น้ำอัดลม กับความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่ควรรู้

น้ำอัดลม เครื่องดื่มเติมความสดชื่นยอดนิยมที่หลายคนไม่อาจหักห้ามใจ แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากเครื่องดื่มน้ำตาลสูงชนิดนี้จะไม่มีคุณค่าทางสารอาหารแล้วยังให้แคลอรี่ในปริมาณมาก ทำให้มีหลายงานวิจัยที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของการดื่มน้ำอัดลมมากเกินกับการเกิดโรคอ้วน รวมถึงโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และปัญหาสุขภาพอีกมากมาย

น้ำอัดลม

ในยุคที่ผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพ น้ำอัดลมที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุของโรคอ้วนและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ จึงถูกปรับให้ดูอันตรายน้อยลง เช่น การใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลหรือน้ำตาลเทียม ซึ่งจะช่วยลดปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับให้น้อยลงหรือปราศจากแคลอรี่ รวมถึงการเติมวิตามินแร่ธาตุต่าง ๆ เป็นหนึ่งในส่วนประกอบ ทว่าการใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลนั้นปลอดภัยจริงหรือ นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มีความคิดเห็นอย่างไรต่อน้ำอัดลมธรรมดากับน้ำอัดลมที่ใช้น้ำตาลเทียมกันแน่

น้ำอัดลมกับความเสี่ยงต่อสุขภาพ

ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน เป็นที่รู้กันว่าการบริโภคเครื่องดื่มซึ่งมีน้ำตาลสูง แต่ให้สารอาหารและความรู้สึกอิ่มต่ำอย่างน้ำอัดลมไม่ใช่พฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพน้ำหนัก ซึ่งไม่ใช่เพียงข้อวิตกกังวลโดยไม่มีหลักฐาน เแต่มีการรวบรวมงานวิจัยและการทดลองต่าง ๆ กว่า 30 งาน พบว่าการดื่มน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลในปริมาณมากมีความสัมพันธ์กับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นและความเสี่ยงต่อโรคอ้วน ซึ่งแม้จะยังสรุปไม่ได้แน่ชัดและจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยัน แต่ข้อมูลที่มีในปัจจุบันก็นับว่าเพียงพอที่จะกล่าวเตือนได้ว่าการบริโภคเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่มีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณสูงนั้นไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ

หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วน้ำอัดลมที่มีการใช้สารให้ความหวานต่าง ๆ แทนน้ำตาลจะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวได้หรือไม่  ในปัจจุบันหลักฐานที่มียังคลุมเครือเกินกว่าจะกล่าวได้ว่าการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลจะเป็นผลดีหรือผลเสียเกี่ยวกับภาวะอ้วนหรือการมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างไร และอีกข้อที่น่าเป็นกังวลก็คือการบริโภคน้ำอัดลมไม่มีน้ำตาลอาจทำให้ผู้ที่ดื่มนั้นเลือกรับประทานอาหารอื่น ๆ ในปริมาณแคลอรี่ที่สูงกว่าเดิม เสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนที่อาจตามมา

ผลการสำรวจหนึ่งในผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ชี้ว่าผู้มีภาวะน้ำหนักเกินและภาวะอ้วนมีพฤติกรรมการดื่มน้ำอัดลมที่ใช้น้ำตาลเทียมมากกว่าผู้มีน้ำหนักตามมาตรฐาน และยังเผยว่าผู้ป่วยภาวะอ้วนและน้ำหนักเกินกลุ่มที่ดื่มน้ำอัดลมที่ใช้น้ำตาลเทียมนั้นเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูงมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยภาวะอ้วนและน้ำหนักเกินที่ดื่มน้ำอัดลมปกติที่มีน้ำตาล ผลลัพธ์ดังกล่าวเป็นไปได้ว่าอาจเป็นเพราะผู้ที่ดื่มน้ำอัดลมที่ใช้น้ำตาลเทียมคิดว่าการดื่มน้ำอัดลมที่ไม่มีแคลอรี่ทำให้ตนรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูงกว่าเดิมได้เพิ่มขึ้น และมักจะรับประทานเกินพอดีในที่สุด

