คนส่วนใหญ่มักรู้จักปลาปักเป้า (Puffer Fish, Fugu) ในรูปลักษณ์ของปลาทะเลที่พองตัวได้และมีหนาม แต่ความจริงแล้ว ปลาปักเป้ามีหลากหลายชนิดและมีหน้าตาที่แตกต่างกัน นอกจากการพองตัวที่โดดเด่นแล้ว ปลาชนิดนี้ยังขึ้นชื่อเรื่องพิษที่เป็นอันตราย ซึ่งพิษของปลาปักเป้าเพียง 1–2 มิลลิกรัมก็อาจทำให้เสียชีวิตได้
ปลาปักเป้าพบได้ในน้ำเค็มและน้ำจืด ทั้งแบบมีพิษและไม่มีพิษ ในประเทศไทยพบปลาปักเป้าที่มีพิษราว 20 ชนิด แม้ว่าจะไม่บ่อย แต่หลายคนอาจเคยได้ยินข่าวคนเสียชีวิตจากการรับประทานปลาปักเป้ากันมาบ้าง ส่วนใหญ่มักเป็นชาวประมง และบางพื้นที่มีการนำปลาปักเป้ามาวางขาย โดยอ้างว่าเป็นปลาชนิดอื่นแทนจึงอาจเสี่ยงต่อการได้รับพิษได้ เรื่องนี้จึงอาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวเท่าไร
พิษจากปลาปักเป้า
สารพิษที่เป็นสาเหตุของการตายจากการบริโภคเนื้อปลาปักเป้ามีชื่อว่า เตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) ซึ่งอยู่ในทุกส่วนของปลาปักเป้า แต่พบมากบริเวณรังไข่ หนัง และลำไส้ของปลา โดยปริมาณสารพิษจะมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์และวางไข่ สารเตโตรโดท็อกซินเป็นสารพิษที่ทนทานต่อความร้อน การปรุงสุกด้วยวิธีการต่าง ๆ จึงไม่สามารถกำจัดพิษชนิดนี้ได้
เมื่อรับประทานปลาปักเป้าและได้รับพิษชนิดนี้แล้ว อาการผิดปกติอาจขึ้นภายใน 10–30 นาที บางรายอาจใช้เวลาเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันจึงจะเห็นอาการ โดยพิษเตโตรโดท็อกซินจะเข้าไปรบกวนการทำงานของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท ส่งผลให้เกิดอาการต่อไปนี้
- ระยะแรก พิษจะทำให้เกิดอาการชาหรือเป็นเหน็บบริเวณรอบปาก ลำคอ ใบหน้า และปลายนิ้ว น้ำลายไหล เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง
- ระยะที่สอง อาการในระยะแรกจะรุนแรงขึ้น และเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หนังตาตก เคลื่อนไหวไม่ได้ และเสียการทรงตัวตามมา
- ระยะที่สาม กล้ามเนื้อจะเริ่มกระตุกและไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อได้ ทำให้พูดไม่ชัดหรือพูดไม่ได้
- ระยะที่สี่ ร่างกายจะเข้าสู่ภาวะอัมพาต สูญเสียการควบคุมร่างกายทั้งหมด ผิวหนังเขียวคล้ำ หมดสติ ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว หัวใจล้มเหลว ขาดอากาศหายใจ และเสียชีวิต
การปฐมพยาบาลเมื่อได้รับพิษจากปลาปักเป้า
เมื่อพบอาการผิดปกติหลังจากรับประทานเนื้อปลา ควรพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันทีและแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าอาการอาจเกิดจากการรับประทานปลาปักเป้า หากผู้ประสบเหตุยังรู้สึกตัวและเพิ่งรับประทานเข้าไปไม่เกิน 3 ชั่วโมง ควรกระตุ้นหรือล้วงคอให้อาเจียนอาหารที่รับประทานเข้าไปออกมาเพื่อลดปริมาณการดูดซึมสารพิษ เมื่อผู้ประสบเหตุอาเจียนออกมา ควรพลิกตัวในท่าตะแคงเพื่อป้องกันการสำลักอาเจียน
วิธีลดความเสี่ยงจากการบริโภคปลาปักเป้า
เพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับพิษ ควรสังเกตและทำตามข้อแนะนำต่อไปนี้
1. เลือกซื้อปลาเป็นตัวที่พอจะทราบลักษณะที่ถูกต้องของปลาชนิดนั้น เพื่อลดความเสี่ยงที่จะถูกหลอกขายเนื้อปลาปักเป้าที่แล่แล้ว หรือปลาชนิดอื่นที่อาจมีพิษเช่นเดียวกัน
2. ระมัดระวังปลาไก่ เพราะพ่อค้าแม่ค้าบางรายอาจหลอกลวงผู้ซื้อด้วยการนำเนื้อปลาปักเป้ามาแล่ขาย และเรียกเป็นปลาไก่แทน โดยอาจอ้างว่าเป็นปลาที่ไม่มีกลิ่นคาวและเนื้อสวย จึงควรหลีกเลี่ยงเมื่อพบเห็นการขายเนื้อปลาในลักษณะนี้
3. การปรุงสุก ทั้งการทอด ต้ม นึ่ง หรือย่าง ไม่สามารถกำจัดสารเตโตรโดท็อกซินในปลาปักเป้าได้
4. ปลาปักเป้าในน้ำจืดบางชนิดมีพิษเช่นเดียวกับปลาปักเป้าทะเล
5. การจำหน่ายปลาปักเป้าในประเทศไทยเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
6. ฟุกุ (Fugu) เป็นภาษาญี่ปุ่นที่ใช้เรียกปลาปักเป้า ซึ่งญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากการบริโภคปลาชนิดนี้ แต่ปลาชนิดนี้ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นและจัดว่าเป็นสินค้าควบคุมพิเศษที่ต้องมีการตรวจสอบและการรับรองมาตรฐาน จึงควรเลือกร้านที่ได้รับการรับรองและน่าเชื่อถือ
7. สารเตโตรโดท็อกซินไม่ได้พบแค่ในตระกูลปลาปักเป้าเท่านั้น แต่สามารถพบได้ในสัตว์น้ำชนิดอื่น เช่น ปลาคางคก แมงดาทะเล ไข่แมงดาทะเล และปลาอื่นอีกหลายชนิด
แม้ว่าการเสียชีวิตจากการได้รับพิษเตโตรโดท็อกซินผ่านการรับประทานปลาปักเป้าจะลดลงและพบเห็นได้น้อย แต่ควรระมัดระวังเมื่อไปท่องเที่ยวในพื้นที่อื่น โดยปลาปักเป้าเป็นปลาที่พบได้ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเดินทางไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวก็อาจมีความเสี่ยงอยู่บ้าง ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางอย่างที่ไม่คุ้นเคยหรือสอบถามก่อนทุกครั้ง