการติดเชื้อที่ผิวหนังของผู้ป่วยโรคนี้ยังถือว่าอาจเป็นไปได้สูงกว่าการรักษาโรคอื่น ๆ เพราะมีหลักฐานค่อนข้างมากและน่าเชื่อถือ ประสิทธิภาพการรักษาอยู่ในระดับที่อาจเป็นไปได้ (Possibly Effective)
รักษาโรคสะเก็ดเงิน การทาน้ำมันมะพร้าวบนหนังศีรษะหลังจากอาบน้ำประมาณครึ่งชั่วโมง ค่อย ๆ นวดแล้วล้างออก เป็นวิธีทางธรรมชาติที่เชื่อว่าอาจช่วยขจัดสะเก็ดบนหนังศีรษะจากโรคสะเก็ดเงินได้ ทว่าการใช้น้ำมันมะพร้าวบรรเทาอาการด้วยการทาผิวหนังหรือหนังศีรษะนั้นยังไม่มีผลการศึกษาที่พอจะช่วยบ่งบอกได้ว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด สำหรับผู้ที่ต้องการลอง ควรระมัดระวังในการใช้อย่างเหมาะสมเพื่อความปลอดภัย
ทั้งนี้ในงานวิจัยทางวิทยาศาตร์ที่พิสูจน์คุณสมบัติข้อนี้ของน้ำมันมะพร้าวด้วยการให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงินเรื้อรังจำนวน 29 คน แบ่งกลุ่มทาหรือไม่ทาน้ำมันมะพร้าวก่อนรับการบำบัดด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต ปรากฏว่าไม่เห็นผลความแตกต่างของผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม จึงอาจเป็นไปได้ว่าน้ำมันมะพร้าวจะไม่ได้ช่วยให้ผลการรักษาด้วยวิธีนี้ดีขึ้นได้
เพิ่มน้ำหนักตัวทารกคลอดก่อนกำหนด บางงานวิจัยพบว่าการนวดทารกที่คลอดก่อนกำหนดด้วยน้ำมันมะพร้าวด้วยน้ำหนักปานกลางสามารถช่วยเพิ่มน้ำหนักและการเติบโตของทารกได้ โดยประโยชน์ของการนวดน้ำมันหอมระเหยต่าง ๆ นั้นเกิดจากกลไกใดก็ยังไม่ทราบได้แน่ชัด คาดว่าอาจเป็นเพราะน้ำมันสามารถซึมผ่านผิวหนังและเกิดไขมันขึ้น การนวดทำให้เกิดการกระตุ้นเส้นประสาท กระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหาร หรือเกี่ยวเนื่องกับฮอร์โมน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ทั้งนี้ จากการศึกษาเปรียบเทียบการนวดเด็กที่มีน้ำหนักน้อยเนื่องจากการคลอดก่อนกำหนด (น้ำหนัก 1500-2000 กรัม) และเด็กคลอดปกติ (น้ำหนักมากกว่า 2500 กรัม) ด้วยน้ำมันมะพร้าว น้ำมันมิเนอรัล หรือยาหลอก ตั้งแต่วันที่ 2 ถึงวันที่ 31 หลังจากเกิด ผลปรากฏว่า การนวดด้วยน้ำมันมะพร้าวส่งผลดีต่อเด็กทั้งที่คลอดก่อนกำหนดและเด็กน้ำหนักปกติ โดยช่วยให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับอีก 2 กลุ่ม แต่เด็กคลอดก่อนกำหนดจะมีลำตัวยาวขึ้นด้วย การนวดเด็กที่มีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำด้วยน้ำมันมะพร้าวจึงอาจเป็นอีกทางเลือกให้คุณแม่ที่ประสบปัญหานี้ได้ทดลองใช้ แม้ว่าจะยังไม่สามารถยืนยันผลได้อย่างชัดเจนนัก เช่นเดียวกับประโยชน์ด้านอื่น ๆ ของน้ำมันมะพร้าว
รักษาสิว ความเชื่อเรื่องการทาน้ำมันมะพร้าวเพื่อการรักษาสิวนั้น มีการกล่าวอ้างผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์บางงานที่พบว่ากรดลอริก (Lauric Acid) ซึ่งเป็นสารชนิดหนึ่งที่พบได้ในน้ำมันมะพร้าว อาจมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นตัวการให้เกิดสิวอักเสบอย่างพีแอคเน่ (Propionibacterium Acnes) ทว่าการใช้น้ำมันมะพร้าวรักษาสิวโดยตรงนั้นกลับไม่ได้มีการศึกษาออกมายืนยัน และงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของกรดลอริกที่ว่าก็ยังเป็นเพียงการศึกษาในห้องปฏิบัติการหรือการทดลองในสัตว์เท่านั้น ยังไม่มีการนำกรดลอริกมารักษาสิวบนใบหน้าโดยตรง หากต้องการทดสอบสรรพคุณข้อนี้ของน้ำมันมะพร้าวจึงควรทำอย่างเหมาะสมและระมัดระวัง เนื่องจากยังไม่อาจระบุประสิทธิภาพและความปลอดภัยได้
