ประจำเดือนเลื่อน หรือภาวะที่ประจำเดือนมาเร็วกว่า 21 วัน หรือช้ากว่า 35 วันเมื่อนับจากรอบเดือนล่าสุด เป็นภาวะที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยภาวะนี้สามารถเกิดได้กับผู้หญิงทุกคน แต่อาจจะพบได้มากในเด็กผู้หญิงที่เพิ่งเริ่มมีประจำเดือน และผู้หญิงที่ใกล้เข้าสู่ช่วงวัยทอง
โดยปกติ ระยะห่างระหว่างประจำเดือนแต่ละรอบจะอยู่ที่ประมาณ 28 วัน ซึ่งในบางครั้งอาจเร็วหรือช้ากว่านั้นได้เล็กน้อย แต่มักจะอยู่ในช่วง 21–35 วัน โดยสำหรับผู้ที่พบว่ามีภาวะประจำเดือนเลื่อน ในบางครั้งภาวะนี้ก็อาจไม่ใช่ปัญหาอะไร หากไม่ได้เกิดเป็นประจำหรือไม่มีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ร่วมด้วย แต่ในบางครั้ง ภาวะนี้ก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาทางสุขภาพได้เช่นกัน
8 ตัวอย่างสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ของภาวะประจำเดือนเลื่อน
ภาวะประจำเดือนเลื่อนสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยตัวอย่างสาเหตุที่มักพบได้ เช่น
1. ร่ายกายเริ่มถึงวัยที่เริ่มมีประจำเดือน
ในช่วงที่ร่างกายเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก หรือประมาณช่วงอายุ 13 ปี ประจำเดือนในช่วงนี้มักมีการคลาดเคลื่อนได้จากการที่ระดับฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง
2. เริ่มเข้าสู่ช่วงวัยใกล้หมดประจำเดือน
ผู้ที่อยู่ในช่วงวัยใกล้หมดประจำเดือน (Perimenopause) หรือช่วงอายุประมาณ 45–50 ปี มักพบว่าประจำเดือนเลื่อนบ่อย ๆ เนื่องจากระดับฮอร์โมนในร่างกายช่วงนี้มักเกิดการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก
3. กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (Polycystic Ovary Syndrome: PCOS)
กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่ระดับฮอร์โมนในร่างกายขาดความสมดุล จนส่งผลให้กระบวนการตกไข่ทำงานผิดปกติไป ซึ่งเมื่อกระบวนการตกไข่เกิดความผิดปกติ ประจำเดือนก็อาจจะมาช้าผิดปกติ หรือบางคนอาจพบว่าประจำเดือนไม่มาก็ได้
นอกจาก อาการประจำเดือนเลื่อนแล้ว ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักพบอาการผิดปกติอื่นในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย เช่น มีสิวขึ้น มีขนขึ้นตามร่างกายหรือใบหน้ามากผิดปกติ ผมร่วง และน้ำหนักเพิ่มผิดปกติ
4. การใช้ยาคุมกำเนิด
ผู้ที่กำลังใช้ยาคุมกำเนิดที่มีเอสโตรเจน (Estrogen) โปรเจสติน (Progestin) เป็นส่วนผสมอาจพบภาวะประจำเดือนเลื่อนได้ เนื่องจากยาชนิดนี้อาจไปยับยั้งการตกไข่ของร่างกาย โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักพบว่าประจำเดือนจะเริ่มกลับมาเป็นปกติหลังจากหยุดใช้ยาไปประมาณ 3 เดือน
5. ต่อมไทรอยด์มีปัญหา
ผู้ที่ต่อมไทรอยด์มีปัญหาจากโรคหรือภาวะผิดปกติต่าง ๆ เช่น ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) หรือภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะประจำเดือนเลื่อนได้ เนื่องจากต่อมไทรอยด์เป็นต่อมที่คอยผลิตฮอร์โมนหลายชนิดที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการมีประจำเดือนของผู้หญิง
โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้ยังอาจพบอาการอื่นในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย เช่น ใจสั่น น้ำหนักตัวเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก มือสั่น นอนไม่หลับ และอ่อนเพลีย
6. การออกกำลังกายอย่างหนัก
แม้การออกกำลังกายจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่การออกกำลังกายที่หนักจนเกินไปร่วมกับการรับประทานอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกายไม่เพียงพอก็อาจส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนบางชนิดที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการตกไข่ไม่เพียงพอ ซึ่งก็จะนำไปสู่ปัญหาประจำเดือนเลื่อนในภายหลังได้
7. เกิดการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวอย่างฉับพลัน
การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวอย่างฉับพลัน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มหรือการลด อาจส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายเสียสมดุล จนนำไปสู่ปัญหาประจำเดือนช้าหรือประจำเดือนไม่มาเลยได้
8. ความเครียด
นอกจากปัญหาทางด้านร่างกายแล้ว ปัญหาทางด้านสภาวะจิตใจอย่างความเครียดก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะประจำเดือนเลื่อนได้เช่นกัน เนื่องจากเมื่อร่างกายเกิดความเครียด ระดับฮอร์โมนในร่างกายก็อาจเกิดการเสียสมดุลได้
ทั้งนี้ นอกจากตัวอย่างสาเหตุที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ปัญหาประจำเดือนเลื่อนยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์ ภาวะเบาหวาน โรคเซลิแอค (Celiac Disease) โรครังไข่หยุดทำงานก่อนกำหนด (Primary Ovarian Insufficiency) ภาวะอ้วน หรือการมีน้ำหนักตัวที่ต่ำจนเกินไป
ประจำเดือนเลื่อน สัญญาณแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์
โดยส่วนใหญ่ ผู้ที่มีประจำเดือนเลื่อนเพียงไม่กี่วันมักไม่เป็นอันตรายใด ๆ แต่ผู้ที่มีปัญหานี้ก็ควรจะหมั่นสังเกตอาการผิดปกติอื่น ๆ และระยะเวลารอบเดือนตัวเองเสมอ
แต่สำหรับผู้ที่พบว่า ภาวะประจำเดือนเลื่อนเกิดขึ้นบ่อย ๆ การไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากภาวะนี้อาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติแท้ง ผู้ที่เข้าสู่ช่วงวัยทองไปแล้วนานเกิน 1 ปี และผู้ที่มีอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ ได้แก่ ปวดรุนแรง มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ประจำเดือนมามากหรือนานเกิน 7 วัน