เบาหวาน นอกจากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นและภาวะอ้วนที่อาจถามหา ข้อมูลงานวิจัยต่าง ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากยังชี้ว่าการดื่มน้ำอัดลมผสมน้ำตาลในปริมาณสูงยังอาจนำไปสู่กลุ่มอาการอ้วนลงพุงและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ ซึ่งถือเป็นการค้นพบข้อพิสูจน์ที่ผู้ดื่มน้ำอัดลมทุกคนควรตระหนักและจำกัดการดื่มให้ลดน้อยลงเพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะอ้วนลงพุงซึ่งส่งผลให้มีระดับความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูง เกิดไขมันสะสมรอบเอวมาก รวมถึงมีระดับไขมันคอเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ เบาหวาน และโรคหลอดเลือดในสมองตามมา

นอกจากนี้ การศึกษาเกี่ยวกับน้ำอัดลมที่ใช้น้ำตาลเทียมในด้านเดียวกันนี้ก็พบผลลัพธ์ที่สอดคล้องกัน โดยระบุว่าการบริโภคน้ำอัดลมชนิดที่ใช้น้ำตาลเทียมทุกวันอาจมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อภาวะอ้วนลงพุงและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ทว่ายังไม่อาจยืนยันได้ แต่อย่างไรก็ควรป้องกันความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวและโรคอื่น ๆ ที่มีโอกาสเป็นไปได้ด้วยการลดปริมาณการดื่มน้ำอัดลมทั้งชนิดมีน้ำตาลและใช้น้ำตาลเทียมให้น้อยลง

โรคหัวใจ อีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้จากการดื่มน้ำอัดลม โดยผลการวิจัยพบว่าการบริโภคน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลเป็นประจำมีความเชื่อมโยงกับโอกาสเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจที่สูงขึ้น ทั้งยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมัน ปัจจัยการเกิดการอักเสบ และฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความอิ่มในทางที่ไม่ดีต่อสุขภาพอีกด้วย ส่วนเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลนั้น งานวิจัยนี้ไม่พบว่ามีความเชื่อมโยงกับโรคหลอดเลือดหัวใจหรือมีผลกระทบทางชีวภาพต่อร่างกายแต่อย่างใด

ในขณะที่อีกงานวิจัยหนึ่งซึ่งศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการดื่มน้ำอัดลมน้ำตาลเทียมกับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดซึ่งรวมถึงโรคหลอดเลือดสมองในผู้เข้าร่วมอายุเฉลี่ย 69 ปี กลับพบผลลัพธ์ในทางตรงกันข้ามโดยระบุว่าการดื่มน้ำอัดลมที่ใช้น้ำตาลเทียมทุกวันเป็นประจำส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหลอดเลือดในสมอง และการเสียชีวิตจากโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดเพิ่มสูงขึ้น แม้ตอนนี้จำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมจึงจะสามารถกล่าวสรุปได้อย่างชัดเจน แต่เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพ การดื่มน้ำอัดลมชนิดใดก็ตามแต่น้อยย่อมเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด

กระดูกพรุน เป็นที่สงสัยกันว่าการดื่มน้ำอัดลมจะส่งผลให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดน้อยลงหรือเกิดโรคกระดูกพรุนอย่างที่กล่าวกันหรือไม่ ข้อนี้มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์บางงานพบว่าการดื่มน้ำอัดลมที่มีกรดฟอสฟอริก (Phosphoric) เป็นส่วนประกอบมาก ๆ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (Hypocalcemia) เนื่องจากกรดนี้จะไปยับยั้งการดูดซึมแคลเซียมจนทำให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูกได้

การพิสูจน์ด้านนี้ มีการทดลองขนาดเล็กที่พบความสัมพันธ์ของการดื่มน้ำอัดลมตั้งแต่วันละ 1 กระป๋องขึ้นไปกับภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำในสตรีวัยทองอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่ไม่พบความเกี่ยวข้องของการดื่มน้ำอัดลมกับความหนาแน่นของมวลกระดูกที่ลดน้อยลง หรือบางการศึกษาที่ชี้ว่าการดื่มน้ำอัดลมอาจส่งผลต่อความหนาแน่นของกระดูกก็ต่อเมื่อมีการดื่มนมน้อยลงหรือมีพฤติกรรมดื่มน้ำอัดลมแทนนม

