ฟันเหลืองเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่มักทำให้ใครหลายคนสูญเสียความมั่นใจ และอาจส่งผลกระทบต่อบุคลิกภาพได้ แต่ไม่ต้องเป็นกังวลไปเพราะฟันเหลืองสามารถแก้ไขได้ หากรู้วิธีดูแลสุขภาพฟันอย่างเหมาะสมก็จะช่วยให้ฟันดูขาวขึ้นได้ และทำให้สามารถเผยรอยยิ้มได้อย่างมั่นใจ
ฟันเหลืองอาจเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะสีฟันของแต่ละคนแตกต่างกันออกไปตามกรรมพันธุ์ แต่ในบางกรณีฟันเหลืองก็อาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอายุ พฤติกรรมการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มบางประเภท โรคหรือภาวะสุขภาพบางอย่าง การใช้ยาบางชนิด รวมถึงเกิดจากการรักษาทางการแพทย์ก็ได้เช่นกัน
สาเหตุที่อาจทำให้ฟันเหลือง
นอกเหนือจากกรรมพันธุ์แล้ว ฟันเหลืองสามารถเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- ช่วงวัย เมื่ออายุมากขึ้นชั้นเคลือบฟัน (Enamel) ของคนเราจะค่อย ๆ บางลง ทำให้สามารถมองเห็นชั้นเนื้อฟันที่มีสีเหลืองตามธรรมชาติได้ชัดเจนมากขึ้น
- การสูบบุหรี่ โดยเกิดจากสารนิโคตินที่อยู่ในบุหรี่ ทำให้เกิดคราบสะสมที่ฟัน ส่งผลให้ฟันเหลือง รวมถึงอาจทำให้เกิดคราบดำตามซอกฟันหรือเหงือกด้วย
- การดื่มเครื่องดื่มประเภทกาแฟและชา เพราะมีส่วนประกอบของสารแทนนิน (Tannin) เข้มข้น ทำให้เกิดคราบเหลืองติดอยู่บนเนื้อฟัน อีกทั้งชาและกาแฟมีความเป็นกรดสูง ทำให้ชั้นเคลือบฟันบางลง และส่งผลให้คราบสามารถฝังอยู่บนฟันได้ง่ายขึ้นด้วย
- ภาวะสุขภาพบางอย่าง เช่น ฟันผุ ฟันตาย อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสีฟัน รวมถึงการติดเชื้อบางชนิดในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสีฟันของทารกในครรภ์ได้ด้วย
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะเตตราไซคลิน (Tetracyclines)
- การรักษาทางการแพทย์ เช่น การฉายรังสี หรือการทำเคมีบำบัดบริเวณศีรษะและคอ
เคล็ดลับเปลี่ยนฟันเหลืองให้ดูขาวขึ้น เผยรอยยิ้มได้อย่างมั่นใจ
ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ช่วยทำให้ฟันขาวมากมายที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสามารถซื้อหาได้ทั่วไป เช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก หรือแผ่นเจลฟอกฟันขาว ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เหมาะกับผู้ที่มีสุขภาพช่องปากปกติ ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเหงือกและฟัน และควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ใดก็ตาม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพ
นอกจากนี้ ยังมีวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมง่าย ๆ ที่สามารถช่วยป้องกันไม่ให้ฟันเหลืองได้ด้วย ซึ่งการรักษาอาการฟันเหลืองแต่ละวิธีมีความแตกต่างกัน ดังนี้
1. ใช้ยาสีฟันที่มีสรรพคุณช่วยให้ฟันขาว
การใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของสารคาร์บาไมด์เปอร์ออกไซด์ (Carbamide Peroxide) หรือสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) ซึ่งเป็นสารที่อาจช่วยทำให้ฟันขาวได้ โดยไม่ได้ช่วยฟอกสีฟันหรือทำให้สีฟันเปลี่ยน แต่จะช่วยในการขจัดคราบสกปรกที่เกาะบริเวณพื้นผิวของฟัน ส่งผลให้ฟันค่อย ๆ ดูขาวสะอาดขึ้นเมื่อใช้อย่างต่อเนื่อง
2. ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีสรรพคุณช่วยให้ฟันขาว
น้ำยาบ้วนปากที่มีสรรพคุณช่วยให้ฟันขาวจะมีสรรพคุณคล้ายกับน้ำยาบ้วนปากที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไป คือช่วยทำให้ลมหายใจสดชื่น ลดคราบพลัค (Plaque) ลดกลิ่นปาก และลดปัญหาโรคเหงือก แต่อาจมีส่วนผสมที่ช่วยทำให้ฟันขาวอย่างไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) ผสมลงไปเพิ่มเติมด้วย
3. ใช้แผ่นเจลฟอกฟันขาว
แผ่นเจลฟอกฟันขาวโดยส่วนใหญ่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป มักมีลักษณะเป็นเจลที่สามารถทาลงบนผิวฟันได้โดยตรง เป็นถาดครอบฟัน หรือเป็นแผ่นบาง ๆ เคลือบด้วยสารฟอกฟันขาวที่สามารถแปะลงบนผิวฟันได้โดยตรง การใช้แผ่นเจลฟอกฟันขาวมักใช้วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที และใช้ต่อเนื่องนานประมาณ 14 วัน ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ภายในไม่กี่วันหลังจากใช้งาน
อย่างไรก็ตาม แผ่นเจลฟอกฟันขาวแต่ละชนิดอาจมีวิธีการใช้ที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงอาจให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละคนด้วย จึงควรใช้ตามคำแนะนำบนฉลากหรือคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเหงือกและฟันตามมา
4. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
หลังจากใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยทำให้ฟันขาวขึ้นแล้ว ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อไม่ให้ฟันกลับมาเหลืองอีก โดยการเลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มประเภทกาแฟ ชา หรือไวน์ รวมถึงควรดูแลรักษาสุขภาพช่องปากและฟันอยู่เสมอด้วยการแปรงฟันให้สะอาด ใช้ไหมขัดฟันและน้ำยาบ้วนปากเป็นประจำ และควรไปพบทันตแพทย์เพื่อขูดหินปูนและตรวจฟันทุก 6 เดือนด้วย
อย่างไรก็ตาม เหงือกและฟันของคนเรามีความบอบบางและไวต่อสารเคมี วิธีการรักษาฟันเหลืองบางวิธี เช่น การฟอกสีฟัน อาจส่งผลกระทบต่อเหงือกและฟัน ทำให้เกิดอาการเสียวฟัน แสบเหงือกหรือเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากได้ จึงควรศึกษาข้อควรระวังก่อนการใช้งาน นอกจากนี้ เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี รวมถึงผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรไม่ควรฟอกสีฟัน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพตามมาได้