การสูบบุหรี่ในขณะตั้งครรภ์ถือเป็นภัยร้ายที่ก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อผู้สูบและทารกในครรภ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากในบุหรี่มีสารอันตรายอย่างนิโคติน คาร์บอนมอนอกไซด์ และทาร์ ที่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายจากการสูบบุหรี่ในขณะตั้งครรภ์จึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อช่วยให้ลูกน้อยมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์หลังคลอด
สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ มีอันตรายต่อทารกในครรภ์อย่างไร ?
การสูบบุหรี่ในขณะตั้งครรภ์หรือก่อนการตั้งครรภ์เพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจทำให้ทารกในครรภ์ได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นมี ดังนี้
- ภาวะแท้ง เป็นการสูญเสียตัวอ่อนภายในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์
- การตั้งครรภ์นอกมดลูก เป็นภาวะที่ไข่ได้รับการผสมกับเชื้ออสุจิแล้วกลายเป็นตัวอ่อนฝังตัวอยู่บริเวณอื่นที่ไม่ใช่ผนังมดลูก ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปเป็นทารกได้
- ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด เป็นภาวะที่รกบางส่วนหรือทั้งหมดลอกตัวออกจากมดลูกของสตรีมีครรภ์ก่อนทารกคลอด ส่งผลให้ทารกในครรภ์ขาดออกซิเจนและสารอาหาร ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
- ภาวะรกเกาะต่ำ เป็นภาวะที่รกปิดขวางหรือคลุมปากมดลูกเพียงบางส่วนหรือทั้งหมด เมื่อถึงเวลาคลอด ปากมดลูกจะเปิดขยายออก ทำให้เส้นเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างรกและปากมดลูกฉีกขาด
- การคลอดก่อนกำหนด เป็นภาวะปากมดลูกเปิดที่เป็นผลมาจากการหดและขยายตัวของมดลูกในช่วงก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการตั้งครรภ์แบบครบกำหนดคลอดจะใช้เวลา 37-40 สัปดาห์
- ภาวะตายคลอด เป็นภาวะที่ทารกเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยภาวะนี้อาจเกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ขึ้นไป
นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ยังอาจส่งผลให้ทารกได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ มีน้ำหนักแรกเกิดน้อย อัตราการเต้นของหัวใจทารกเพิ่มขึ้น รวมทั้งอาจสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น พิการแต่กำเนิด มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และอาจป่วยเป็นโรคไหลตายในเด็ก เป็นต้น
ควันบุหรี่มือสองส่งผลต่อทารกในครรภ์หรือไม่ ?
นอกจากอันตรายจากการสูบบุหรี่ในขณะตั้งครรภ์แล้ว การได้รับควันบุหรี่มือสองในระหว่างที่ตั้งครรภ์ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ทารกในครรภ์เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพมากมายเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ พิการแต่กำเนิด รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์อย่างภาวะตายคลอด
เลิกบุหรี่อย่างไรให้ได้ผล ?
คุณแม่ตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนจะตั้งครรภ์ที่ยังมีพฤติกรรมสูบบุหรี่อยู่ควรเลิกสูบบุหรี่ทันที และหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่มือสอง โดยปฏิบัติตามคำแนะนำต่าง ๆ ดังนี้
- เก็บอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ให้พ้นมือ เช่น ไม้ขีดไฟ และไฟแช็ค เป็นต้น
- ขอความร่วมมือจากบุคคลใกล้ชิด โดยไม่อนุญาตให้สูบบุหรี่ในที่พักอาศัย ที่ทำงาน ยานพาหนะ และพื้นที่บริเวณใกล้เคียง
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่ และไม่อยู่ในบริเวณเขตสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์โดยตรงแล้วยังอาจกระตุ้นให้คุณแม่รู้สึกอยากสูบบุหรี่ได้
- พยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่อย่างการสูบบุหรี่ขณะขับรถหรือเมื่อเกิดความรู้สึกเครียด โดยอาจเลือกทำกิจกรรมอื่นทดแทนเช่น เดินเล่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ หรือทำงานอดิเรกอื่น ๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ คุณแม่สามารถขอคำแนะนำได้จากเจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการเลิกบุหรี่โดยโทรศัพท์ไปที่เบอร์ 1600 หรือปรึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลที่มีคลินิกเลิกบุหรี่ เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีเลิกบุหรี่ที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ สุขภาพของทารกในครรภ์อาจไม่ได้รับอันตราย และมีโอกาสคลอดออกมาอย่างสมบูรณ์และแข็งแรงได้หากคุณแม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สูบบุหรี่และเพิ่งทราบว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ควรเลิกสุบบุหรี่และไปพบแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำที่ถูกต้องทันที รวมทั้งควรเข้ารับการตรวจสุขภาพการตั้งครรภ์เพื่อตรวจดูความผิดปกติของทารกในครรภ์อย่างสม่ำเสมอ