นั่งสมาธิ หรือการทำสมาธิ คือการฝึกปฏิบัติที่ใช้ความตั้งมั่น จดจ่อ และแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติเกิดความสงบ เกิดความรู้สึกตัวหรือมีสติในการใช้ชีวิตมากขึ้น
การทำสมาธินั้นปฏิบัติกันมานานนับพันปี โดยแรกเริ่มจะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันทางศาสนา ตามหลักคำสอนหรือความเชื่อของแต่ละศาสนา ซึ่งปัจจุบันการทำสมาธินั้นแพร่หลายไปทั่วโลก โดยนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน เช่น ลดความเครียด หรือช่วยผ่อนคลายทั้งกายและใจ รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนและการการทำงาน
วิธีที่จะทำให้เกิดสมาธิมีอะไรบ้าง?
การทำสมาธิ หรือวิธีการผ่อนคลายที่มีการทำสมาธิเป็นส่วนประกอบมีหลายวิธี โดยทุกวิธีจะมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความสงบและความสันติสุขภายในจิตใจ
วิธีที่ทำเพื่อให้เกิดสมาธิมีหลายวิธี ได้แก่
- วิธีทำสมาธิด้วยมโนภาพ (Guided Meditation) หรือการสร้างมโนภาพ (Visualization) เป็นวิธีที่จะให้ผู้ปฏิบัตินึกภาพหรือสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความผ่อนคลาย โดยอาจใช้สิ่งกระตุ้นประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่น กลิ่น ภาพ สัมผัสและเสียงประกอบ ซึ่งอาจมีผู้สอนหรือผู้ที่ชำนาญนำการปฏิบัติ
- มันตราสมาธิบำบัดหรือการสวดมนต์ (Mantra Meditation) เป็นวิธีที่จะให้ผู้ปฏิบัติท่องบทสวด วลี หรือคำ ซ้ำ ๆ เสมือนเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความคิดที่ฟุ้งซ่านหรือกวนใจ และทำให้เกิดสมาธิ
- การฝึกสติหรือการเจริญสติ (Mindfulness Meditation) เป็นวิธีฝึกทำสมาธิเพื่อให้เกิดสติ หรือมีความรู้สึกตัวและอยู่กับปัจจุบันขณะ ซึ่งผู้ปฏิบัติจะได้ฝึกให้ตนเองเกิดสติหรือรู้สึกตัวทั่วพร้อม ด้วยการสังเกตและจดจ่ออยู่กับอาการทางร่างกายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำสมาธิ เช่น ลมหายใจที่ผ่านปลายจมูก รวมไปถึงความคิดและอารมณ์ โดยวางใจเป็นกลาง เพียงแค่รับรู้และปล่อยวาง
- ชี่กง (Qi gong) คือ วิธีฝึกฝนของชาวจีนที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เป็นวิธีการฝึกที่ผสมผสานระหว่างการทำสมาธิ การผ่อนคลาย การเคลื่อนไหวของร่างกาย และการหายใจประกอบกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาและฟื้นฟูให้ร่างกายกายและจิตใจเกิดความสมดุล
- ไทชิ (Tai chi) ศิลปะการต่อสู้ของจีน เป็นการฝึกฝนด้วยท่วงท่าที่มีการเคลื่อนไหวช้า ๆ นุ่มนวลและสง่างามพร้อมกับฝึกการหายใจ
- การฝึกสมาธิแบบ Transcendental Meditation หรือ TM เป็นการฝึกทำสมาธิด้วยการท่องคำหรือวลีที่ได้รับจากผู้สอน ซึ่งการฝึกวิธีนี้จะช่วยให้ร่างกายได้ปรับเข้าสู่สภาวะของการพักผ่อนอย่างเต็มที่ และช่วยให้จิตใจเกิดความสงบ โดยที่ไม่ต้องใช้ความพยายามหรือความเข้มข้นในการฝึกมาก
- โยคะ (Yoga) เป็นการฝึกชุดท่าท่างพร้อมกับฝึกการหายใจ เป็นวิธีปฏิบัติที่จะช่วยให้ร่างกายเกิดความยืดหยุ่นและแข็งแรง และช่วยให้ใจสงบและเกิดสมาธิ
องค์ประกอบสำคัญในการทำสมาธิ
วิธีการทำสมาธิแต่ละประเภทอาจต้องใช้คุณสมบัติที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับผู้ฝึกสอน โดยองค์ประกอบสำคัญในการทำสมาธิ ได้แก่
- การมุ่งเน้นความสนใจหรือการจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
- การหายใจด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย
- การเลือกสถานที่ที่มีความเงียบสงบ
- อยู่ในท่าทางที่สบายและเหมาะสม
- ทำใจให้เปิดกว้างและปล่อยวาง
วิธีการทำสมาธิอย่างง่ายสำหรับผู้เริ่มต้น
- ขั้นแรกควรหาสถานที่ที่เงียบสงบ และไม่มีสิ่งรบกวน ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ โทรศัพท์ เพื่อน หรือคนในครอบครัว
