Cholesterol (คอเลสเตอรอล) คือไขมันชนิดหนึ่งที่พบในเลือดของมนุษย์ มีลักษณะเป็นไขคล้ายขี้ผึ้ง ส่วนใหญ่ผลิตออกมาจากตับ และมีบางส่วนได้จากอาหารที่รับประทานเข้าไป แม้คอเลสเตอรอลจะมีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย ทว่าหากมีมากเกินไปก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
คอเลสเตอรอลในร่างกายของคนเรามีทั้งหมด 2 ชนิด คือ
- คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low-Density Lipoproteins: LDL) เป็นคอเลสเตอรอลที่หากมีปริมาณมากจะให้โทษต่อร่างกาย และเป็นสาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง รวมทั้งปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ
-
คอเลสเตอรรอลชนิดดี (High-Density Lipoproteins: HDL) เป็นคอเลสเตอรอลที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำหน้าที่กำจัดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีออกจากหลอดเลือด และช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ หากร่างกายมีคอเลสเตอรอลชนิดนี้น้อยเกินไป อาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคหัวใจมากขึ้นได้เช่นกัน
คอเลสเตอรอลทั้ง 2 ชนิดนี้ เมื่อรวมกับไขมันชนิดอื่น ๆ จะเรียกว่าคอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol) ซึ่งระดับของคอเลสเตอรอลชนิดดีและชนิดไม่ดีนั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก หากมีมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย โดยเฉพาะคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีซึ่งจะรวมตัวกับสารชนิดอื่นกลายเป็นคราบสะสมเกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือดแดงจนส่งผลให้เกิดการตีบตันได้
ระดับคอเลสเตอรอลที่ดีควรเป็นอย่างไร ?
ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจ เพราะจะช่วยระบุว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือไม่ และมีความเสี่ยงในระดับใด โดยเกณฑ์มาตรฐานของระดับคอเลสเตอรอลที่ควรมีในร่างกาย มีดังนี้
ระดับคอเลสเตอรอลรวม
- ปกติ น้อยกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- สูงเล็กน้อย 200-239 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- สูง มากกว่า 240 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
ระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี
- ปกติ น้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ใกล้เคียงปกติ 100-129 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- สูงเล็กน้อย 130-159 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- สูง 160-189 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
-
สูงมาก มากกว่า 190 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี
- ต่ำ น้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- สูง มากกว่า 60 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
ระดับคอเลสเตอรอลบอกอะไรได้บ้าง ?
ปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกายบ่งบอกถึงสุขภาพและความเสี่ยงของแต่ละคนได้ ซึ่งปกติแล้วจะประเมินจากระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีเป็นหลัก เนื่องจากคอเลสเตอรอลชนิดนี้ส่งผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือดที่มีสาเหตุสำคัญจากการอุดตันของหลอดเลือด ส่วนระดับของคอเลสเตอรอลรวมนั้นไม่อาจบอกถึงภาวะสุขภาพได้ชัดเจนนัก เพราะระดับคอเลสเตอรอลที่สูงอาจเกิดจากการมีคอเลสเตอรอลชนิดดีสูงก็ได้
ปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับคอเลสเตอรอล
ระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 2 ประการ ได้แก่
ปัจจัยที่ควบคุมได้ เป็นผลจากพฤติกรรมการใช้ชีิวิตที่ทำให้ความเสี่ยงสุขภาพเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ อาทิ
- อาหาร การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัวซึ่งเป็นตัวการหลัก
- น้ำหนักตัว ผู้มีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนนั้นมีความแนวโน้มที่จะมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีสูงกว่าปกติ
- กิจกรรมทางกาย การเคลื่อนไหวน้อยจะส่งผลให้ร่างกายเผาผลาญคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีได้น้อยลง
ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติและไม่สามารถควบคุมได้ เช่น
- อายุและเพศ การควบคุมปริมาณคอเลสเตอรอลจะน้อยลงตามการเสื่อมถอยของร่างกาย โดยเฉพาะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีแนวโน้มจะมีระดับคอเลสเตอรอลเพิ่มสูงกว่าเพศชายในช่วงอายุเดียวกัน
