น้ำมูกใส รู้จัก 7 สาเหตุ และวิธีรับมือ

น้ำมูกใสอาจดูเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไป แต่ก็เป็นสัญญาณสุขภาพที่ควรสังเกต น้ำมูกใสอาจเกิดจากปัจจัยทั่วไปที่ไม่เป็นอันตราย เช่น ไข้หวัดตามฤดูกาล โรคภูมิแพ้ การอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้งและเย็น หรือการรับประทานอาหารรสเผ็ด นอกจากนี้ อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่รุนแรงกว่านั้นได้ด้วย

น้ำมูกเป็นสารคัดหลั่งชนิดหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นบริเวณโพรงจมูก มีหน้าที่สร้างความชุ่มชื้นให้แก่โพรงจมูก และช่วยดักจับสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งน้ำมูกใสมักเป็นลักษณะของของน้ำมูกที่เป็นภาวะปกติ แต่ในบางครั้งน้ำมูกสีใสก็อาจเป็นสัญญานของปัญหาสุขภาพบางอย่างได้ เราจึงควรสังเกตสีละลักษณะต่าง ๆ ของน้ำมูกอยู่เสมอ 

น้ำมูกใส

สาเหตุของอาการน้ำมูกใส

น้ำมูกใสสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากสาเหตุทั่วไปที่ไม่เป็นอันตรายและสามารถหายได้เองภายในเวลาไม่นาน หรืออาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ควรได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม ตัวอย่างสาเหตุของการเกิดน้ำมูกใส มีดังนี้

1. สาเหตุทั่วไป

น้ำมูกใสเป็นน้ำมูกที่ร่างกายผลิตขึ้นทุกวันจึงไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวล แต่ปัจจัยบางอย่างอาจทำให้น้ำมูกไหลในปริมาณมากกว่าปกติได้ เช่น การอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นซึ่งทำให้โพรงจมูกแห้ง ร่างกายจึงจำเป็นต้องผลิตน้ำมูกมากขึ้นเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้แก่โพรงจมูก หรือการร้องไห้ก็อาจทำให้น้ำมูกไหลได้ เพราะน้ำตาจะไหลจากเปลือกตาด้านในลงมายังโพรงจมูก และกระตุ้นให้เกิดการผลิตน้ำมูกมากขึ้น

นอกจากนี้ หลายคนอาจสังเกตได้ว่าเมื่อรับประทานอาหารรสเผ็ดมักทำให้น้ำมูกไหลด้วย นั่นก็เป็นเพราะว่าสารที่ทำให้เกิดรสชาติเผ็ดในพริก หรือที่เรียกว่าสารแคปไซซิน (Capsaicin) จะไปกระตุ้นเส้นประสาทบนใบหน้า และส่งผลให้น้ำมูกไหลนั่นเอ

2. อาการแพ้

ผู้ที่มีน้ำมูกใสส่วนใหญ่มักเกิดจากอาการแพ้ทั่วไป เช่น แพ้ฝุ่น แพ้สัตว์เลี้ยง แพ้ละอองเกสรดอกไม้ เมื่อสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะผลิตสารฮีสตามีนออกมาเพื่อขับสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้ออกจากร่างกาย ซึ่งสารฮีสตามีนจะทำให้เกิดการผลิตเยื่อเมือกบริเวณตา จมูก และลำคอมากขึ้น เป็นสาเหตุให้น้ำมูกไหลนั่นเอง

3. ไข้หวัดทั่วไป 

เมื่อเป็นไข้หวัดในช่วงแรก ๆ มักจะเกิดน้ำมูกใส เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกำลังมีการตอบสนองต่อเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียที่เข้าสู่ร่างกายและเป็นสาเหตุของอาการไข้หวัด โดยน้ำมูกใสจะเกิดขึ้นในช่วง 2–3 วันแรกของการเป็นไข้หวัด และหลังจากนั้นน้ำมูกอาจเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเขียวตามมา ซึ่งนอกจากไข้หวัดทั่วไปแล้ว ไข้หวัดใหญ่หรือโรคโควิด-19 ก็อาจมีอาการน้ำมูกใสได้เช่นกัน

4. จมูกอักเสบ

อาการจมูกอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย โดยอาจเกิดจากการที่โพรงจมูกระคายเคืองจากการสูดดมฝุ่น ควันบุหรี่ ควันรถยนต์ หรือกลิ่นฉุน ส่งผลให้เกิดอาการจามและมีน้ำมูกใส รวมถึงผู้ที่กำลังตั้งครรภ์อาจเกิดอาการจมูกอักเสบจากการเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนของเลือด และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้มักจะมีอาการคัดจมูกและมีน้ำมูกใสด้วย

