คุณผู้หญิงหลายคนอาจเคยเจอปัญหาประจำเดือนขาดกันมาบ้างแล้ว ซึ่งปัญหานี้อาจสร้างความกังวลและความเครียดไม่น้อย เพราะนอกจากการตั้งครรภ์แล้ว ประจำเดือนไม่มาอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วภาวะนี้ไม่เป็นอันตรายและจะหายไปได้เองหลังจากรักษาที่สาเหตุแล้ว
ประจำเดือนขาด เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ภาวะประจำเดือนขาดหรือ Amenorrhea มีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรก คือ มีอายุถึงวัยที่ต้องมีประจำเดือนแล้ว แต่จนกระทั่งอายุ 15 ปี ประจำเดือนก็ยังไม่มาอย่างที่ควรจะเป็น หรือประจำเดือนไม่มาเพราะไม่มีพัฒนาการทางเพศขั้นที่ 2 ซึ่งเป็นพัฒนาการด้านที่ทำให้มีลักษณะทางเพศหญิงและเพศชายอย่างสมบูรณ์ และอีกประเภทหนึ่ง คือ เคยมีประจำเดือนตามปกติ แต่เพราะสาเหตุบางอย่างทำให้ประจำเดือนขาดหายไปเป็นระยะเวลา 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งการขาดประจำเดือนประเภทนี้จะพบได้บ่อยกว่าประเภทแรก
ทั้งนี้ ภาวะประจำเดือนขาดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เกิดจากปัญหาสุขภาพบางประการ เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง ดังนี้
- เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ บางครั้งสาเหตุของภาวะประจำเดือนขาดก็มาจากเรื่องปกติทั่วไปอย่างการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบมากที่สุด หรือการให้นมบุตร รวมถึงการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือที่เรียกว่าวัยทองก็ทำให้ประจำเดือนขาดได้เช่นกัน
- เกิดจากพฤติกรรมบางอย่าง ผลจากพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวันก็อาจทำให้ประจำเดือนขาดได้ เช่น ออกกำลังกายอย่างหักโหม มีน้ำหนักตัวน้อยเกินไปหรือมากเกินไป มีความเครียดจากการทำงาน เป็นต้น
- เกิดจากความผิดปกติภายในร่างกาย เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เกิดเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง มีภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ท้องนอกมดลูก อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์ผิดปกติ รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด หรือป่วยเป็นวัณโรค โรคตับ โรคเบาหวาน โรคทางพันธุกรรม โรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ โรคซึมเศร้า เป็นต้น
- เป็นผลข้างเคียงของโรคหรือการรักษาบางประเภท ผลข้างเคียงจากโรคบางอย่าง การใช้ยาบางชนิด หรือการรักษาโรคด้วยวิธีการบางประเภท อาจทำให้เกิดภาวะประจำเดือนขาดได้ เช่น การรับประทานยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนคุมกำเนิดรูปแบบต่าง ๆ การรับประทานยาควบคุมความดันเลือด ยาแก้แพ้ ยาต้านเศร้า ยาจิตเวช และการฉายแสงหรือการทำเคมีบำบัด เป็นต้น
ทำอย่างไรเมื่อประจำเดือนขาด ?
เนื่องจากอาการประจำเดือนขาดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ การรักษาจึงทำได้หลายรูปแบบแตกต่างกันไป แต่บางครั้งภาวะประจำเดือนขาดก็ไม่เป็นอันตรายและไม่จำเป็นต้องรักษา เช่น การหมดประจำเดือนเมื่อถึงวัยทอง และการตั้งครรภ์ เป็นต้น
แต่หากประจำเดือนขาดเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ อาจลองใช้วิธีการต่าง ๆ ที่อาจช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติ ดังนี้
- ออกกำลังกายอย่างพอดี ไม่หักโหมจนเกินไป โดยอาจปรึกษาแพทย์หรือเทรนเนอร์เพื่อวางแผนออกกำลังกายอย่างเหมาะสมกับตนเอง
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เพราะการมีน้ำหนักตัวน้อยเกินไปหรือมากเกินไปก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะประจำเดือนขาดได้เช่นเดียวกัน อีกทั้งการมีน้ำหนักตัวมากเกินไปยังทำให้เสี่ยงต่อโรคร้ายอื่น ๆ อีกด้วย จึงควรรับประทานแต่พอดีเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีและมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- หาวิธีผ่อนคลายความเครียด โดยหากิจกรรมต่าง ๆ ทำ อย่างไปออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง คุยกับเพื่อน ฝึกสมาธิ พักผ่อนให้เพียงพอ หรือวิธีการอื่น ๆ ที่ช่วยทำให้หายเครียด
- ใช้ยาบางชนิดที่สามารถรักษาภาวะประจำเดือนขาดได้ เช่น ยาคุมกำเนิด หรือยาฮอร์โมนชนิดอื่น ๆ เป็นต้น แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้ดีก่อนเสมอ ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย นอกจากนี้ ไม่ควรซื้อยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรที่โฆษณาสรรพคุณว่าสามารถทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติได้มาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
หากทำทุกวิธีข้างต้นแล้วประจำเดือนยังไม่มาตามปกติ ภาวะประจำเดือนขาดอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่สามารถหายเองได้ ดังนั้น ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่ชัดและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป