ประจำเดือนหลังคลอด คือ ภาวะการมีประจำเดือนครั้งแรกหลังคลอดบุตร โดยทั่วไปแล้ว ผู้ตั้งครรภ์จะพบความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทางร่างกายเมื่อเริ่มอุ้มท้อง ซึ่งรวมไปถึงประจำเดือนไม่มา เมื่อคลอดทารกแล้ว ร่างกายจะเริ่มปรับตัวให้มีประจำเดือนอีกครั้ง โดยแต่ละคนจะมีประจำเดือนหลังคลอดแตกต่างไปกันไปตามเงื่อนไขของภาวะสุขภาพ อีกทั้งการมีประจำเดือนหลังคลอดบุตรยังต่างจากการมีประจำเดือนก่อนตั้งครรภ์ดังจะกล่าวต่อไป
เริ่มมีประจำเดือนหลังคลอดเมื่อไหร่ ?
ผู้ตั้งครรภ์ที่คลอดบุตรแล้วจะกลับมามีประจำเดือนหลังคลอดแตกต่างกันไป ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ ผู้ที่ไม่ให้นมบุตรหรือให้นมบุตรร่วมกับนมชง และผู้ที่ให้นมบุตรอย่างเดียว ดังนี้
- ผู้ที่ไม่ให้นมบุตรหรือให้นมบุตรร่วมกับนมชง โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่ไม่ได้ให้นมบุตรเองหรือให้นมบุตรสลับกับให้ดื่มนมชงนั้น จะกลับมามีประจำเดือนหลังคลอดบุตรไปแล้วประมาณ 6-8 สัปดาห์ หากประจำเดือนยังไม่มาภายใน 3 เดือน ควรพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา โดยแพทย์จะตรวจร่างกาย เพื่อดูว่าประสบภาวะขาดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ ตั้งครรภ์ หรือเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ หรือไม่
- ผู้ที่ให้นมบุตรอย่างเดียว การให้นมบุตรนับเป็นปัจจัยของการมีประจำเดือนหลังคลอด โดยผู้ที่ให้ทารกดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียวบางรายจะไม่มีประจำเดือนตลอดช่วงที่ให้นมบุตร ส่วนผู้ที่ให้นมบุตรรายอื่นอาจมีประจำเดือนมาช้า เนื่องจากโพรแลคติน (Prolactin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำหรับผลิตน้ำนมแม่มีฤทธิ์ยับยั้งฮอร์โมนสืบพันธุ์ ส่งผลให้ร่างกายไม่ตกไข่ออกมา ทั้งนี้ ปริมาณการให้นมบุตรส่งผลต่อการกลับมามีประจำเดือน กล่าวคือ ผู้ที่ให้นมบุตรน้อยลงอาจกลับมามีประจำเดือนได้เร็วขึ้น หากได้รับประทานอาหารเสริมร่วมกับอาหารหลักอย่างเพียงพอ ก็มีแนวโน้มที่จะกลับมามีประจำเดือนเร็วกว่า 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม ร่างกายอาจไม่ได้หยุดการตกไข่ขณะที่ให้นมบุตรเสมอไป ผู้ที่ให้นมบุตรบางรายอาจกลับมามีประจำเดือนหลังคลอดบุตรไปแล้ว 1 เดือน ในขณะที่ผู้ให้นมบุตรบางส่วนที่รับประทานอาหารหลักและอาหารเสริมอย่างเพียงพออาจมีประจำเดือนมาช้าหลายเดือนได้
รู้ได้อย่างไรว่ามีประจำเดือนหลังคลอด ?