5. ไซนัสอักเสบ 

ไซนัสคือโพรงอากาศบริเวณใบหน้าและกระโหลกศีรษะ ซึ่งสามารถเกิดการอักเสบได้จากหลายสาเหตุ เมื่อไซนัสอักเสบจะเกิดอาการโพรงจมูกอุดตัน รู้สึกเจ็บแบบตื้อ ๆ แน่น ๆ บริเวณใบหน้า คัดจมูก และมีน้ำมูกใส ปัจจัยที่มักทำให้ไซนัสอักเสบคือเชื้อไวรัส แต่เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา รวมถึงสารก่อภูมิแพ้อีกหลายชนิด เช่น ฝุ่น ควัน หรือสะเก็ดผิวหนังของสัตว์ ก็อาจทำให้เกิดไซนัสอักเสบได้เช่นกัน

6. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด

การใช้ยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการน้ำมูกใสได้ เช่น ยาคุมกำเนิด ยาลดความดันโลหิต ยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด ยารักษาภาวะซึมเศร้า หรือยารักษาโรคต่อมลูกหมากโต ซึ่งหากผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่เกิดขึ้นรุนแรงหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมากเกินไป ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการลดหรือป้องกันผลข้างเคียงจากการใช้ยา

7. การรั่วไหลของน้ำไขสันหลัง 

น้ำไขสันหลังเป็นน้ำที่ไหลเวียนอยู่ภายในเยื่อหุ้มสมองและสันหลัง มีหน้าที่ในการช่วยปกป้องสมองและระบบประสาทส่วนกลางจากการกระทบกระเทือน แต่ในบางกรณีหากเกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะ ปัญหาสุขภาพบางประการ รวมถึงการผ่าตัดหรือการทำหัตถการบางอย่าง อาจทำให้น้ำไขสันหลังรั่วไหลออกมาทางจมูก และมีลักษณะคล้ายกับน้ำมูกใสได้

เมื่อน้ำไขสันหลังมีการรั่วไหลมักปรากฏอาการน้ำมูกใสไหลออกจากจมูกเพียงข้างเดียว ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ไวต่อแสงและเสียงรบกวน รวมถึงอาจรู้สึกปวดศีรษะมากเมื่อนั่งแต่อาการปวดหัวจะดีขึ้นเมื่อนอนราบ และในบางกรณี อาจเกิดขึ้นพร้อมกับอาการเลือดกำเดาไหลหลังจากการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ

วิธีรับมือเมื่อมีน้ำมูกใส

ส่วนใหญ่แล้วอาการน้ำมูกใสมักไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่รุนแรง และสามารถหายได้เอง โดยอาจดูแลตัวเองในเบื้องต้นด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ใช้น้ำเกลือล้างจมูก ดื่มน้ำให้เหมาะสมกับปริมาณที่ร่างกายต้องการ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยอาจสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นหรือเกสร หากอยู่ในห้องแอร์อาจใช้เครื่องทำความชื้นเพื่อเพิ่มความชื้นให้กับโพรงจมูก 

และอาจไปปรึกษาเภสัชกรถึงยาที่สามารถใช้ได้ ซึ่งเภสัชกรอาจแนะนำให้ใช้ยาลดน้ำมูกและยาแก้แพ้ ซึ่งควรใช้ตามคำแนะนำของเภสัชกรอย่างเคร่งครัด

แต่หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 10 วัน ร่วมกับมีอาการอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา

  • น้ำมูกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว 
  • น้ำมูกมีกลิ่นหรือมีเลือดปน 
  • มีไข้สูง 
  • รู้สึกเจ็บปวดบริเวณใบหน้า 
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง 
  • ปวดเบ้าตา 
  • ปวดหลังคอ 
  • อาเจียนต่อเนื่อง 
  • มีอาการน้ำมูกใสเกิดขึ้นหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ 

เมื่อได้ทราบปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการน้ำมูกใสและสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์แล้ว ก็อาจช่วยให้หลายคนสามารถรับมือได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้นเมื่อเกิดอาการมีน้ำมูกใส อีกทั้งหากทราบแล้วว่าอาการน้ำมูกใสที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากอะไร ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงในการเกิดน้ำมูกใสได้ด้วย