ประโยชน์ต่อสุขภาพผมและหนังศีรษะ
รักษาเหา น้ำมันมะพร้าวเป็นหนึ่งในวัสดุธรรมชาติยอดนิยมในการกำจัดเหาและไข่เหาบนหนังศีรษะ ซึ่งงานวิจัยหนึ่งทางวิทยาศาสตร์ที่ทดสอบประสิทธิภาพของน้ำมันต่าง ๆ ที่มักนำมาใช้ประโยชน์ด้านนี้ ได้แก่ น้ำมันโป๊ยกั๊ก น้ำมันกระดังงา และน้ำมันมะพร้าว โดยใช้ผู้ทดลองเป็นเด็กที่ติดเหาบนหนังศรีษะจำนวน 119 คน แบ่งกลุ่มทาน้ำมันเหล่านี้วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที เป็นเวลานาน 5 วัน ส่วนกลุ่มควบคุมนั้นให้ใช้สเปรย์ที่ประกอบด้วยสารเคมีกำจัดเหาและโลนอย่างเพอร์เมทริน (Permethrin) มาลาไทออน (Malathion) และไพเพอโรนิล บิวทอกไซด์ (Piperonyl Butoxide) ทาบนศีรษะวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 นาที เป็นเวลานาน 10 วัน ปรากฏว่าการรักษาด้วยวิธีทางธรรมชาตินั้นมีความปลอดภัย ไร้ผลข้างเคียง และได้ผลถึง 92.3 เปอร์เซ็นต์ พอ ๆ กับการใช้สารเคมีที่มีประสิทธิภาพ 92.2 เปอร์เซ็นต์ น้ำมันจากธรรมชาติดังกล่าว รวมถึงน้ำมันมะพร้าว จึงอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถลองพิสูจน์ด้วยตัวเองโดยไม่น่าจะเป็นอันตราย
บำรุงเส้นผม จากการศึกษาคุณสมบัติของน้ำมันมะพร้าว น้ำมันมิเนอรัล และน้ำมันดอกทานตะวันต่อการบำรุงเส้นผม น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันชนิดเดียวที่พบว่ามีคุณประโยชน์ช่วยลดการสูญเสียโปรตีนของเส้นผมได้ดี เมื่อใช้ทาแล้วล้างออกก่อนและหลังการใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผมจากสารเคมีทั้งหลาย โดยเห็นผลทั้งเมื่อใช้กับผมที่แห้งเสียและผมสุขภาพดี ซึ่งผลลัพธ์ที่เป็นเช่นนี้ ผู้วิจัยคาดว่าอาจเป็นเพราะกรดลอริก (Lauric Acid) ในน้ำมันมะพร้าวซึ่งเป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์นั้นมีความสามารถในการจับตัวกับโปรตีนในเส้นผมสูง เพราะมีน้ำหนักโมเลกุลต่ำและโครงสร้างทางเคมีเป็นสายตรง จึงสามารถแทรกซึมเข้าสู่ภายในเส้นผมได้ดีกว่าน้ำมันอีก 2 ชนิด แต่ผลการวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณบำรุงรักษาเส้นผมของน้ำมันมะพร้าวก็ยังถือว่ามีน้อยเกินกว่าจะยืนยันได้
ประโยชน์ต่อสุขภาพเหงือกและฟัน
ขจัดคราบจุลินทรีย์และแบคทีเรียในช่องปาก เนื่องจากกรดลอริกในน้ำมันมะพร้าวนั้นมีคุณสมบัติลดการอักเสบและต้านเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เชื่อว่าการอมน้ำมันมะพร้าวในปากอาจไปช่วยจับเชื้อแบคทีเรียและจุลินทรีย์ไม่พึงประสงค์ภายในปาก และถูกกำจัดออกไปหลังจากถูกบ้วนทิ้ง การทดลองหนึ่งกล่าวสนับสนุนประโยชน์ด้านนี้ของน้ำมันมะพร้าว เนื่องจากพบว่าสามารถช่วยลดภาวะเหงือกอักเสบและการสะสมของคราบหินปูนในช่องปากของวัยรุ่น 60 คน อายุ 16-18 ปี จากการใช้กลั้วทำความสะอาดปากเป็นประจำนาน 30 วัน โดยเห็นผลได้ตั้งแต่วันที่ 7