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในปีถัดมาเผยว่าการดื่มน้ำอัดลมโคล่ามีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการแตกของกระดูกแขนท่อนปลาย แต่ไม่พบความสัมพันธ์นี้ในการดื่มน้ำอัดลมชนิดอื่น ๆ และไม่มีผลต่อความหนาแน่นของมวลกระดูก ด้วยความขัดแย้งกันของผลการศึกษาที่มีจึงไม่อาจระบุได้ว่าน้ำอัดลมส่งผลต่อความหนาแน่นของมวลกระดูกหรือไม่และอย่างไร

ฟันผุ อาหารที่มีน้ำตาลสูงย่อมเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพฟัน เนื่องจากน้ำตาลที่ตกค้างจะกลายเป็นอาหารของแบคทีเรียภายในปาก ทำให้เกิดการจับตัวของแบคทีเรียกับน้ำตาลกลายเป็นคราบหินปูนในที่สุด  ไม่เว้นแม้แต่เครื่องดื่มต่าง ๆ ที่มีรสหวานและน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลสูง แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือ แม้แต่น้ำอัดลมที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลก็ยังอาจเป็นสาเหตุของอาการฟันผุได้เช่นกัน

งานวิจัยหนึ่งศึกษาพบว่าเครื่องดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มชูกำลังส่วนใหญ่ ทั้งที่มีน้ำตาลและใช้น้ำตาลเทียมต่างอาจทำให้เกิดการสูญเสียผิวหน้าฟันได้ เนื่องจากเครื่องดื่มเหล่านี้มีส่วนผสมเป็นกรดที่อาจมีฤทธิ์กัดกร่อนฟันให้ผุ ดังนั้น แค่ไม่มีน้ำตาลอย่างเดียวคงไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยต่อสุขภาพฟันอีกต่อไป

ทางที่ดีก่อนเลือกซื้อเครื่องดื่มเหล่านี้ ควรอ่านฉลากให้แน่ใจว่าไม่มีการเติมกรดชนิดใด ๆ โดยเฉพาะกรดไซตริก (Citric) และกรดฟอสฟอริก รวมทั้งหมั่นกลั้วปากด้วยน้ำเปล่าหลังดื่มเครื่องดื่มหรือรับประทานอาหารที่เป็นกรด จากนั้นรอสัก 1 ชั่วโมงค่อยแปรงฟันตาม เพราะการทำความสะอาดปากและฟันทันทีอาจทำให้สารเคลือบฟันหลุดออกไปได้

ภาวะสมองเสื่อมและโรคหลอดเลือดสมอง มีการกล่าวถึงอันตรายจากการดื่มน้ำอัดลมชนิดไม่มีน้ำตาลหรือใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลกับการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและภาวะสมองเสื่อมอย่างแพร่หลาย ซึ่งมีที่มาจากงานวิจัยหนึ่งที่ติดตามพฤติกรรมการดื่มน้ำอัดลมของผู้เข้าร่วม ผลลัพธ์เผยว่าผู้ที่ดื่มน้ำอัดลมไร้น้ำตาลมีความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวมากกว่าผู้ที่ไม่ดื่มน้ำอัดลมชนิดไม่มีน้ำตาลถึง 3 เท่า

ทว่างานวิจัยดังกล่าวนั้นค่อนข้างมีความน่าเชื่อถือน้อย อัตราความเสี่ยงที่แท้จริงพบเพียง 81 คน จาก 1,500 คนที่ตรวจพบภาวะสมองเสื่อมหลังผ่านไป 10 ปี และจากเพียง 97 คน ใน 3,000 เท่านั้นที่พบว่าเกิดโรคหลอดเลือดในสมอง ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนับว่าเป็นจำนวนที่น้อยเกินกว่าจะนำมาวิเคราะห์ผลได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังไม่ได้ระบุความเชื่อมโยงที่ชัดเจนเกี่ยวกับการได้รับสารให้ความหวานแทนน้ำตาลจากน้ำอัดลมกับการเกิดโรคทั้ง 2 ชนิด ทั้งยังมีตัวแปรอื่น ๆ ที่ไม่ได้นำมาวิเคราะห์ เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมไปถึงปริมาณการบริโภคน้ำอัดลมที่ย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละคน อย่างไรก็ดี การศึกษาชิ้นนี้ก็เป็นที่ยอมรับและได้รับการตระหนักจากสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา

น้ำอัดลมมีน้ำตาลกับไม่มีน้ำตาล อย่างไหนอันตรายกว่ากัน ?

