น้ำลายหวาน 8 สาเหตุและวิธีรับมือเมื่อเกิดอาการ

น้ำลายหวานหรือความรู้สึกว่ามีรสชาติหวานในปากและลำคออาจดูเหมือนไม่ใช่อาการร้ายแรงที่ต้องกังวลใจ จึงทำให้หลายคนมองข้ามเมื่อมีอาการเกิดขึ้น แต่ในบางกรณี อาการน้ำลายหวานก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ควรได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเหมาะสมได้เช่นกัน

อาการน้ำลายหวานสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากสาเหตุทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหารที่มีรสชาติหวาน หรืออาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคกรดไหลย้อน หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ หากเราทราบสาเหตุและแนวทางในการสังเกตเบื้องต้น อาจช่วยให้สามารถรับมือกับอาการได้อย่างเหมาะสม

น้ำลายหวาน

อาการน้ำลายหวานกับสาเหตุที่อาจเป็นไปได้

น้ำลายหวานอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. การรับประทานอาหารบางชนิด

อาการน้ำลายหวานสามารถเกิดขึ้นหลังจากการรับประทานอาหารบางอย่าง โดยเฉพาะอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวาน เช่น น้ำหวาน ช็อกโกแลต ไอศกรีม ลูกอม หรือผลไม้รสหวาน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ก็สามารถช่วยให้อาการหายไปได้ดื่มการจิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อชะล้างสิ่งตกค้างในช่องปาก และแปรงฟันหลังรับประทานอาหารให้สะอาด

2. ภาวะคีโตซิส (Ketosis)

ในกรณีของผู้ที่ควบคุมอาหารโดยเลือกรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ (Keto Diet) อาจมีอาการน้ำลายหวานเกิดขึ้นได้ เพราะโดยปกติร่างกายจะเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตเพื่อสร้างพลังงานให้แก่ร่างกาย แต่หากไม่มีคาร์โบไฮเดรตจะเกิดการเผาผลาญไขมันแทน กระบวนการนี้เรียกว่าการคีโตซิส ซึ่งอาจทำให้เกิดรสชาติหวานในปากได้นั่นเอง ซึ่งในกรณีนี้มักไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ

3. โรคเบาหวาน

ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ค่อนข้างยาก ซึ่งหากระดับน้ำตาลในเลือดไม่สมดุลก็อาจทำให้เกิดอาการน้ำลายหวานตามมา ร่วมกับการมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นด้วย เช่น การรับรสผิดปกติ กระหายน้ำมาก เหนื่อยล้ามาก หรือเห็นภาพซ้อน

ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจึงควรสังเกตอาการของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพราะอาการน้ำลายหวานอาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเมตาบอลิซึมในร่างกาย เช่น โรคไทรอยด์ โรคตับ หรือโรคไต ก็อาจทำให้เกิดการรับรสที่ผิดปกติ และเกิดอาการน้ำลายหวานได้เช่นกัน 

4. โรคกรดไหลย้อน

อาการน้ำลายหวานอาจมีสาเหตุมาจากโรคกรดไหลย้อน โดยเกิดจากการที่กรดในกระเพาะอาการไหลย้อนขึ้นมาทางหลอดอาหาร ทำให้รู้สึกว่ารสหวานอยู่ในลำคอหรือช่องปาก ทั้งนี้ อาการน้ำลายหวานจากกรดไหลย้อนอาจพบมากในตอนนอนหลับ โดยเฉพาะหากนอนหลับหรือเอนตัวนอนหลังจากการรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ โดยไม่รอให้อาหารย่อยก่อน

5. การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ 

การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ อาจทำให้มีกลูโคสในน้ำลายมากขึ้น และเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการน้ำลายหวานได้ รวมถึงการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส (Pseudomonas) ก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองในการรับรสชาติ และทำให้เกิดอาการน้ำลายหวานได้ด้วย

6. โรคเกี่ยวกับระบบประสาท 

อาการน้ำลายหวานอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคลมชัก หรือโรคลมบ้าหมู เนื่องจากความเสียหายของระบบประสาทอาจส่งผลให้ประสาทสัมผัสที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการรับรู้รสชาติทำงานผิดปกติ และรู้สึกว่ามีรสหวานเกิดขึ้นในปาก

7. ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด 

การใช้ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการน้ำลายหวานได้ เช่น ยาลดคอเลสเตอรอลในเลือดอย่างกลุ่มยาสแตติน ยารักษาโรคเบาหวานเมทฟอร์มิน (Metformin) ยารักษาโรคความดันโลหิตบางชนิด และยาขับปัสสาวะ รวมถึงการใช้ยาเคมีบำบัดหรือการทำรังสีรักษาในผู้ป่วยโรคมะเร็งศีรษะและลำคอ ก็อาจทำให้การรับรสเปลี่ยนแปลงไป และมีอาการน้ำลายหวานได้ด้วย

8. การตั้งครรภ์ 

อาการน้ำลายหวานอาจเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ในระยะเริ่มแรกได้เช่นกัน เพราะเมื่อตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนและกระบวนการย่อยอาหารในร่างกายจะเปลี่ยนไป จึงอาจทำให้รู้สึกถึงรสหวานในปากและลำคอได้ นอกจากนี้ ในบางกรณีที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการน้ำลายหวานเกิดขึ้น อาจเป็นผลมาจากโรคกรดไหลย้อนในขณะตั้งครรภ์ก็ได้เช่นกัน

วิธีเบื้องต้นในการรับมือกับอาการน้ำลายหวาน

หากมีอาการน้ำลายหวานเกิดขึ้น อาจลองใช้วิธีการดังต่อไปนี้เพื่อใช้บรรเทาอาการ

  • ดูแลรักษาความสะอาดของช่องปากด้วยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง รวมถึงควรแปรงลิ้น ใช้ไหมขัดฟัน และใช้น้ำยาบ้วนปาก เพื่อช่วยขจัดแบคทีเรียในช่องปากอีกทางหนึ่ง
  • หลีกเลี่ยงการนอนทันทีหลังจากมื้ออาหาร โดยควรเว้นช่วงหลังจากการรับประทานอาหารอย่างน้อยประมาณ 3–4 ชั่วโมง และควรนอนยกหมอนสูงขึ้นเล็กน้อย เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารอาหารบางประเภท เช่น อาหารรสเผ็ดจัดหรือเปรี้ยวจัด เครื่องดื่มคาเฟอีน หรือน้ำอัดลม เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อช่วยให้สามารถรับมือได้อย่างทันท่วงทีหากมีปัญหาสุขภาพเกิดขึ้น รวมถึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงได้ด้วย

ทั้งนี้ หากมีอาการน้ำลายหวานเกิดขึ้นเป็นประจำ เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นที่อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอย่างโรคกรดไหลย้อน โรคเบาหวาน หรือโรคเกี่ยวกับระบบประสาท ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสม