บวบ มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคจริงหรือ ?

บวบ เป็นผักที่นิยมนำไปปรุงอาหารรับประทานกันทั่วไป โดยเชื่อว่าบวบอาจมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ เช่น มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ รักษาโรคไซนัสอักเสบ ต้อกระจก ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง อีกทั้งยังมีการนำใยบวบที่ได้จากผลบวบแห้งไปใช้ขัดตัวระหว่างอาบน้ำ เพื่อช่วยบำรุงสุขภาพผิวด้วยเช่นกัน

บวบ

ในประเทศไทย มีบวบหลายชนิดที่นิยมนำมาประกอบอาหาร เช่น บวบหอม เป็นผลยาว ผิวเกลี้ยง และบวบเหลี่ยม เป็นผลยาว ผิวหยาบ มีเหลี่ยมเป็นสันขอบ ซึ่งเชื่อว่าบวบแต่ละชนิดอาจมีสรรพคุณต่อสุขภาพแตกต่างกันออกไป

ส่วนคำกล่าวอ้างถึงสรรพคุณด้านต่าง ๆ ของบวบนั้น จะจริงเท็จมากน้อยเพียงใด มีการศึกษาและหลักฐานทางการแพทย์บางส่วนได้พิสูจน์แง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับบวบไว้ ดังนี้

บวบกับประโยชน์ต่อผิวพรรณ

บวบที่แก่จัดจะมีเส้นใยจำนวนมาก หลายคนจึงนิยมนำใยบวบหรือรังบวบมาใช้ขัดผิวระหว่างอาบน้ำ โดยเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อผิวพรรณ ช่วยกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วหรือสิ่งสกปรกที่อุดตันตามผิวหนัง อีกทั้งยังมีการนำใยบวบมาขัดก้น เพื่อลดการอักเสบของรูขุมขนและช่วยลดปัญหาสิวที่ก้นด้วย มีการศึกษาชิ้นหนึ่งชี้ให้เห็นว่า ใยบวบเป็นแหล่งของสารไคทิน (Chitin) ซึ่งมีประโยชน์ต่อการสมานแผล และแม้การศึกษาดังกล่าวจะแสดงถึงแนวโน้มที่ดีทางการรักษาผิวหนังด้วยบวบ แต่เป็นเพียงการทดลองในสัตว์เท่านั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาในมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่าบวบและใยบวบมีประสิทธิภาพในการสมานแผล หรือมีประโยชน์ต่อการรักษาโรคทางผิวหนังอื่น ๆ ได้จริง

บวบกับการต้านอนุมูลอิสระ  

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าสารอนุมูลอิสระเป็นความเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคมะเร็ง หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ โดยหลายคนเชื่อว่าบวบหอมอาจเป็น 1 ในผักสวนครัวใกล้ตัวที่ช่วยต้านอนุมุลอิสระได้ ทั้งยังมีการศึกษาที่ชี้ว่าบวบหอมประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น กรดพีคูมาริก (P-Coumaric Acid) สารกลุ่มไดออสเมติน (Diosmetin) สารกลุ่มเอพิเจนิน (Apigenin) สารกลุ่มลูทีโอลิน (Luteolin) เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นสารที่มีประโยชน์และช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเซลล์ในร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการค้นคว้าถึงประสิทธิภาพที่แน่ชัดของบวบในการต้านสารอนุมูลอิสระและป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ จึงควรมีการค้นคว้าทดลองในด้านนี้ให้ชัดเจนต่อไปในอนาคต

บวบกับการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการคันเรื้อรัง พบมากในเด็กและทารก ในทางการแพทย์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า บวบอาจช่วยลดการอักเสบและรักษาผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้ จากการศึกษาชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่า หลังจากทาสารสกัดจากบวบหอมในบริเวณที่มีอาการเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ช่วยลดการอักเสบและยับยั้งการเกิดผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้

อย่างไรก็ตาม งานค้นคว้าดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาในสัตว์ทดลองเท่านั้น จึงจำเป็นต้องค้นคว้าเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพของบวบต่อการรักษาผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในมนุษย์ รวมทั้งศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยในการบริโภคหรือใช้สารสกัดจากบวบให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

บวบกับประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคต้อกระจก

ต้อกระจกเป็นโรคที่ทำให้เลนส์แก้วตาขุ่นมัว ส่งผลต่อทัศนวิสัยในการมอง ทำให้ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน และอาจต้องใช้แสงสว่างมากกว่าปกติในการอ่านหนังสือ ในอดีตเชื่อกันว่าบวบหอมอาจมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคต้อกระจกได้ และมีการศึกษาหนึ่งที่แนะนำว่าสารสกัดจากบวบหอมอาจส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคต้อกระจก โดยอาจช่วยชะลอหรือป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากสารฟีนอลิก สารฟลาโวนอย วิตามินเอ และสารประกอบอื่น ๆ ของบวบหอม

อย่างไรก็ตาม แม้การศึกษานี้จะบ่งชี้ว่าบวบมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคต้อกระจก แต่ก็เป็นเพียงการศึกษาในสัตว์ทดลองเท่านั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพของบวบต่อการรักษาต้อกระจกในมนุษย์ รวมทั้งศึกษาความปลอดภัยของสารสกัดจากบวบให้ชัดเจนต่อไป

บวบกับการรักษาโรคไซนัสอักเสบ

ไซนัสอักเสบเป็นภาวะที่เยื่อบุบริเวณโพรงอากาศข้างจมูกติดเชื้อ ทำให้มีน้ำมูกข้น คัดจมูก ปวดและตึงบริเวณแก้ม ตา หรือหน้าผาก ผู้ป่วยมักได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะร่วมกับการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูก ในทางการแพทย์คาดว่าบวบอาจช่วยรักษาไซนัสอักเสบได้ โดยมีการศึกษาชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่า การใช้ยาพ่นจมูกที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากบวบมีประสิทธิภาพในการรักษาไซนัสอักเสบ เมื่อเทียบกับการรักษาโดยใช้สารละลายน้ำเกลือ

อย่างไรก็ตาม แม้การศึกษาดังกล่าวจะชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของบวบที่อาจรักษาไซนัสอักเสบได้ แต่เป็นเพียงการศึกษานำร่องขนาดเล็ก และทดลองในห้องปฏิบัติการเท่านั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมให้ชัดเจนก่อนนำมาประยุกต์ใช้จริงกับผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบ

นอกจากนี้ หลายคนยังเชื่อว่าการรับประทานบวบอาจช่วยรักษาโรคหวัด บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ อาการเจ็บหน้าอก ช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติ หรือช่วยกระตุ้นน้ำนมของหญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร แต่ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่เพียงพอพิสูจน์ความเชื่อดังกล่าวได้ในขณะนี้

โดยการรับประทานบวบเป็นอาหารในปริมาณที่พอเหมาะนั้นค่อนข้างปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่ รวมถึงหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรด้วย แต่ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอในการรับประทานบวบเพื่อเป็นยารักษาโรค และยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดพอจะระบุปริมาณในการรับประทานบวบอย่างเหมาะสม ดังนั้น ก่อนรับประทานบวบหรือใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ จากบวบ ผู้บริโภคควรคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น อายุ หรือปัญหาสุขภาพ และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของตนเองก่อนเสมอ