บร็อคโคลี่ เป็นผักในตระกูลกะหล่ำปลีที่มีรูปร่างหน้าตาและรสชาติคล้ายคลึงกับกะหล่ำดอก นำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนูและรูปแบบ ทั้งยังเชื่อกันว่าอาจมีสรรพคุณต้านมะเร็ง ลดไขมันคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคข้อเสื่อม และบรรเทาอาการโรคเบาหวานได้อีกด้วย
บร็อคโคลี่ 100 กรัม จะให้พลังงานประมาณ 31 แคลอรี่ และอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญมากมาย อย่างวิตามินซี วิตามินเอ วิตามินเค กรดโฟลิก โพแทสเซียม กากใยอาหาร และยังมีโปรตีนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับผักชนิดอื่น ๆ
นอกจากนี้ บร็อคโคลี่ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระและสารประกอบสำคัญหลายชนิด เช่น ซัลโฟราเฟนและอินโดล-3-คาร์บินอลที่คาดว่าอาจมีคุณสมบัติต้านมะเร็ง สารต้านอนุมูลอิสระอย่างแคมพ์เฟอรอลและเควอซิทินที่อาจช่วยยับยั้งการเกิดโรคหัวใจ มะเร็ง ลดการอักเสบ และลดความดันโลหิต รวมทั้งมีสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ที่อาจช่วยบำรุงสุขภาพดวงตาได้ เป็นต้น
บร็อคโคลี่กับสรรพคุณต้านโรค
หลายครั้งที่บร็อคโคลี่ถูกยกให้เป็นหนึ่งในสุดยอดผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นที่พยายามหาคำตอบเพื่อยืนยันสรรพคุณของบร็อคโคลี่ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
บร็อคโคลี่กับการต้านมะเร็ง
นักวิจัยเชื่อว่าบร็อคโคลี่อุดมไปด้วยสารประกอบที่มีคุณสมบัติต้านเซลล์มะเร็ง โดยมีการศึกษาพบว่าใบและลำต้นของบร็อคโคลี่มีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างสารประกอบกลุ่มฟีนอลิกซึ่งอาจช่วยลดการอักเสบและความเสียหายของเซลล์ต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ ทั้งยังมีสารอินโดล-3-คาร์บินอลที่คาดว่าอาจช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ สารสำคัญอีกชนิดที่ทำให้บร็อคโคลี่เป็นหนึ่งในผักที่อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งได้ คือ สารกลุ่มไอโซไธโอไซยาเนท ซึ่งพบในผักตระกูลกะหล่ำ เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อคโคลี่ และคะน้า เป็นต้น โดยบร็อคโคลี่มีสารไอโซไธโอไซยาเนทอย่างซัลโฟราเฟนในปริมาณสูง ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าสารดังกล่าวอาจมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ลดการเกิดสารอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ รวมทั้งกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันด้วย
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่ผ่านมาล้วนศึกษาด้วยการหยดสารซัลโฟราเฟนลงในหลอดทดลองที่มีเซลล์มะเร็ง หรือไม่ก็เป็นการทดลองกับสัตว์ จึงยังไม่อาจยืนยันได้แน่ชัดว่าจะให้ผลลัพธ์เชิงการรักษาเช่นเดียวกันหากนำไปใช้กับคน ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาประสิทธิภาพด้านการต้านมะเร็งในคนเพิ่มเติมต่อไป
บร็อคโคลี่กับการลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ
สารไอโซไธโอไซยาเนทที่มีอยู่ในบร็อคโคลี่ในปริมาณสูงอาจช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งทดลองให้อาสาสมัคร 130 คน แบ่งกลุ่มบริโภคบร็อคโคลี่ธรรมดาหรือบร็อคโคลี่ที่มีสารดังกล่าวในปริมาณสูง โดยให้บริโภคสัปดาห์ละ 400 กรัมเท่ากันทั้ง 2 กลุ่มเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ผลลัพธ์พบว่าอาสาสมัครกลุ่มหลังมีระดับไขมันคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการมีไขมันสะสมในเลือดมากเกินไปนั้นจะส่งผลให้หลอดเลือดตีบแคบหรืออุดตันจนเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตามมา การรับประทานบร็อคโคลี่จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงจากโรคนี้ได้
นอกจากนี้ สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างโรคหลอดเลือดหัวใจได้ง่ายนั้น บร็อคโคลี่อาจมีประโยชน์ไม่น้อย เพราะมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทดลองในผู้ป่วยเบาหวาน 81 คน พบว่ากลุ่มที่รับประทานผงสกัดจากต้นอ่อนบร็อคโคลี่วันละ 10 กรัมเป็นเวลา 4 สัปดาห์ มีระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการของโรคหลอดเลือดหัวใจลดลงอย่างเห็นได้ชัด และมีระดับไขมันคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งไขมันชนิดนี้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้
อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่มีในปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มากพอต่อการสรุปคุณประโยชน์ของบร็อคโคลี่ในด้านนี้ได้อย่างชัดเจน อีกทั้งการกินบร็อคโคลี่เพียงอย่างเดียวเพื่อหวังลดไขมันในเลือดก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะวิธีลดไขมันอย่างยั่งยืนและเห็นผลอย่างปลอดภัย คือ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้เหมาะสม ออกกำลังกายเป็นประจำ และรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานควบคู่กันไปด้วยเสมอ
บร็อคโคลี่กับการป้องกันโรคข้อเสื่อม