- มีวิธีที่ทำให้เกิดสมาธิให้เลือกปฏิบัติได้มากมาย เช่น การสวด นั่งสมาธิ หรือฝึกการหายใจ ซึ่งผู้ปฏิบัติสามารถเลือกวิธีที่ตนเองรู้สึกถนัดและสบายที่สุด
- ควรปฏิบัติเป็นประจำครั้งละ 20-30 นาที ซึ่งผู้ที่เริ่มต้นปฏิบัติใหม่ ๆ อาจจะรู้สึกว่าทำได้ยาก และอาจยังไม่ทำให้เกิดสมาธิ แต่หากทำเป็นประจำก็จะช่วยให้ง่ายขึ้นได้
- เมื่อปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและเกิดผลก็จะช่วยให้จิตใจมีความสงบและเกิดความสุขใจได้ในที่สุด
ประโยชน์ของการทำสมาธิ
การทำสมาธิกับการรักษาโรค
การทำสมาธินอกจากจะเป็นการฝึกฝนจิตใจให้เกิดความสงบสุขแแล้ว ยังมีประโยชน์ในการช่วยบรรเทาโรคหรือภาวะทางร่างกายบางชนิดได้ โดยเฉพาะโรคที่ทรุดลงด้วยความเครียด ซึ่งปัจจุบันก็มีการศึกษาวิจัยถึงประโยชน์ของการนั่งสมาธิที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในทางกลับกันก็มีนักวิจัยบางคนที่ยังไม่ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับประโยชน์ของการทำสมาธิ
แต่อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยบางส่วนพบว่า การทำสมาธิอาจมีส่วนช่วยจัดการกับอาการหรือโรคบางชนิดได้
การทำสมาธิอาจมีส่วนช่วยบรรเทาโรคหรือภาวะต่าง ๆ เช่น
- ความวิตกกังวล
- ภาวะซึมเศร้า
- พฤติกรรมการเสพติด เช่น ติดยา นิโคติน หรือแอลกอฮอล์
- บรรเทาความเจ็บปวด
- อาการร้อนวูบวาบตามร่างกาย (Hot flashes) ของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
- โรคหืด
- โรคมะเร็ง
- อาการปวดเรื้อรัง
- โรคหัวใจ
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคลำไส้แปรปรวน
- ปัญหาการนอนหลับ
- อาการปวดศีรษะจากความเครียด
การทำสมาธิกับสุขภาวะทางอารมณ์ (Emotional well-being)
การทำสมาธิมีส่วนช่วยให้ภาวะทางอารมณ์ดีขึ้น เช่น
- ช่วยให้มีทัศนคติใหม่ ๆ ที่ดีขึ้น เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด
- เพิ่มความสามารถในการรับมือกับความเครียด
- ช่วยให้เกิดการรู้จักตนเอง
- ช่วยมุ่งความสนใจให้อยู่กับปัจจุบัน
- ลดอารมณ์หรือความคิดในแง่ลบ
- ช่วยเพิ่มจินตนาการและความคิดที่สร้างสรรค์
- เพิ่มความอดทนอดกลั้น
- เพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้และการทำงาน
เนื่องจากการทำสมาธิอาจทำให้อาการที่เกี่ยวข้องกับทางด้านร่างกายและจิตใจแย่ลงได้ในบางราย ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาถึงข้อดีและข้อเสียของการทำสมาธิในการรักษาโรคนั้น ๆ อย่างรอบคอบ นอกจากนั้น ควรตระหนักว่าการทำสมาธิไม่ใช่วิธีที่จะนำมาใช้ในการรักษาเพื่อทดแทนการรักษาทางการแพทย์ แต่เป็นเพียงวิธีที่อาจนำมาช่วยในการรักษาเพิ่มเติมเท่านั้น
การทำสมาธิมีความปลอดภัยหรือไม่?
โดยปกติการทำสมาธิจะไม่ทำให้เกิดผลเสียใด ๆ และสามารถฝึกเองได้ไม่ยาก ยกเว้นผู้ที่ไม่สะดวกในการนั่งเป็นเวลานานหรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ อาจทำให้มีความยากลำบากในการฝึกได้ เพราะวิธีฝึกสมาธิด้วยการนั่งสมาธิที่อาจต้องนั่งนาน ๆ ต้องกำหนดลมหายใจเข้าออกลึก ๆ นอกจากนั้น ผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น โรคสมาธิสั้น และโรคจิตเภท อาจไม่สามารถฝึกสมาธิได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การทำสมาธิโดยทั่วไปหรือการทำสมาธิร่วมกับการรักษาโดยแพทย์ มักจะไม่ทำให้เกิดผลด้านลบหรือภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่อย่างไรก็ตาม การทำสมาธิจะไม่เหมาะสมหรือมีความปลอดภัยในภาวะที่มีความรุนแรงหรือเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ดังนั้น หากผู้ป่วยใช้วิธีการทำสมาธิในการบำบัดโรคหรือต้องการใช้การทำสมาธิร่วมกับการรักษา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง