ประจำเดือน มาปกติหรือมาไม่ปกติเป็นแบบไหน

ประจำเดือนหรือรอบเดือน คือเลือดที่ไหลออกมาจากช่องคลอดผู้หญิงในแต่ละเดือนอันเป็นผลมาจากการตกไข่ที่ไม่ได้รับการผสม ปกติแล้วรอบการมาของประจำเดือนจะเกิดขึ้นในช่วง 21–35 วัน อย่างไรก็ตาม แม้แต่ละเดือนจะมีรอบเดือนตามปกติ แต่อาจมีบางอาการที่เป็นสัญญาณการเจ็บป่วยที่ไม่ปกติซ่อนอยู่ เราจึงควรหมั่นสังเกตเกี่ยวกับลักษณะการมาของประจำเดือนอยู่เสมอ

ในแต่ละเดือนร่างกายของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์จะมีฮอร์โมนจากสมองควบคุมกระบวนการเกิดประจำเดือนทำให้มีการตกไข่ และมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนกับโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศ เพื่อเตรียมมดลูกให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ อย่างการสร้างเนื้อเยื่อที่ผนังมดลูกให้หนาขึ้น 

ประจำเดือน มาปกติหรือมาไม่ปกติเป็นแบบไหน

แต่หากไข่ที่ตกไม่ได้รับการปฏิสนธิกับสเปิร์มของเพศชาย เยื่อบุโพรงมดลูกที่ถูกสร้างขึ้นเหล่านี้ก็จะหลุดลอกออกและไหลออกมาจากช่องคลอดในรูปของเลือด โดยกระบวนการนี้ใช้รอบเวลาในการเกิดโดยเฉลี่ยประมาณ 28 วัน อาจมาก่อนหรือหลังเล็กน้อย โดยทั่วไปรอบประจำเดือนของผู้หญิงจึงอยู่ในช่วง 21–35 วัน

ลักษณะของประจำเดือนที่มาปกติ

ผู้หญิงจะเริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุประมาณ 12 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายกำลังมีการเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ โดยลักษณะของประจำเดือนที่มาเป็นปกติก็เช่น 

  • ช่วงเวลาที่มีประจำเดือนในแต่ละครั้ง จะอยู่ในช่วงประมาณ 3-8 วัน 
  • ประจำเดือนจะมามากที่สุดภายใน 2 วันแรก 
  • เลือดประจำเดือนอาจมีสีแดงเข้ม สีน้ำตาล หรือสีดำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ เพราะประจำเดือนที่มีสีคล้ำคือเยื่อบุโพรงมดลูกเก่าที่ถูกขับออกมาเท่านั้น

โดยทั่วไป สามารถเตรียมตัวรับมือและรู้ถึงวันที่จะมีประจำเดือนโดยคร่าว ๆ ได้ด้วยการจดบันทึกวันแรกที่ประจำเดือนมา หากประจำเดือนมาตามปกติ จะมาในวันเดียวกันของเดือนถัดไป หรืออาจคลาดเคลื่อนจากวันเดิมเพียงเล็กน้อย

ก่อนมีประจำเดือน ผู้หญิงสามารถสังเกตสัญญาณบางอย่าง ซึ่งเป็นกลุ่มอาการอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในช่วงวันที่มีการตกไข่ได้ เช่น 

  • ปวดหัว 
  • ปวดท้อง 
  • ท้องอืด
  • ท้องผูกหรือท้องเสีย 
  • ไม่มีแรง 
  • ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ 
  • เจ็บหน้าอก หน้าอกขยาย 
  • หิวง่าย อยากอาหาร รับประทานมากกว่าปกติ 
  • น้ำหนักขึ้น อารมณ์แปรปรวน 
  • ความต้องการทางเพศลดลง 

อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกคน 

ลักษณะของประจำเดือนที่มาไม่ปกติ

หลายคนอาจเคยมีช่วงเวลาที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ โดยลักษณะของประจำเดือนที่มาไม่ปกติก็เช่น

  • ประจำเดือนมามาก มาน้อย มาช้า 
  • มีอาการก่อนประจำเดือนมาที่ผิดปกติ อย่างปวดท้องมาก ปวดหัว หรือมีเลือดไหลที่ไม่ใช่เลือดประจำเดือน

อาการบางอย่างอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในช่วงมีประจำเดือน แต่อาการบางอย่างอาจเป็นสัญญาณสำคัญของโรคหรืออาการเจ็บป่วยอย่างอื่น ซึ่งควรไปปรึกษาแพทย์หากพบอาการดังต่อไปนี้

  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลียมาก แม้ทำกิจกรรมธรรมดา
  • วิงเวียนศีรษะ 
  • หน้าซีด ตัวซีด
  • มีประจำเดือนที่ผิดไปจากปกติ เช่น
    - ปวดท้องมากhกว่าปกติที่เคยเป็นในแต่ละเดือน
    - ปวดบริเวณท้องช่วงล่างลงมา
    - ประจำเดือนมานานกว่า 7 วัน
    - ประจำเดือนมาบ่อยกว่าเดือนละครั้ง
    - ประจำเดือนเป็นลิ่มเลือดหรือเป็นก้อนเลือดหนา
    - ประจำเดือนมามากจนเลอะที่นอนหรือเสื้อผ้า และต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ ทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง
    - ประจำเดือนไม่มานานกว่า 2 รอบเดือนโดยไม่ทราบสาเหตุ
    - ประจำเดือนไม่มานานกว่า 2 รอบเดือน ทั้ง ๆ ที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดอย่างถูกต้อง
    - มีเลือดไหลก่อนถึงกำหนดการมีประจำเดือน หรือหลังการมีเพศสัมพันธ์
  • อายุ 14 ปี แต่ไม่มีทรวงอกหรือขนที่อวัยวะเพศ
  • อายุ 16 ปี แต่ประจำเดือนยังไม่มา

