Niacinamide (ไนอะซินาไมด์) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า นิโคตินาไมด์ (Nicotinamide) เป็นวิตามินบี 3 รูปแบบหนึ่งที่นิยมใช้เป็นสารบำรุงผิว และยังพบในอาหารเสริมสำหรับคนที่ขาดวิตามินบี 3 โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาถึงประโยชน์ของ Niacinamide ในด้านการดูแลผิวพรรณให้เรียบเนียนและชะลอวัย
วิตามินบี 3 หรือไนอะซิน (Niacin) พบได้ในเนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่ว และผักใบเขียว โดยร่างกายจะแปลงไนอะซินที่เหลือจากการดูดซึมไปใช้ให้เป็น Niacinamide แต่การรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 3 อาจไม่เพียงพอสำหรับบางคน จึงต้องรับประทานอาหารเสริมและใช้ครีมบำรุงที่มีส่วนผสมของ Niacinamide เพื่อช่วยฟื้นฟูผิวและรักษาโรคที่เกิดจากการขาดวิตามินบี 3
ประโยชน์ของ Niacinamide
Niacinamide เป็นสารที่นิยมใช้เป็นส่วนประกอบในครีมบำรุงผิว โดยมีประโยชน์ต่อผิวหนังในหลายด้าน ดังนี้
- กระตุ้นกระบวนการสร้างเซราไมด์ (Ceramide) และอิลาสติน (Elastin) ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของผิว โดยเซราไมด์เป็นกรดไขมันที่กั้นไม่ให้ความชุ่มชื้นระเหยออกจากผิว ป้องกันความเสียหายจากปัจจัยภายนอกที่ทำร้ายผิว และชะลอความแก่ของผิวหนัง ส่วนอิลาสติน (Elastin) นั้นเป็นโปรตีนที่ทำให้ผิวยืดหยุ่น ป้องกันการเกิดริ้วรอยและผิวหย่อนคล้อยก่อนวัย
- ช่วยปรับสีผิวให้สม่ำเสมอและลดเลือนรอยแดงให้จางลง ไม่ว่าจะเป็นจากสิว โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) และโรคผิวหนังอื่น ๆ ที่เกิดจากการอักเสบ เนื่องจาก Niacinamide มีคุณสมบัติลดการอักเสบของผิว โดยมีงานวิจัยบางส่วนระบุว่า การใช้ Niacinamide ความเข้มข้น 5% ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ อาจช่วยรักษาจุดด่างดำบนใบหน้าได้
- ช่วยให้ผิวเรียบเนียน ชุ่มชื้น และช่วยกระชับรูขุมขนให้เล็กลง
- ปรับสมดุลการผลิตน้ำมันของผิว เนื่องจากผิวที่มีความชุ่มชื้นเพียงพอจะไม่ผลิตน้ำมันออกมามากเกินไป ซึ่งอาจช่วยลดโอกาสในการเกิดสิวได้
- ป้องกันผิวถูกทำลายจากปัจจัยภายนอก โดยอาจช่วยลดริ้วรอยและชะลอความเสื่อมของผิวจากอนุมูลอิสระในแสงแดดและมลพิษต่าง ๆ จากสภาพแวดล้อมรอบตัว
ประโยชน์ของ Niacinamide ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะมีการศึกษาถึงประสิทธิภาพของ Niacinamide ต่อการป้องกันและรักษาโรคผิวหนังอื่น ๆ อีกด้วย เช่น การสมานแผล โรคผิวหนังมีสะเก็ดแผลเรื้อรัง และโรคสะเก็ดเงิน แต่ยังต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต
นอกจากนี้ Niacinamide อาจพบในอาหารเสริมวิตามินบี 3 หรือวิตามินบีรวม ซึ่งการรับประทานอาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของวิตามินบี 3 จะช่วยป้องกันและรักษาการขาดวิตามินบี 3 ได้ เช่น โรคเพลแลกรา (Pellagra) ที่เกิดจากการขาดวิตามินบี 3 ทำให้เกิดอาการท้องเสีย อ่อนเพลีย มีอาการสับสน และผิวหนังแตกเป็นแผลโดยเฉพาะใบหน้า ลำคอ มือทั้งสองข้าง และบริเวณที่ถูกแสงแดด
Niacinamide ใช้อย่างไรให้ปลอดภัยต่อร่างกาย
Niacinamide เป็นส่วนผสมที่พบในผลิตภัณฑ์ทาผิวและอาหารเสริม บางผลิตภัณฑ์อาจระบุชื่อ “วิตามินบี 3” “ไนอะซิน” หรือ “นิโคทินาไมด์” บนฉลากสินค้า ซึ่งผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทมีข้อบ่งใช้ดังนี้
ครีมบำรุงผิว
Niacinamide ในรูปแบบครีมบำรุงมีหลายประเภท เช่น โทนเนอร์ เซรั่ม และมอยส์เจอร์ไรเซอร์ ซึ่งก่อนการใช้ครีมบำรุงที่มีส่วนผสมของ Niacinamide ควรล้างหน้าให้สะอาดก่อน โดยสามารถใช้ควบคู่กับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic Acid) ซึ่งช่วยดูดซึมสารบำรุงจากครีมทาผิวเข้าสู่ผิวหนัง และก่อนออกจากบ้านควรทาครีมกันแดดเป็นลำดับสุดท้าย เพื่อประสิทธิภาพการปกป้องและบำรุงผิว
ครีมบำรุงและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของ Niacinamide ที่วางขายทั่วไปจะมีปริมาณความเข้มข้นไม่เกิน 5% จึงสามารถใช้ได้โดยมักไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว แต่ผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายควรเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี Niacinamide ในระดับความเข้มข้นต่ำก่อน
หากไม่พบอาการระคายเคืองสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นสูงขึ้นได้ และควรทดสอบการแพ้โดยทาครีมเล็กน้อยที่บริเวณหลังหูหรือข้อพับแขน และสังเกตอาการหลังจากเวลาผ่านไป 24-48 ชั่วโมง หากมีผื่นแดง แสบ และคัน ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
อาหารเสริม
ข้อมูลปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563 (DRIs) ระบุว่าปริมาณวิตามินบี 3 ที่แนะนำให้บริโภคในแต่ละวันคือ 6–19 มิลลิกรัม โดยจะแตกต่างกันไปตามอายุ เพศ และปัจจัยอื่น ๆ
ส่วนใหญ่แล้วเรามักได้รับวิตามินบี 3 อย่างเพียงพอจากการรับประทานอาหาร เช่น ไข่ ปลา เนื้อสัตว์ต่าง ๆ เครื่องในสัตว์ และถั่วเมล็ดแห้ง แต่ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่างอาจต้องรับประทานอาหารเสริมที่มี Niacinamide เพิ่มเติม
แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและสั่งจ่ายวิตามินเสริมให้โดยพิจารณาปริมาณการรับประทานตามอาการของแต่ละคน เช่น โรคเพลแลกราที่เกิดจากการขาดวิตามินบี 3 ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้รับประทานปริมาณอย่างน้อย 300 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานและรับประทานต่อเนื่องประมาณ 3–4 สัปดาห์
โดยอาจให้รับประทาน Niacinamide แทนไนอะซินที่อาจทำให้เกิดอาการตัวร้อนแดง (Flushing) ในบางคน ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือด ทำให้เกิดผลข้างเคียงบริเวณใบหน้าหรือส่วนบนของร่างกาย
อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน Niacinamide เสมอ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์และกำลังให้นมบุตร และคนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคตับ เกาต์ และปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดี เป็นต้น
ผลข้างเคียงจาก Niacinamide
การใช้ครีมทาผิวที่มีส่วนผสมของ Niacinamide มักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง แต่บางคนอาจเกิดอาการระคายเคืองหลังใช้ครีมบำรุง เช่น ผิวแดง แสบร้อน และคัน อีกทั้งการใช้ Niacinamide ร่วมกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเรตินอล (Retinol) อาจกระตุ้นให้เกิดอาการระคายเคืองผิวได้ง่าย
การรับประทานอาหารเสริมที่มี Niacinamide ตามปริมาณที่กำหนดบนฉลากหรือตามที่แพทย์แนะนำมักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง แต่บางกรณีอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดท้อง ท้องอืด เวียนศีรษะ มีผื่นขึ้นและคัน จึงไม่ควรรับประทาน Niacinamide เกินปริมาณที่กำหนด เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียง
โดยผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไปสามารถรับประทานวิตามินบี 3 ที่สังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ไม่เกินวันละ 35 มิลลิกรัม
การใช้ Niacinamide เพื่อบำรุงและฟื้นฟูผิวสามารถใช้ได้ทุกวันโดยมักไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว และควรใช้ต่อเนื่องอย่างน้อย 2–3 สัปดาห์จึงจะเริ่มสังเกตเห็นผลลัพธ์ ส่วนการรับประทานอาหารเสริมที่มี Niacinamide ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจและประเมินความจำเป็นในการรับประทานอาหารเสริม โดยรับประทานตามปริมาณและระยะเวลาที่กำหนด