เช่นเดียวกับอีกงานวิจัยที่ทดลองกับเด็กอายุ 8-12 ปี ทั้งหมด 50 คน ครึ่งหนึ่งใช้น้ำมันมะพร้าวบ้วนปากเป็นประจำทุกวันนาน 2-3 นาที หลังจากการแปรงฟันตอนเช้า เป็นเวลาติดต่อกัน 30 วัน กับอีกกลุ่มที่ทำลักษณะเดียวกันแต่เปลี่ยนจากน้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียอย่างคลอร์เฮกซิดีน (Chlorhexidine) ผลลัพธ์ชี้ว่าทั้งน้ำมันมะพร้าวและคลอร์เฮกซิดีนต่างมีประสิทธิภาพลดจำนวนแบคทีเรียสเตร็ปโตคอกคัสมิวแทนส์ (Streptococcus Mutans) แบคทีเรียต้นเหตุของฟันผุที่พบได้บ่อยที่สุดได้อย่างไม่แตกต่างกัน และแม้ในปัจจุบันจะยังไม่อาจยืนยันได้แน่ชัด แต่ก็นับเป็นอีกหนึ่งคุณประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวที่น่าจะลองทำตามกันได้ง่าย ๆ และไม่ก่อให้เกิดอันตราย
การใช้น้ำมันมะพร้าวอย่างปลอดภัย
การรับประทานน้ำมันมะพร้าวหรือนำมาใช้ทาผิวหนังถือว่าค่อนข้างปลอดภัยต่อสุขภาพหากใช้อย่างเหมาะสม แต่เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวมีไขมันมันสูง ทำให้มีข้อกังวลว่าการบริโภคน้ำมันมะพร้าวมากเกินไปอาจส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลเพิ่มสูงขึ้น จึงควรพึงระมัดระวังในการรับประทานเพื่อการรักษาโรคต่าง ๆ ที่อาจใช้ในปริมาณมากกว่าปกติ โดยเฉพาะในกรณีต่อไปนี้
- หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ควรรับประทานน้ำมันมะพร้าวเพียงในปริมาณปกติที่พบได้จากอาหารในชีวิตประจำวัน เพราะยังไม่มีการศึกษาที่พอจะยืนยันถึงความปลอดภัยของการรับประทานมะพร้าวปริมาณมาก
- น้ำมันมะพร้าวค่อนข้างปลอดภัยต่อเด็ก หากรับประทานในปริมาณปกติที่พบได้จากอาหารทั่วไป และอาจปลอดภัยหากนำมาใช้ทาผิวหนัง โดยสามารถใช้ได้ทั้งกับทารกและเด็กเล็กอย่างปลอดภัยในช่วงระยะสั้น ๆ ส่วนการรับประทานน้ำมันมะพร้าวเพื่อจุดประสงค์ในการรักษาโรคในเด็กนั้นยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าจะไม่เป็นอันตราย
- ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดว่าแคลอรี่และไขมันที่มีสูงในน้ำมันมะพร้าวอาจทำให้ระดับคอเลสเตอรอลโดยรวมและระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นได้ ทว่าก็มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่โต้แย้งว่าแท้จริงแล้วน้ำมันมะพร้าวอาจช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี และอาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลเลยในการทำให้ระดับคอเลสเตอรอลไม่ดีเพิ่มขึ้น จึงยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดในเรื่องนี้ และควรระมัดระวังไว้ก่อน
- ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าน้ำมันมะพร้าวจะทำให้เกิดปฏิกิริยากับยารักษาโรคชนิดใดหรือไม่ ผู้ที่กำลังใช้ยาใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนลองรับประทานน้ำมันมะพร้าว ทั้งนี้การรับประทานยาไซเลียม ซึ่งเป็นยาแก้ท้องผูกชนิดหนึ่ง อาจทำปฏิกิริยาโดยลดการดูดซึมของร่างกายต่อไขมันในน้ำมันมะพร้าวได้