- พันธุกรรรม ในแต่ละครอบครัวอาจมียีนที่ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลแตกต่างกัน รวมถึงโรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะคอเลสเตอรอลสูงได้
ผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากระดับคอเลสเตอรอล
หากร่างกายมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีที่สูงมากติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ อาจสร้างความเสียหายต่อหลอดเลือดและส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น
- โรคหลอดเลือดแดงแข็ง เกิดจากการที่คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีรวมตัวกับสารชนิดอื่น ๆ ในกระแสเลือดกลายเป็นคราบสะสมภายในหลอดเลือดแดง เมื่อมีมากขึ้นจะทำให้ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดแดงลดลงและสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ไม่ดี ส่งผลให้หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือด ยิ่งนานวันอาจก่อให้เกิดโรคหัวใจได้
- ภาวะหัวใจขาดเลือด เป็นผลมาจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง มักเกิดขึ้นร่วมกับการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจ ถือเป็นภาวะอันตราย เพราะเมื่อหัวใจขาดเลือดและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายในที่สุด
- โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน เป็นภาวะที่หลอดเลือดอุดตันจนเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ไม่สะดวก เช่น บริเวณแขน ขา ท้อง และเท้า ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บขาหรือขาชาขณะเดิน
- โรคหลอดเลือดสมอง นอกจากการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจแล้ว คราบสะสมที่เกิดจากคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดียังส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอและเกิดโรคนี้ตามมาได้
- โรคอัลไซเมอร์ เมื่อการไหลเวียนของเลือดไปยังสมองถูกขัดขวาง จะส่งผลให้สมองเกิดความเสียหายทั้งในส่วนของความทรงจำ การเคลื่อนไหว หรือระบบการทำงานอื่น ๆ นอกจากนี้ ระดับคอเลสเตอรอลที่สูงยังเป็นตัวเร่งการก่อตัวของเบต้าอะมีลอยด์ ซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างความเสียหายต่อสมองของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย
- นิ่วในถุงน้ำดี คอเลสเตอรอล เป็นส่วนสำคัญในการผลิตน้ำดี ทว่าหากมีมากเกินไปจะทำให้เกิดการตกค้างและก่อตัวกลายเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้
ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลได้อย่างไรบ้าง ?
ระดับคอเลสเตอรอลควบคุมได้หลายวิธีเพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการรับประทานไขมันอิ่มตัวหรือไขมันทรานส์ และหันมารับประทานไขมันที่ดีอย่างไขมันโอเมก้า 3 ทั้งยังควรรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เพราะจะช่วยให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีลดลงได้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเป็นประจำช่วยให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีเพิ่มขึ้นและลดปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีได้ โดยการออกกำลังกายที่เหมาะสมควรทำอย่างน้อยวันละ 30 นาที
- เลิกสูบบุหรี่ เป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้ที่สูบบุหรี่มีระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังส่งผลดีกับสุขภาพ
- ลดน้ำหนัก น้ำหนักตัวที่มากขึ้นทำให้ระดับคอเลสเตอรอลสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น การลดน้ำหนักจึงสำคัญต่อคนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน เพราะจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ทั้งยังส่งผลดีต่อสุขภาพในอีกหลาย ๆ ด้าน
-
ดื่มแอลกอฮอล์อย่างพอเหมาะ การดื่มแอลกอฮอล์แต่พอดีจะช่วยให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีเพิ่มขึ้น โดยปริมาณที่เหมาะสมสำหรับผู้หญิงทุกวัยและผู้ชายอายุมากกว่า 65 ปี คือวันละ 1 แก้ว ส่วนผู้ชายที่มีอายุไม่เกิน 65 ปี ดื่มได้วันละ 2 แก้ว
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนอาจใช้วิธีข้างต้นควบคุมระดับคอเลสเตอรอลเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องใช้ยาร่วมด้วย เพื่อช่วยให้ระดับคอเลสเตอรอลลดลงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแพทย์จะเป็นผู้สั่งจ่ายยาที่เหมาะสมให้ผู้ป่วย และหากผู้ป่วยปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตไปในทางที่ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ปรับลดปริมาณยาลงตามความเหมาะสม