ผู้ตั้งครรภ์ที่คลอดบุตรแล้วจะกลับมามีประจำเดือนได้อีกครั้ง ขึ้นอยู่กับการให้นมบุตรตามที่กล่าวไปข้างต้น โดยอาการประจำเดือนหลังคลอด มีดังนี้
- มีเลือดออกเป็นจุด ผู้ที่ให้นมบุตรน้อยลงจะเริ่มกลับมามีประจำเดือน โดยจะมีเลือดประจำเดือนออกมาเป็นจุดเล็ก ๆ และไม่สม่ำเสมอ
- มีลิ่มเลือด ผู้ที่มีประจำเดือนหลังคลอดหลายรายมักมีลิ่มเลือดออกมา โดยลิ่มเลือดนั้นอาจเกิดจากการฟื้นฟูซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกาย ไม่ใช่สาเหตุของปัญหาสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีลิ่มเลือดออกมากับเลือดประจำเดือนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หรือประจำเดือนมามากกว่าที่เคยเป็น ควรพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา
- ตกไข่และตั้งครรภ์ได้ ผู้ที่คลอดบุตรแล้วอาจตั้งครรภ์ได้อีกแม้ประจำเดือนจะยังไม่มา เนื่องจากร่างกายจะตกไข่ออกมาก่อนประจำเดือนมาประมาณ 2 สัปดาห์โดยที่อาจไม่รู้ตัว จึงควรคุมกำเนิดทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะมีประจำเดือนหลังคลอดแล้วหรือไม่ก็ตาม
- มีตกขาว โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่คลอดบุตรมักมีเลือดหรือตกขาวออกมาจากช่องคลอด เนื่องจากร่างกายต้องขับเลือดและเนื้อเยื่อที่ตกค้างภายในมดลูกระหว่างตั้งครรภ์ออกไป ผู้ที่คลอดบุตรอาจมีเลือดและลิ่มเลือดออกมามากในช่วงสัปดาห์แรก ผู้ที่ไม่ได้ให้นมบุตรอาจมีน้ำคาวปลาหรือตกขาวออกมาเป็นเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่จะกลับมามีประจำเดือนอีกครั้ง โดยจะเริ่มมีเลือดประจำเดือนปนมากับน้ำคาวปลาเมื่อประจำเดือนใกล้มา
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่คลอดบุตรแล้วอาจประสบภาวะเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาทันทีในกรณีที่พบว่ามีเลือดประจำเดือนมากกว่าปกติจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยชั่วโมงละหลายชิ้น เกิดอาการปวดท้องกะทันหันอย่างรุนแรง เป็นไข้เฉียบพลัน และมีประจำเดือนนานกว่า 7 วัน
ประจำเดือนหลังคลอดแตกต่างจากประจำเดือนทั่วไปอย่างไร ?
ผู้ตั้งครรภ์ที่คลอดบุตรแล้วจะกลับมามีประจำเดือนอีกครั้งในช่วงเวลาที่แตกต่างกันไปตามภาวะสุขภาพ โดยอาจปรากฏอาการบางอย่างที่ต่างจากการมีประจำเดือนก่อนตั้งครรภ์ก่อนที่จะค่อย ๆ กลับมาเป็นปกติ เนื่องจากร่างกายต้องปรับระบบการทำงานของรอบเดือนอีกครั้ง ส่งผลให้มีอาการของประจำเดือนหลังคลอดที่ต่างไปจากเดิมบ้าง ดังนี้
- รู้สึกปวดบีบที่ท้องน้อยมากกว่าหรือน้อยกว่าที่เคยเป็น
- มีลิ่มเลือดเล็ก ๆ ปนมากับเลือดประจำเดือน
- ประจำเดือนมามาก
- ประจำเดือนมาไม่ปกติบ้าง
- มีเลือดประจำเดือนออกมากะปริบกะปรอย
เมื่อมีประจำเดือนหลังคลอดควรทำอย่างไร ?
ผู้ที่คลอดบุตรด้วยวิธีธรรมชาติและมีประจำเดือนหลังคลอดทันทีนั้น ควรเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดในช่วงแรกของการมีประจำเดือน เนื่องจากต้องฟื้นฟูอวัยวะภายในร่างกายก่อน การสอดผ้าอนามัยสำหรับซับเลือดประจำเดือนจะทำให้เกิดการกระทบกระเทือนต่ออวัยวะดังกล่าวได้ โดยแพทย์จะพิจารณาว่าจะกลับไปใช้ผ้าอนามัยแบบสอดหลังคลอดบุตรไปแล้วประมาณ 6 สัปดาห์ได้หรือไม่
นอกจากนี้ ผู้ที่ยังไม่มีประจำเดือนหลังคลอดอันเนื่องมาจากการให้นมบุตรนั้น ก็ควรคุมกำเนิดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง โดยปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการคุมกำเนิดวิธีต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับตนเอง เนื่องจากการให้นมบุตรไม่ได้ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะผู้ที่กลับมามีประจำเดือนอีกครั้งระหว่างที่ให้นมบุตร