สารซัลโฟราเฟนในบร็อคโคลี่อาจช่วยต้านการอักเสบและการเกิดโรคเรื้อรังอย่างโรคข้อเสื่อมได้ โดยมีการทดลองกับเซลล์ข้อต่อของคนในหลอดทดลองและในสัตว์ พบว่าสารดังกล่าวอาจมีสรรพคุณช่วยป้องกันการอักเสบและการเสื่อมของข้อได้
ผลการศึกษาข้างต้นทำให้มีการวิจัยต่อมาโดยทดลองในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมโดยตรงจำนวน 40 คน พบว่าผู้ป่วยที่รับประทานบร็อคโคลี่ซึ่งมีสารไอโซไธโอไซยาเนทในปริมาณสูงกว่าจะทำให้มีสารดังกล่าวในน้ำไขข้อเพิ่มมากขึ้นกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง ทั้งยังพบสารซัลโฟราเฟนในเลือดด้วย ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับสารไอโซไธโอไซยาเนท โดยอาจเป็นผลดีต่อผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม และหากในอนาคตสามารถยืนยันประโยชน์ในด้านนี้ได้ บร็อคโคลี่ก็อาจเป็นอีกตัวเลือกในการป้องกันและบรรเทาโรคข้อเสื่อม โดยมีราคาย่อมเยาว์และอาจใช้ทดแทนยาหรือการผ่าตัดรักษาที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก
บร็อคโคลี่กับประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน
นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานในการลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจแล้ว การรับประทานบร็อคโคลี่ยังอาจส่งผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวานโดยตรงได้ โดยมีงานวิจัยที่ต่อยอดจากสรรพคุณในการลดไขมันในเลือดของบร็อคโคลี่ที่ค้นคว้าพบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่บริโภคผงจากต้นอ่อนบร็อคโคลี่วันละ 10 กรัมเป็นเวลา 4 สัปดาห์ มีภาวะดื้อต่ออินซูลินลดลง เนื่องจากภาวะดังกล่าวจะส่งผลให้ร่างกายของผู้ป่วยไม่สามารถดูดซึมน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและมีอาการของโรคเบาหวานตามมา
ทั้งนี้ การศึกษาในด้านนี้ยังมีจำนวนไม่มากและล้วนทดลองกับคนเพียงจำนวนน้อยเท่านั้น นักวิจัยจึงต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป หากต้องการใช้บร็อคโคลี่หรือผลิตภัณฑ์จากบร็อคโคลี่เพื่อรักษาเบาหวานหรือคาดหวังสรรพคุณทางยาใด ๆ ก็ตาม ควรบริโภคบร็อคโคลี่อย่างเหมาะสมและคำนึงถึงความปลอดภัยด้วยเสมอ
กินบร็อคโคลี่อย่างไรให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากที่สุด ?
บร็อคโคลี่ถูกนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนูตามความชอบ หรือจะกินสด ๆ ก็ได้เช่นกัน แต่จากงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ พบว่าการปรุงผักชนิดนี้ให้สุกด้วยความร้อนต่ำน่าจะช่วยคงสารอาหารต่าง ๆ และรักษาคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้มากที่สุด
ส่วนวิธีเลือกซื้อบร็อคโคลี่ที่สดและเหมาะแก่การนำมาประกอบอาหารนั้น ควรพิจารณาตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- เลือกบร็อคโคลี่หัวที่มีดอกสีเขียวเข้มออกไปทางสีฟ้า และแต่ละดอกอยู่ชิดติดกัน
- ไม่ควรเลือกบร็อคโคลี่หัวที่มีดอกสีเหลืองหรือดอกมีลักษณะเสียหาย
- เลือกหัวที่มีลำต้นและก้านแข็งแรง แต่ไม่แข็งจนเกินไป และไม่มีรอยช้ำหรือผิวนิ่ม
- เก็บรักษาบร็อคโคลี่ไว้ในช่องแช่ผักของตู้เย็น แต่ไม่ควรเก็บไว้เกิน 5 วัน โดยทางที่ดีที่สุดควรนำมาปรุงอาหารทันทีที่ซื้อมา
ความปลอดภัยในการใช้บร็อคโคลี่เพื่อสรรพคุณทางยา
การกินบร็อคโคลี่ในปริมาณมากเกินไปหรือใช้ในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพนั้น ยังไม่มีงานวิจัยใดรองรับได้ว่ามีความปลอดภัยหรือไม่เพียงใด ดังนั้น เพื่อป้องกันอันตรายและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ในลักษณะนี้ ผู้บริโภคควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ โดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มต่อไปนี้ที่ควรระมัดระวังมากเป็นพิเศษ
- หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร สามารถกินบร็อคโคลี่ได้ตามปกติ แต่ไม่ควรบริโภคในปริมาณมากเพื่อหวังสรรพคุณทางยา เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันความปลอดภัยได้อย่างชัดเจน
- ผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย ควรระวังในการใช้บร็อคโคลี่หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของบร็อคโคลี่ทาลงบนผิวหนัง เพราะอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยควรทดสอบด้วยการทาลงบริเวณท้องแขนบาง ๆ แล้วรอดูว่ามีปฏิกิริยาแพ้อย่างอาการแดง คัน บวม หรือมีผื่นขึ้นหรือไม่
- ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ ในบร็อคโคลี่มีสารที่อาจขัดขวางการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อผู้ป่วยโรคนี้ได้ หากต้องการกินผักชนิดนี้ในปริมาณมาก ควรปรุงให้สุกด้วยการใช้ความร้อนสูง แต่ก็อาจทำให้สารที่มีคุณประโยชน์สลายตัวไปได้เช่นกัน
- ผู้ที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนใช้หรือบริโภคบร็อคโคลี่เสมอ เพราะอาจทำให้มีเลือดออกได้ง่าย และเพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาชนิดนี้กับวิตามินเคที่ได้จากการบริโภคบร็อคโคลี่ในปริมาณสูง