วิธีรับมือเมื่อประจำเดือนมาไม่ปกติ

เนื่องจากสภาพร่างกายของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน กลุ่มอาการจากประจำเดือนของแต่ละคนจึงแตกต่างกัน นั่นคือเหตุผลที่บางครั้งบางอาการก็ไม่ใช่สัญญาณที่เป็นอันตรายของโรคอื่นเสมอไป และสามารถรักษาดูแลให้ดีขึ้นได้ด้วยตนเอง แต่หากอาการยังคงอยู่เช่นเดิม ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง โดยอาจสังเกตจากลักษณะดังต่อไปนี้

ช่วงเวลาที่ประจำเดือนมาเปลี่ยนแปลงไป 

ประจำเดือนมาก่อนกำหนด มาหลังกำหนด หรือจำนวนวันที่มีประจำเดือนเปลี่ยนไป อาจมาจากหลายปัจจัย วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุด้วย เช่น ความเครียด น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง และการออกกำลังกายอย่างหนักจนเกินพอดีล้วนส่งผลต่อระดับฮอร์โมนภายในร่างกาย ฮอร์โมนที่ไม่สมดุลจะกระทบต่อกระบวนการต่าง ๆ รวมทั้งการมีประจำเดือนด้วย 

ดังนั้น ปัญหาประจำเดือนที่เกี่ยวกับช่วงเวลาสามารถรักษาได้ด้วยการจัดการความเสี่ยง ดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์ เพื่อให้ระบบต่าง ๆ กลับมาทำงานได้ตามปกติ และกลับมามีประจำเดือนตามกำหนดอย่างที่ควรจะเป็น

ปวดประจำเดือนมาก 

อาการปวดท้องประจำเดือนเกิดจากการที่มดลูกขับเลือดประจำเดือนออกมา เป็นอาการปกติที่พบได้ หากรู้สึกปวดมากกว่าที่เคยเป็น ในเบื้องต้นสามารถรับประทานยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอล หรือไอบูโปรเฟน ใช้ถุงน้ำร้อนประคบ นวดเบา ๆ บริเวณท้องช่วงล่าง หรืออาบน้ำแช่น้ำอุ่นเพื่อเพิ่มความผ่อนคลาย บรรเทาอาการปวด แต่หากเวลาผ่านไปแล้วอาการยังไม่ทุเลาควรไปพบแพทย์

หากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่ามีอาการปวดมากกว่าปกติแต่ไม่ได้เป็นอาการปวดจากโรคและความผิดปกติอย่างอื่น แพทย์จะให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด ที่นอกจากจะมีผลต่อการคุมกำเนิด ยังสามารถบรรเทาอาการปวดในแต่ละเดือน และส่งผลให้ประจำเดือนมาตรงตามกำหนดได้ด้วย โดยต้องรับประทานตามวิธีการที่ถูกต้องตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น

ประจำเดือนมามากกว่าปกติ

แม้ทุกเดือนผู้หญิงต้องเสียเลือดจากการมีประจำเดือน แต่ในบางรายอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพเกินกว่าที่คิด อย่างในผู้ที่เป็นโลหิตจาง หรือผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ การเสียเลือดในปริมาณมาก ๆ อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

ยาที่มีผลรักษาอาการประจำเดือนมามากผิดปกติ ซึ่งต้องรับประทานภายใต้การดูแลของแพทย์และมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น คือ

  • ยาคุมกำเนิดทั้งแบบยาเม็ดรับประทานและยาฉีดคุมกำเนิด
  • ยากรดทรานเอกซามิก (Tranexamic acid) ที่ใช้ต้านกลไกการสลายลิ่มเลือด ลดอาการเลือดออกมาก 

ส่วนประจำเดือนที่มามากผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของเนื้องอกภายในมดลูก ควรสังเกตบันทึกอาการและความบ่อยในการเปลี่ยนผ้าอนามัยก่อนไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจทำการรักษาด้วยการจ่ายยา หรือทำการผ่าตัดเอาเนื้องอกออกมาจากมดลูกต่อไป

ประจำเดือนไม่มา

ปกติประจำเดือนอาจจะคลาดเคลื่อนจากกำหนดไม่กี่วัน แต่หากประจำเดือนขาดเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ควรใช้ชุดตรวจการตั้งครรภ์ตรวจดูผล แต่หากไม่ปรากฏการตั้งครรภ์ และประจำเดือนขาดเกินกว่า 2 เดือน อาจมีสาเหตุสำคัญทางร่างกาย ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา

ในกรณีวัยรุ่นที่ยังไม่มีประจำเดือนแม้จะมีอายุเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์แล้ว หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างหน้าอกไม่ขยายใหญ่ขึ้นหรือไม่มีขนในที่ลับ อาจเป็นสัญญาณของการเจริญเติบโตตามวัยที่ผิดปกติ ควรไปพบแพทย์และไม่ควรรับประทานยาหรือฮอร์โมนเพื่อเร่งให้มีประจำเดือนโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์

นอกเหนือจากการรักษาทางการแพทย์ การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ตามวัยเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานตามปกติ ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดสูบบุหรี่ ออกกำลังอย่างพอดี เสริมด้วยกิจกรรมสันทนาการสร้างความผ่อนคลายแก่ร่างกายและจิตใจ เช่น การเล่นโยคะหรือพิลาทิส