น้ำมันละหุ่งถูกใช้กันมาอย่างยาวนานกว่า 1,000 ปี โดยใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเติมตะเกียง ใช้รับประทานเป็นยาระบายหรือใช้เป็นยาทาภายนอก และอาจใช้เป็นตัวช่วยเรื่องความสวยความงามตามธรรมชาติได้ด้วย เช่น เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ลดสิว ลดริ้วรอย และช่วยสมานแผล เป็นต้น นอกจากนี้ เมล็ดละหุ่งที่นำมาสกัดเป็นน้ำมันยังประกอบด้วยกรดชนิดต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น กรดริซิโนเลอิก กรดลิโนเลอิก กรดโอเลอิก กรดสเตียริก และกรดไขมันลิโนเลอิก เป็นต้น
ประโยชน์ของน้ำมันละหุ่งมีอะไรบ้าง ?
- ใช้เป็นยาระบาย การรับประทานน้ำมันละหุ่งนั้นขึ้นชื่อว่าช่วยแก้ท้องผูกได้ ซึ่งกรดริซิโนเลอิกจากน้ำมันละหุ่งจะแตกตัวในลำไส้เล็ก แล้วไปกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อภายในลำไส้ เพื่อช่วยให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้นและบรรเทาอาการท้องผูกได้เป็นครั้งคราว แต่ไม่ควรใช้ในระยะยาว เพราะอาจมีผลข้างเคียงทำให้ปวดท้องหรือท้องเสียได้
- เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวอย่างกรดริซิโนเลอิกในน้ำมันละหุ่งทำหน้าที่ช่วยดูดซับน้ำ ซึ่งจะช่วยป้องกันการสูญเสียน้ำทางผิวหนัง จึงมักถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังอย่างโลชั่น คลีนเซอร์ รวมถึงเครื่องสำอางต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม แม้จะใช้ได้กับทั้งผิวหน้าและผิวกายอย่างปลอยภัย แต่น้ำมันละหุ่งก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ในผู้ใช้บางราย
- ช่วยสมานแผล การทาน้ำมันละหุ่งที่แผลจะช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาใหม่ในบริเวณรอบ ๆ แผล ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ ลดการสะสมของเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วอันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แผลหายช้า และยังช่วยให้แผลตกสะเก็ดโดยไม่แห้งและแข็งได้ด้วยเช่นกัน
- ต้านการอักเสบ จากการค้นคว้าบางส่วน พบว่ากรดไขมันตัวฉกาจของน้ำมันละหุ่งอย่างกรดริซิโนเลอิกมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ลดอาการบวม และบรรเทาอาการปวด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น แม้จะมีแนวโน้มที่ดี แต่ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงประโยชน์ของน้ำมันละหุ่งในด้านนี้ต่อไป
- ลดสิว เนื่องจากน้ำมันละหุ่งมีคุณสมบัติต้านการอักเสบและต้านเชื้อจุลชีพ จึงอาจช่วยกำจัดแบคทีเรียบนผิวหนังที่เจริญเติบโตมากเกินไปซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดสิว
- ต้านเชื้อรา จากการศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า น้ำมันละหุ่งอาจมีคุณสมบัติต้านเชื้อราในช่องปากที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida Albicans)
- บำรุงเส้นผม การชะโลมน้ำมันละหุ่งลงบนเส้นผมเป็นประจำจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและลดการขาดหลุดร่วงของเส้นผม นอกจากนี้ ยังมีการใช้น้ำมันละหุ่งเพื่อเร่งผมยาวและรักษาอาการผมร่วงด้วย
- ช่วยให้หนังศีรษะแข็งแรง นอกจากการชะโลมน้ำมันละหุ่งที่ศีรษะจะดีต่อเส้นผมแล้ว ยังช่วยลดการเกิดรังแค แก้ปัญหาหนังศีรษะแห้ง และอาจรักษาอาการของโรคเซ็บเดิร์มได้เช่นกัน
- ชะลอการเกิดริ้วรอย น้ำมันละหุ่งประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่จะช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยก่อนวัย อีกทั้งยังมีคุณสมบัติเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง ช่วยให้ผิวมีสุขภาพดีและดูอ่อนกว่าวัย
- บรรเทาอาการผิวไหม้ ด้วยคุณสมบัติด้านต้านการอักเสบและบรรเทาอาการปวด นำมันละหุ่งจึงอาจช่วยบรรเทาอาการผิวไหม้จากแดด รวมถึงเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนังและช่วยลดการเกิดผิวลอก
- ช่วยให้ริมฝีปากชุ่มชื่น น้ำมันละหุ่งถือเป็นส่วนประกอบพื้นฐานอย่างหนึ่งของการทำลิปสติกและลิปกลอส หากพบว่ามีอาการปากแห้งหรือลอกเป็นขุย สามารถทาน้ำมันละหุ่งที่ริมฝีปากได้ หรืออาจนำไปผสมกับน้ำมันมะพร้าวด้วย เพื่อให้ลิปทาปากมีรสชาติที่ดีขึ้น
ข้อควรระวังของการใช้น้ำมันละหุ่ง
แม้ว่าน้ำมันละหุ่งจะมีประโยชน์หลายอย่างและสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย แต่ก็มีข้อควรระวังด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำมันละหุ่ง เพราะอาจเป็นปัจจัยที่เร่งให้คลอดบุตรเร็วกว่ากำหนด อีกทั้งการบริโภคหรือการใช้น้ำมันละหุ่งก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น หากรับประทานในปริมาณมากอาจทำให้ท้องเสีย ซึ่งหากถ่ายหนักมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำจนทำให้ร่างกายเสียสมดุลของน้ำและเกลือแร่ได้ หรือหากใช้เป็นยาทาภายนอกก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ในบางราย เป็นต้น
ดังนั้น ก่อนใช้น้ำมันละหุ่งหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่มีส่วนผสมของน้ำมันชนิดนี้ ควรทดสอบอาการแพ้ทางผิวหนังก่อนเสมอ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้หากผู้บริโภคหวังผลทางการรักษาในรูปแบบต่าง ๆ