น้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นภาวะผิดปกติบริเวณหูชั้นใน โดยเกิดจากระดับน้ำในหูหรือการรวมตัวของของเหลวในช่องหูชั้นในเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น เวียนศีรษะ เสียการทรงตัว คลื่นไส้ อาเจียน มีเสียงอื้อในหู อาจสูญเสียการได้ยินชั่วคราวหรือถาวร
อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นพร้อมกันในคราวเดียว เป็นเวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นครั้งคราว หลายครั้งใน 1 สัปดาห์ ห่างกันเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี แล้วแต่ความรุนแรง ซึ่งปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากหูอุดตันจนทำให้การระบายของเหลวในหูผิดปกติ โครงสร้างในหูมีความผิดปกติ ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ไมเกรน ภูมิแพ้ หรือเกิดจากการติดเชื้อไวรัส
ผู้ที่มีอาการเหล่านี้ ควรเรียนรู้วิธีการดูแลตนเอง เพื่อบรรเทาอาการได้ทันท่วงที
วิธีการดูแลตนเองเมื่อเกิดอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน
- เมื่อเกิดอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน ให้นั่งหรือนอนลงและหลับตาลงเพื่อพักสายตา และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจทำให้อาการแย่ลงในขณะนั้น เช่น การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างกะทันหัน การมองแสงที่สว่างจ้า การอ่านหนังสือหรือดูโทรทัศน์
- ไม่ควรหันหน้าหรือขยับศีรษะเร็วเกินไป หากจำเป็นต้องเคลื่อนไหวร่างกาย ให้ทำอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป
- เมื่ออาการสงบลงแล้ว ไม่ควรรีบกลับไปทำกิจกรรมตามปกติ หากต้องการลุกขึ้น ให้ค่อย ๆ ขยับตัวไปรอบ ๆ เพื่อช่วยให้สายตาและประสาทสัมผัสอื่น ๆ ได้ปรับสภาพ
- สำหรับผู้ป่วยที่เสียการทรงตัว ควรระมัดระวังและหาวิธีป้องกันอุบัติเหตุรุนแรงจากการลื่นล้ม เช่น เปิดไฟทางเดินให้สว่างเพียงพอในเวลากลางคืน หรือใช้ไม้เท้าช่วยพยุงตัวขณะเดินสำหรับผู้ที่มีปัญหาการทรงตัวเรื้อรัง
น้ำในหูไม่เท่ากันยังไม่มีวิธีรักษาโดยเฉพาะ หากมีอาการรุนแรงหรือเป็นบ่อย ๆ ควรไปพบแพทย์แพทย์มักรักษาตามอาการ เพื่อลดความรุนแรงและลดความถี่ของอาการต่าง ๆ เช่น การรักษาด้วยยา การฟื้นฟูสมรรถภาพการทรงตัว การใช้เครื่องช่วยฟัง และการผ่าตัด เป็นต้น
วิธีป้องกันน้ำในหูไม่เท่ากัน
อาการของน้ำในหูไม่เท่ากันมักเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัวและอาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่เกิดอาการควรป้องกันและดูแลตนเองด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเกิดน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือป้องกันการกำเริบของอาการ ดังนี้
- ปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร ลดและควบคุมปริมาณการบริโภคเกลือหรือผงชูรส เพราะอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีเกลือสูงสามารถเพิ่มการกักเก็บของเหลวในร่างกาย ซึ่งมีผลต่อของเหลวในหู ทั้งนี้ ควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 1,500-2,000 มิลลิกรัม/วัน โดยเฉลี่ยรวมเป็นการบริโภคโซเดียมจากเกลือและอาหารที่มีโซเดียมชนิดอื่น
- หลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
- ไม่สูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวล หรือเรียนรู้วิธีรับมือกับปัญหาเหล่านั้น
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น ขับขี่ยานพาหนะ ว่ายน้ำ ปีนขึ้นที่สูง หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจัักร เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเกิดอุบัติเหตุอันตรายขึ้นได้
- หาวิธีลดความเครียดหรือหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงระหว่างโดยสารเครื่องบิน ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยน้ำในหูไม่เท่ากันสามารถเดินทางโดยเครื่องบินได้เช่นเดียวกับคนทั่วไปแต่อาจเลือกที่นั่งให้ห่างจากตัวเครื่องยนต์เพื่อป้องกันเสียงดังหรือแรงสั่นสะเทือน รวมทั้งเลือกที่นั่งติดกับทางเดินเพราะอยู่ห่างจากหน้าต่างและสะดวกในการเข้าห้องน้ำ ที่สำคัญควรดื่มน้ำให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์