น้ำอัดลมที่มีการผสมแร่ธาตุวิตามินต่าง ๆ นั้นไม่ได้ช่วยให้ดีต่อสุขภาพมากกว่าเดิมอย่างที่โฆษณา สำหรับคนส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องได้รับแร่ธาตุหรือวิตามินเพิ่มเติมจากน้ำอัดลม เพราะสารอาหารที่ผู้ประกอบการเพิ่มเข้าไปมักไม่ใช่สารอาหารที่ร่างกายไม่ได้รับเพียงพอจากอาหารอย่างเช่น แคลเซียม วิตามินดี โฟเลต หรือโพแทสเซียม

ส่วนการดื่มน้ำอัดลมที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลจะส่งผลเสียต่อสุขภาพน้อยกว่าน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลจริงหรือไม่นั้น ปัจจุบันยังมีความคลุมเครืออยู่มากและไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน เพราะแม้น้ำอัดลมที่ไม่มีน้ำตาลนั้นน่าจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วนหรือโรคเบาหวานลงไป แต่ก็มีการศึกษาเพียงเล็กน้อยที่ยืนยันข้อสันนิษฐานดังกล่าว นอกจากนี้ การศึกษาชิ้นหนึ่งในปี 2008 พบว่าผู้ที่ดื่มน้ำอัดลมไม่มีน้ำตาลเพียงวันละ 1 กระป๋อง มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอ้วนลงพุง รวมถึงการมีน้ำหนักเกินและระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนอาจนำไปสู่การเกิดโรคเบาหวานได้ในที่สุด

อีกการทดลองในปี 2012 แบ่งวัยรุ่นที่มีภาวะอ้วนเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้ดื่มน้ำอัดลมชนิดมีน้ำตาลตามที่เคยดื่มเป็นปกติ ส่วนอีกกลุ่มเปลี่ยนเป็นน้ำอัดลมชนิดไม่มีน้ำตาล ผลลัพธ์หลังจากผ่านไป 1 ปี แม้จะพบว่ากลุ่มที่ดื่มน้ำอัดลมไม่มีน้ำตาลมีน้ำหนักลดลงเล็กน้อย ทว่าเมื่อผ่านไป 2 ปี กลับไม่พบความแตกต่างของน้ำหนักตัวระหว่างทั้ง 2 กลุ่มมากนัก

ทั้งนี้ งานวิจัยทั้งหลายเกี่ยวกับน้ำอัดลมที่ไม่มีน้ำตาลมักไม่ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับอาหารชนิดอื่น ๆ ที่ผู้ดื่มน้ำอัดลมชนิดไม่มีน้ำตาลรับประทานร่วมด้วย เพราะการดื่มน้ำอัดลมไร้น้ำตาลแต่รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพย่อมให้ผลแตกต่างจากผู้ที่ดื่มน้ำอัดลมชนิดนี้แล้วเชื่อว่าจะสามารถรับประทานอาหารทอดหรืออาหารไขมันสูงได้มากกว่าเดิม เนื่องจากได้ดื่มน้ำอัดลมที่ไม่มีแคลอรี่และน้ำตาลไปแล้ว ซึ่งกลุ่มหลังนี้เองที่จะมีความเสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุงและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า หากเปรียบเทียบกันแล้วเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่มีแคลอรี่ต่ำหรือไม่มีแคลอรี่ย่อมดีกว่าเครื่องดื่มน้ำอัดลมปกติที่มีส่วนผสมของน้ำตาล หากรับประทานในปริมาณที่พอดี โดยไม่ใช้เป็นข้ออ้างเพื่อที่จะรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูงชนิดอื่น ๆ ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ น้ำอัดลมที่ไม่มีน้ำตาลยังอาจเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับผู้ที่ติดน้ำอัดลมชนิดมีน้ำตาลและกำลังพยายามลดการดื่ม แต่ถ้าจะให้ดีและปลอดภัยต่อสุขภาพที่สุดก็ควรเลือกดื่มเครื่องดื่มที่ไม่เพียงช่วยดับกระหาย แต่ยังให้สารอาหารที่จำเป็น และไม่มีสารเติมแต่งใด ๆ เช่น น้ำเปล่า น้ำผลไม้ร้อยเปอร์เซ็นต์ นมพร่องมันเนย หรือนมไขมันต่ำ เพราะแม้น้ำอัดลมที่ไม่มีน้ำตาลอาจจะดีกว่าในด้านการควบคุมน้ำหนัก แต่ก็ยังไม่อาจระบุได้ว่าสารให้ความหวานแทนน้ำตาลจะปลอดภัยต่อร่างกายหรือส่งผลต่อการเกิดโรคเบาหวานหรือไม่

ควบคุมการดื่มน้ำอัดลมเพื่อสุขภาพที่ดี

ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าน้ำอัดลมทั้งที่มีน้ำตาลหรือไม่มีน้ำตาลต่างก็ไม่ดีต่อสุขภาพนัก สำหรับผู้ที่ติดน้ำอัดลม การเอาชนะความอยากและความกระหายอาจเป็นเรื่องยาก ต่อไปนี้เป็นแนวทางในการลดน้ำอัดลมอย่างได้ผลที่สามารถทำตามอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้

  • ค่อย ๆ เปลี่ยนจากน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลเป็นน้ำอัดลมชนิดไม่มีน้ำตาล ซึ่งแน่นอนว่าน้ำอัดลมที่ไม่มีน้ำตาลนั้นไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ก็มีความเสี่ยงต่อโรคอ้วนน้อยกว่า
  • ค่อย ๆ ลดปริมาณการดื่ม โดยเลือกเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ ทดแทน จากที่เคยดื่มน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลหรือไม่มีน้ำตาลวันละ 1 กระป๋อง ซึ่งเครื่องดื่มที่ดีและเป็นธรรมชาติที่สุดก็คือน้ำเปล่านั่นเอง หรือว่าจะเลือกดื่มน้ำผลไม้ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือนมไขมันต่ำวันละ 1 แก้วก็ดีต่อสุขภาพไม่แพ้กัน
  • หากรู้สึกอยากเครื่องดื่มที่มีรสซ่ามาก ๆ ให้ลองดื่มโซดาผสมกับสารแต่งรสที่ไม่มีแคลอรี่
  • เมื่อต้องการคาเฟอีน การดื่มชาหรือกาแฟโดยเพิ่มน้ำตาลเพียงเล็กน้อยย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
  • เครื่องดื่มเกลือแร่ทั้งหลายใช่ว่าจะดีกว่าน้ำอัดลม เนื่องจากอาจมีปริมาณแคลอรี่เทียบเท่าได้กับน้ำอัดลมทีเดียว หากเป็นการออกกำลังกายที่ไม่หนักหน่วง การดื่มเพียงน้ำเปล่านับว่าเพียงพอแล้ว แต่หากเลือกซื้อเครื่องดื่มประเภทนี้ให้อ่านฉลากโภชนาการเปรียบเทียบปริมาณแคลอรี่และน้ำตาลก่อนตัดสินใจซื้อ

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการดื่มน้ำอัดลม การเลิกดื่มโดยสิ้นเชิงย่อมเป็นเรื่องยากที่จะทำได้ตลอด ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าไม่จำเป็นต้องถึงขั้นนั้น เพียงพยายามลดการดื่มน้ำอัดลมให้เหลือเพียงสัปดาห์ละ 1-2 กระป๋องก็ไม่น่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากนัก

ส่วนเด็กอายุตั้งแต่ 11 ปีลงไป การดื่มน้ำอัดลมซึ่งไม่มีคุณค่าทางโภชนาการใด ๆ นั้นไม่มีความจำเป็นต่อเด็กในวัยนี้ที่กำลังต้องการสารอาหารหลากหลายเพื่อใช้ในการเติบโตและพัฒนาการ ยกเว้นในเด็กที่มีการเคลื่อนไหวและใช้พลังงานมากสูงมาก นอกจากนี้ น้ำอัดลมยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดฟันผุ ผู้ปกครองควรอนุญาตให้เด็ก ๆ ดื่มเป็นครั้งคราวเท่านั้น