ประโยชน์ของการเขียนไดอารี่ และคำแนะนำสำหรับนักจดมือใหม่

การเขียนไดอารี่เป็นการจดบันทึกความคิด ความรู้สึก และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน โดยอาจเขียนลงในสมุดจดหรือบันทึกลงในคอมพิวเตอร์และแท็บเลตก็ได้ ถือว่ากิจกรรมที่ทำให้เราได้ตกตะกอนความคิด และย้อนกลับมาดูได้ในภายหลัง ซึ่งอาจช่วยให้เราได้สำรวจตัวเองและพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น

การเขียนไดอารี่ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว สามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ บางคนอาจเขียนเรื่องราวทั่ว ๆ ไปและวาดภาพประกอบ บางคนเลือกสรุปความประทับใจจากภาพยนตร์ที่ได้ดู หรือบางคนอาจจดความรู้สึกในแต่ละวัน มาดูกันว่าการเขียนไดอารี่มีประโยชน์อย่างไร และมือใหม่หัดจดควรเริ่มอย่างไรดี 

ประโยชน์ของการเขียนไดอารี่ และคำแนะนำสำหรับนักจดมือใหม่

ประโยชน์ของการเขียนไดอารี่

การเขียนไดอารี่เป็นมากกว่าแค่การบันทึกเรื่องราวในแต่ละวัน และมีประโยชน์ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน เช่น

  1. ช่วยให้เราได้ทบทวนความรู้สึกและค้นพบตัวเอง

การเขียนไดอารี่ช่วยเราได้ทบทวนเหตุการณ์และความรู้สึกในแต่ละวัน ทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น เช่น การรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ความสำเร็จหรือข้อผิดพลาด ความฝันที่ตั้งไว้ ความรู้สึกดีใจหรือไม่สบายใจ เมื่อมองเห็นปัญหาและข้อผิดพลาดของตัวเอง ก็จะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป 

  1. ลดความเครียดและช่วยเสริมสุขภาพจิต

การเขียนไดอารี่เป็นวิธีที่ทำให้เราได้ระบายความรู้สึกไม่สบายใจในแต่ละวันออกมา โดยผลการวิจัยหลายชิ้นพบว่าการเขียนไดอารี่ช่วยปลดปล่อยความรู้สึกไม่ดี ซึ่งช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลในชีวิตประจำวัน

การเขียนไดอารี่จะช่วยปรับสภาวะทางอารมณ์ให้ดีขึ้น ลดอาการของโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) โดยผลการวิจัยหนึ่งพบว่าการจดบันทึกอย่างสม่ำเสมออาจช่วยลดอาการ PTSD ได้ 

ขณะที่ผลการศึกษาอีกชิ้นพบว่าผู้ป่วยโรควิตกกังวลและภาวะทางจิตอื่น ๆ ที่ได้เขียนบันทึกออนไลน์โดยใช้เวลา 15 นาทีต่อวัน เป็นเวลา 3 วันต่อสัปดาห์ และจดบันทึกต่อเนื่องเกิน 12 สัปดาห์ มีอาการซึมเศร้าและสุขภาวะโดยรวมที่ดีขึ้น 

อย่างไรก็ตาม การเขียนไดอารี่หลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงทันทีอาจกระตุ้นให้อาการรุนแรงขึ้น ผู้ป่วย PTSD ควรจดบันทึกเหตุการณ์และความรู้สึกภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ควบคู่กับการบำบัดรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ

  1. เสริมสร้างสุขภาพร่างกาย

การเขียนไดอารี่อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย เช่น เสริมสร้างความจำและการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ลดระดับความดันโลหิต และอาจช่วยลดการกำเริบของโรคต่าง ๆ เช่น โรคหืด และโรคข้ออักเสบ

เคล็ด (ไม่) ลับในการเริ่มเขียนไดอารี่ 

หากคุ้นเคยกับการเขียนไดอารี่และมีแนวทางที่ถนัดอยู่แล้วอาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการเขียน แต่คนที่กำลังจะเริ่มเขียนไดอารี่ แต่ยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไร อาจนำคำแนะนำเหล่านี้ไปปรับใช้กันได้

  • เตรียมอุปกรณ์การเขียน การเขียนไดอารี่ไม่จำเป็นต้องซื้อสมุด ปากกา หรืออุปกรณ์ตกแต่งราคาแพง เพียงแค่มีปากกาหนึ่งด้ามและสมุดเปล่าสักเล่มก็เริ่มเขียนไดอารี่ได้แล้ว หากชอบการเขียนลงในแท็บเลต และพิมพ์ในโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ก็ทำได้เช่นกัน
  • เลือกช่วงเวลาที่สะดวกและทำได้ทุกวันสม่ำเสมอ เพราะการเขียนไดอารี่อย่างสม่ำเสมอจะสร้างวินัยในการจดบันทึกได้ดี โดยแนะนำให้หาเวลาวันละ 20 นาทีในช่วงเช้าหลังตื่นนอนช่วงเที่ยง หรือก่อนเข้านอน แต่คนที่ไม่มีเวลาอาจลองหาเวลาเวลาสั้น ๆ ไม่เกินวันละ 5 นาที ก็เป็นทางเลือกที่ดีในการเริ่มต้นเขียนไดอารี่
  • เลือกรูปแบบการเขียนไดอารี่ตามความชอบ เช่น การเขียนแบบไม่ต้องมีแบบแผน โดยบันทึกเหตุการณ์ที่เจอในแต่ละวัน หรือเขียนตามจุดประสงค์ เช่น เขียนสิ่งดี ๆ เพื่อขอบคุณตัวเอง (Gratitude Journal) เขียนเพื่อจัดตารางชีวิต (Personal Planning Journal) หรือเขียนเพื่อกำหนดเป้าหมายที่ต้องการ (Goal Journaling)
  • คนที่เพิ่งเริ่มเขียนไดอารี่และยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร อาจลองหาแนวทางการเขียน (Journal Prompt) ซึ่งจะแนะนำหัวข้อหรือโจทย์ที่น่าสนใจ ทำให้สานต่อการเขียนได้ง่ายขึ้น เช่น ความทรงจำที่ประทับใจในวัยเด็ก สิ่งที่กลัว หรือลองอธิบายตัวเองผ่านมุมมองของคนรอบข้าง
  • ใส่ความคิดสร้างสรรค์ในการเขียน การเขียนไดอารี่ไม่จำเป็นต้องมีแต่การเล่าเรื่องธรรมดา แต่สามารถวาดรูป ติดรูปที่ชอบ แต่งกลอน หรือตกแต่งเพิ่มเติมให้การเขียนไดอารี่ของเราไม่น่าเบื่อ
  • หลีกเลี่ยงการอ่านไดอารี่ที่เขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่ดี เพราะอาจทำให้รู้สึกเครียดและหดหู่ใจมากขึ้นในบางคน แต่ลองมองหาข้อดีหรือจุดที่สามารถนำไปปรับปรุงแก้ไขในครั้งต่อไปแทน

หัวใจสำคัญของการเขียนไดอารี่คือการเขียนด้วยความรู้สึกสบายใจและไม่กดดันตัวเอง ถ้าไม่สะดวกเขียนไดอารี่ทุกวัน อาจเขียนเฉพาะวันที่มีเวลาว่างหรือหยุดพักสักช่วงแล้วกลับมาเขียนใหม่เมื่อพร้อมได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าเขียนไดอารี่ไม่ช่วยให้หายจากความเครียด หรือรู้สึกแย่กว่าเดิม ควรปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำในการจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสมต่อไป