ประคบเย็น ทำอย่างไรให้ถูกต้องและปลอดภัย ?

ประคบเย็น เป็นวิธีที่ช่วยลดอาการปวด บวม และอักเสบ รวมถึงช่วยห้ามเลือดได้ ซึ่งการประคบเย็นเป็นวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่สะดวกและรวดเร็ว เพราะสามารถหาอุปกรณ์ได้ง่ายจากของใช้ในบ้านอย่างน้ำแข็งในตู้เย็น แต่การประคบเย็นควรกระทำด้วยความระมัดระวังและคำนึงถึงความเหมาะสม เพราะหากประคบเย็นนานเกินไปหรือบ่อยครั้งเกินไป อาจทำให้ได้รับอันตรายอย่างเนื้อเยื่อผิวตายจากความเย็นได้เช่นกัน

ประคบเย็น

ประคบเย็น ใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง ?

อุปกรณ์ช่วยในการประคบเย็นอาจแตกต่างกันไปตามประเภท ดังนี้

การประคบเย็นด้วยอุปกรณ์ภายในบ้าน

  • ถุงน้ำแข็ง ทำได้เองโดยนำถั่วแช่แข็ง ข้าวโพดแช่แข็ง หรือน้ำแข็งประมาณ 0.5 กิโลกรัม ใส่ในถุงพลาสติกแล้วเติมน้ำเข้าไปให้พอท่วม หากใช้ถั่วหรือข้าวโพด ให้รีดลมออกจากถุงให้หมด ปิดถุงให้สนิท จากนั้นห่อด้วยผ้าขนหนูอีกชั้นก่อนนำมาใช้ประคบ
  • ถุงเย็น ผสมน้ำสะอาดประมาณ 700 มิลลิลิตรกับแอลกอฮอล์ 250 มิลลิลิตรเข้าด้วยกันในถุงสำหรับแช่แข็ง ปิดถุงให้สนิท นำไปแช่ในช่องแข็งจนกว่าของเหลวจะก่อตัวเป็นเกล็ดน้ำแข็งแล้วจึงนำมาใช้ หากถุงเย็นเริ่มละลายหลังการใช้งาน สามารถนำกลับไปแช่แข็งใหม่และนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีก
  • ผ้าเย็น นำผ้าขนหนูไปชุบน้ำเย็นและบิดหมาด ๆ ก่อนนำไปใส่ไว้ในถุงพลาสติกแล้วแช่ช่องแข็งไว้ประมาณ 15 นาที

การประคบเย็นด้วยอุปกรณ์จากร้านขายยาทั่วไป

  • มาสก์เย็นหรือเจลเย็น อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ประคบเย็นได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากผลิตภัณฑ์บางชนิดถูกออกแบบลักษณะมาเพื่อประคบบริเวณที่บาดเจ็บอย่างเข่าหรือแขนโดยเฉพาะ และสามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง

ประคบเย็น มีประโยชน์อย่างไร ?

การประคบเย็นเป็นวิธีปฐมพยาบาลที่ใช้ได้ทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นดวงตา หน้าผาก ช่วงหลังส่วนล่าง หรือบริเวณอื่น ๆ ซึ่งการประคบเย็นจะช่วยลดอาการบวมอักเสบ คัน ปวด หรือห้ามเลือดในเบื้องต้นได้ ซึ่งช่วยจัดการกับอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้

  • ปวดหัว
  • มีไข้
  • โดนแมลงกัดหรือต่อย หรือโดนพิษแมงกะพรุน
  • มีผื่น หรือผื่นแพ้สารเคมีบางชนิด
  • ภูมิแพ้ขึ้นตา
  • ผิวไหม้แดด
  • เอ็นอักเสบในระยะแรก
  • กล้ามเนื้อหรือข้อต่อได้รับบาดเจ็บอย่างอาการตึงหรือเคล็ดในระยะแรก
  • อาการปวดจากโรคเก๊าท์
  • ริดสีดวงทวาร

ทั้งนี้ การประคบเย็นทุกประเภทสามารถใช้ได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ควรระวังเป็นพิเศษเมื่อใช้ถุงน้ำแข็งกับทารก เพราะทารกไม่สามารถทนต่ออุณหภูมิที่เย็นจัดหรือเย็นเกินไปได้ ทั้งยังไม่สามารถสื่อสารบอกความรู้สึกได้ จึงควรเลือกใช้วิธีประคบเย็นอื่น ๆ อย่างการใช้ผ้าเย็นแทน

ประคบเย็น ทำอย่างไร ?

การประคบเย็นมีวิธีที่แตกต่างกันไปตามประเภท ดังนี้

การประคบเย็นแบบแห้ง  ให้นำถุงน้ำแข็ง แพ็คน้ำแข็ง หรือขวดที่บรรจุน้ำเย็นมาห่อด้วยผ้าสะอาดก่อน แล้วจึงนำมาประคบบริเวณที่บาดเจ็บเป็นเวลาประมาณ 15-20 นาที หรือนานตามที่แพทย์สั่ง ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมถึงความถี่หรือจำนวนครั้งในการประคบเย็นอย่างเหมาะสม

การประคบเย็นแบบเปียก ล้างมือให้สะอาดแล้วนำมาสก์หรือผ้าที่จะใช้ประคบไปชุบน้ำเย็น ก่อนบิดน้ำออกให้หมาด จากนั้นจึงนำมาประคบบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บโดยตรงครั้งละ 10-15 นาที และนำผ้าสะอาดมาซับน้ำในบริเวณดังกล่าวออกก่อนล้างมือให้สะอาดอีกครั้ง ทำซ้ำให้ครบจำนวนครั้งตามคำแนะนำของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

ข้อควรระวังในการประคบเย็น

  • ควรระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อต้องประคบเย็นบริเวณดวงตา เนื่องจากดวงตาอาจได้รับอันตรายจากสารเคมีได้หากผลิตภัณฑ์ประคบเย็นรั่ว
  • ห้ามประคบน้ำแข็งกับผิวหนังโดยตรง แต่ควรห่อด้วยผ้าขนหนูไว้ และห้ามประคบนานเกิน 15-20 นาที/ครั้ง เพราะอาจทำให้ผิวไหม้จากความเย็น (Frostbite) หรือเกิดอาการบาดเจ็บอื่น ๆ ได้
  • ห้ามนอนหลับขณะที่ประคบน้ำแข็งอยู่
  • ไม่ควรประคบเย็นในอาการบาดเจ็บที่รุนแรงมาก เพราะร่างกายอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงมากเกินกว่าที่ความเย็นจะช่วยบรรเทาอาการได้
  • ประคบเย็นด้วยความระมัดระวังอย่างสูงในบริเวณที่ผิวหนังมีความสามารถในการรับความรู้สึกลดลง อันเป็นผลมาจากความผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลายจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคเรย์นอด (Raynaud's Disease) เป็นต้น